เทรนด์ “Robotics” ปี 2023 รู้ไว้.. ปรับใช้ ยกระดับธุรกิจคุณได้!

Robotics

เผลอแปปเดียวก็จะเปลี่ยนปีปฏิทินกันอีกแล้ว นี่ก็เข้าสู่หน้าหนาว แต่ก็เป็นหนาวแบบประเทศไทย ที่ต้องถามตัวเองซ้ำ ๆ ว่า “นี่หน้าหนาวแล้วแน่นะวิ…” และเช่นเคย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใด ธุรกิจใดก็ตามแต่ การเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น พัฒนาขึ้น ล้วนเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ จริง ๆ ต้องบอกว่าจำเป็นเลยล่ะหากคุณอยากจะยกระดับธุรกิจ เรื่องของ “เทรนด์” เป็นสิ่งที่ต้องเกาะติดอยู่เสมอ และขาดไมไ่ด้สำหรับชาวอุตสาหกรรมคือการอัพเดทความรู้เกี่ยวกับ AI หรือ Robotics

วันนี้โรงกลึงพีวัฒน์ขอแชร์ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับคาดการณ์ล่าสุดของแวดวงหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมไปแล้ว และด้วยความต้องการที่มากขึ้นของระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม (Industrial Automation) การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digitalization) ตลอดจนการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อการยึดโยงอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ให้กลายเป็นอีกหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญสู่การขับเคลื่อนธุรกิจแบบยั่งยืน ซึ่งก็เป็นแนวโน้มที่ได้ประเมินเอาไว้ก่อนหน้านี้ และการคาดการณ์ที่ว่านี้จะเป็นศึกษาเพื่อต่อยอด

#เรื่องที่เกี่ยวข้องกัน

เกาะติดเทรนด์ Robotics วิเคราะห์จากแหล่งข้อมูลสุดเดือด!

จากความต้องการดังกล่าว จึงเกิดเป็นการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อคาดการณ์เทรนด์ในปี 2023 ของวิทยาการหุ่นยนต์ โดยเป็นการวิเคราะห์จากข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากธุรกิจสตาร์ทอัพกว่า 2,500,000 แห่งทั่วโลก ซึ่งได้คลอดออกมาเป็น 8 อันดับแรก ดังที่ทุกคนจะได้อ่านต่อไปด้านล่างนี้!

1. Mobile autonomous robots

หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (Mobile autonomous robots) เข้ามาแทนที่ในส่วนของการผลิต เหมาะอย่างยิ่งสำหรับงานที่มีความเสี่ยงต่อบุคลากร เช่น สารเคมีที่เป็นพิษ บริเวณที่มีพื้นที่จำกัด และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมาก 

การใช้หุ่นยนต์ที่มีเซนเซอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และคอมพิวเตอร์วิชั่น ในการทำความเข้าใจาสภาพแวดล้อมได้ทันทีและทำงานได้ด้วยตัวเอง หรือจะเป็นเรื่องการตรวจสอบสต็อคและการจัดการวัสดุแบบอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น AMR ของคลังสินค้า ที่ใช้เป็นเครื่องสแกน ป้องกันเรื่องของขาดสต็อค แถมยังเพิ่มความเร็วในกระบวนการ ตลอดจนอำนวยความสะดวกในส่วนอื่น ๆ ของบุคลากรได้

2. Robots with Intelligence

หุ่นยนต์ที่มีความฉลาดสูง (Robots with Intelligence) นั้นมีความสามารถในการใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์และเพิ่มประสิทธิภาพงานได้ด้วยการผสานเข้ากับ AI โดยชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่มาแบบเรียลไทม์นี้ส่งผลให้หุ่นยนต์นั้นมีความแม่นยำและทรงประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นเรื่องการรับรู้สภาพแวดล้อมและแยกวัตถุก็จะทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยให้การนำทางทำได้อย่างอิสระอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

Robotics
Image by usertrmk on Freepik

3. Cobots

เรื่องของ โคบอทส์ (Cobots) นั้นเราเคยนำเสนอเปรียบเทียบกับ Robots แบบเต็ม ๆ ไปแล้ว โดยสิ่งนี้จะตรงข้ามกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม เป็นหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน มีเซ็นเซอร์และอัลกอริธึมล้ำสมัย รับประกันพฤติกรรมที่ปลอดภัยเมื่อใช้ร่วมกับมนุษย์ในกระบวนการประกอบแบบอัตโนมัติได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็น การเชื่อมชิ้นส่วนและการเจาะรูด้วยสกรู ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของเครื่องมือปลายแขน (EOAT) กล่าวคือ หุ่นยนต์เหล่านี้ช่วยในเรื่องของการยกวัตถุอันตรายแทนมนุษย์ได้ เช่น โลหะหนัก โพลีเมอร์ และวัสดุอื่น ๆ ที่มีน้ำหนักมาก

4. Robotics as a Service

ชื่อนี่อาจจะคุ้นหูคุ้นตากันมากหน่อย เพราะเป็นเทรนด์ Robotics ที่ได้รับการจับตาและมีการพัฒนาต่อเนื่องจากปี 2022 ซึ่งเราก็เคยพูดถึงไปแล้ว โดยการพัฒนาและบำรุงรักษาหุ่นยนต์เป็นขั้นตอนที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แถมยังใช้เวลานานอีกต่างหาก ในข้อจำกัดเหล่านี้ ทำให้องค์กรจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กยังไม่สามารถเข้าถึงการใช้หุ่นยนต์ได้ ทำให้บริการนี้ยังคงน่าสนใจสำหรับผู้เป็นเจ้าของกิจการสำหรับสร้างรายได้ ส่วนผู้เช่าที่สนใจทดลองใช้บริการของหุ่นยนต์ก็ไม่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อเป็นเจ้าของนั่นเอง

#เรื่องที่เกี่ยวข้องกัน

5. Cyber Security Robotics

หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security Robotics) เป็นวิทยาการที่มีเป้าหมายหลักสำหรับป้องกันการโจมทีทางโลกไซเบอร์ เนื่องจากการผสานรวมของ IoT และความต้องการการเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การปกป้องโซลูชั่นหุ่นยนต์จากการเข้าถึงอย่างผิดกฏหมายก็เป็นสิ่งที่จำเป็น โดยครอบคลุมเกือบทุกกระบวนการของอุตสาหกรรม ไมว่าจะเป็น การป้องกัน การผลิต การดูแล ตลอดจนสอดส่องพื้นที่ของโรงงานในการรักษาความปลอดภัย

Robotics
Image by upklyak on Freepik

6. Human-like robots

หุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ หรือ หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ (Humanoid) นั้นคาดการณ์ว่าจะถูกใช้งานมากขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ได้รับความนิยมต่อเนื่องจากโรคระบาดที่ผ่านมา เอาที่แบบถูกหยิบมาใช้ชัดเจนเลย เช่น การทำความสะอาดแบบไร้สัมผัส และการส่งมอบต่าง ๆ ในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังใช้ในการตรวจสอบโรงไฟฟ้า การบำรุงรักษา และการกู้คืนจากภัยพิบัติ ช่วยชีวิตบุคลากรจากสภาวะที่เป็นอันตราย โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นการทำงานแบบอัตโนมัติ สามารถลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตได้อีกด้วย

7. Automated Assisted Vehicles

ยานพาหนะยุคใหม่ที่จะเข้ามาช่วยเป็นแม่แรงในกระบวนการขนส่ง โดยชื่อของสิ่งนี้เรียกว่า AGV เป็นยานพาหนะนำทางด้วยตนเอง สามารถใช้ได้ทั้งในคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และโรงงานผลิต ซึ่งการเคลื่อนไหวของเจ้าสิ่งนี้จะถูกควบคุมโดยการผสมผสานระหว่างซอฟต์แวร์และระบบนำทางแบบเซ็นเซอร์ที่กำหนดเส้นทางเอาไว้ล่วงหน้านั่นเอง

8. Drones

ตอนนี้ตลาดของโดรนนั้นไปไกลมากแล้ว จากการพัฒนาด้วย Edge Computing, HPC และการเชื่อมต่อสำหรับการขนส่ง มีการปรับตามประสบการณ์ของผู้ใช้งานจริง รวมถึงการเพิ่มลูกเล่นและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้ความสามารถของโดรนนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นแบบก้าวกระโดด ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมการเกษตรที่ใช้โดรนในการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืช พ่นยาฆ่าแมลง ณ สถานที่เฉพาะ ส่วนเรื่องของการติดตาม โดรนสามารถตดตามพืชผลได้แม่นยำ หรือจะเป็นการจับความเคลื่อนไหวของสัตว์เลี้ยงก็ทำได้เช่นกัน

Robotics
Image by rawpixel.com on Freepik

สัมผัสประสบการณ์โลกยุคใหม่ เลือกใช้ให้ตรงกับธุรกิจ

เรื่องของ Internet of Things (IoT) ที่ตอนนี้นั้นแพร่หลายอย่างมาก เรียกว่าเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญให้วิทยาการหุ่นยนต์รุดหน้าอย่างรวดเร็ว โดยผู้ที่มีความสามารถทางธุรกิจรวมถึงผู้ที่ต้องการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทุกแขนงสู่โลกยุคใหม่ หากเลือกใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมจะได้รับประโยชน์มากขึ้นเรื่อย ๆ จากความเป็นอิสระและคุณภาพชีวิตในแง่ส่วนตัว 

ส่วนแง่ธุรกิจก็อย่างที่หลายคนทราบกัน ซึ่งคุณเองก็สามารถประเมินถึงอานุภาพของหุ่นยนต์ได้ผ่านเนื้อหาที่เรานำมาแบ่งปันกันในวันนี้ 

หากคุณอยากก้าวให้ทันหรือเร็วกว่าคนอื่น บอกเลยว่านี่เป็นเที่ยวบินสู่เส้นทางยุคใหม่ของอุตสาหกรรมที่เราไม่อยากให้คุณพลาดตกไฟลท์ที่สุดแล้ว!

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลเนื้อหาดี ๆ จากบทความเหล่านี้ :

https://emag.directindustry.com/2022/11/02/automation-trends-artificial-intelligence-cobots-agv-mobile-robots-predictive-maintenance/

https://www.automate.org/webinars/2023-industrial-automation-trends

https://www.automation.com/en-us/articles/august-2022/top-10-intelligent-automation-trends-look-2023

https://www.analyticsinsight.net/top-10-robotics-trends-and-predictions-to-lookout-for-in-2023/

Cover Image : Image by fullvector on Freepik

ส่องเทรนด์ CNC Machining ที่น่าจับตามองปี 2022

เครื่อง cnc

เหมือนจะห่างหายกันไปพอสมควรสำหรับเรื่องราวของ CNC Machining เจ้าเครื่อง CNC จักรกลที่เป็นคีย์แมนแห่งอุตสาหรกรรมการผลิตในหลายแขนง ซึ่งต้นปีแบบนี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่ควรค่าแก่การอัพเดตเทรนด์ต่าง ๆ ที่ “กำลังจะ” หรือดำเนินอยู่ในกาลปัจจุบัน และแน่นอนเลยว่าหากมีการคาดการณ์ที่ดี จะส่งผลต่ออนาคตของอุตสาหกรรมได้ไม่มากก็น้อย

อย่างที่บอกไปช่วงต้น การก้าวเข้าสู่เดือน 3 ของปีปฏิทิน ถือว่ามันยังเป็นอะไรที่ใหม่อยู่สำหรับปี 2022 คงเป็นเรื่องดีไม่ใช่น้อยหากเราได้รู้เกี่ยวกับเทรนด์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป โดยเฉพาะ “ผู้ผลิต” การจับตาดูโลกของเครื่อง CNC เพื่อเตรียมพร้อมเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการพัฒนาที่สำคัญ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้

เครื่อง cnc

ยกระดับอุตสาหกรรมด้วย 4 เทรนด์ CNC Machining ปี 2022 

จั่วหัวกันแบบ “เล่นใหญ่” เอาไว้ก่อน ส่วนเทรนด์ที่เราจะนำมาฝากผ่านเนื้อหาด้านล่างนี้จะช่วยยกระดับได้แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการเลือกปรับใช้ให้ตรงกับอุตสาหกรรมของคุณ สำหรับโลกธุรกิจนั้นนอกจากจะต้องมีจุดยืนที่แข็งแกร่งแล้ว การปรับตัวให้ทันตามเทรนด์โลกเป็นสิ่งที่คุณเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเรารับรองเลยว่า 4 เทรนด์ เครื่อง CNC ที่คุณจะได้ยลต่อไปนี้ จะช่วยเสริมสร้างมุมมองที่กว้างขึ้นสำหรับปี 2022 แน่นอน!

1. การผสมผสาน CNC Machining เข้ากับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

จะกล่าวว่าเป็นความแตกต่างที่ลงตัวได้หรือเปล่า? เนื่องด้วยคุณสมบัติที่แตกต่างกันของ “เครื่องจักรกล CNC” กับ “เครื่องพิมพ์ 3 มิติ” นั้นสวนทางกันเป็นอย่างมาก อย่างแรกใช้เพื่อตัดชิ้นส่วนออก ส่วนอย่างหลักนั้นเป็นการเสริมสร้างส่วนที่ต้องการให้เป็นรูปทรงมากขึ้น แต่สำหรับผู้ผลิตแล้ว “เราไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง”

แยกเฉพาะเรื่องของการขึ้นแบบ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ นั้นโดดเด่นและตรงจุดกว่าในเรื่องนี้ แต่เมื่อพูดถึงเรื่องของความแม่นยำ เครื่องจักรกล CNC นั้นทำได้ละเอียดยิบในระดับ 0.025 มม. ขณะที่เครื่องพิมพ์ 3 มิติทั่วไปอยู่ที่ 0.1 มม. เท่านั้น

ปี 2022 มีหลายโรงงานริ่เริ่มนำการ “ผลิตแบบไฮบริด” มาใช้ ซึ่งการที่พูดถึง CNC นั้นหมายถึงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการกัด การกลึง การเผาหล่อด้วยเลเซอร์โลหะโดยตรงหรือกระบวนการเติมแต่งอื่น ๆ โดยอาจมีการประเมินก่อนเริ่มโครงการ มองหาจุดที่สามารถใช้ CNC Maching กับ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ดำเนินการร่วมกัน เช่น ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ในการขึ้นแบบ พอถึงในขั้นตอนของการสร้างผลิตภัณฑ์ จะเป็นการจัดการของ CNC Machining ล้วน ๆ

เครื่อง cnc

2. Digital Twins สำหรับเครื่องจักรกล CNC โดยเฉพาะ

หนึ่งใน IoT (Internet of Things) ที่จะเข้ามายกระดับการผลิตให้มีคุณภาพมากกว่าเดิม จะดีแค่ไหน หากคุณสามารถสร้างแบบจำลองการผลิตที่ทรงประสิทธิภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ของคุณก่อนดำเนินการด้วยแนวคิดนี้

ผู้คนในภาคอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยเริ่มใช้ Digital Twins เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเครื่องจักร ไปจนถึงกระบวนการต่าง ๆ เรียกได้ว่าการใช้เทคโนโลยีนี้นั้นเสมือนตัวแทนมากกว่าจะเป็นแค่แบบจำลองโดยทั่วไป

ให้เห็นภาพชัดเจนกว่าเดิม การจำลองมักเป็นการแสดงกระบวนการอย่างเดียว แต่ดิจิทัลทวินส์สามารถปรับขนาดได้ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการที่ซับซ้อนหลายอย่างพร้อมกันได้อีกด้วย

หนึ่งในเทรนด์ CNC ที่น่าจับตามองสุด ๆ ในปีนี้ก็คือการนำดิจิทอลทวินส์มาใช้ในระหว่างขั้นตอนการตั้งค่าเพื่อหลีกเลี่ยง “เซอร์ไพรส์” อันไม่พึงประสงค์ การมีผลิตภัณฑ์อยู่บนคลาวด์จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์เชื่อมโยงการเขียนโปรแกรม CNC กับเครื่องมือและตัวยึดที่ใช้กับแต่ละเครื่องได้เลย

3. เพิ่มการลงทุนในระบบอัตโนมัติ

เป็นสิ่งที่คาดว่าน่าจะเติบโตมากในปี 2022 จากที่ได้เริ่มรับความสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในบทความต้นทางได้ยกตัวอย่างถึงบริษัทหนึ่ง ได้เสนอเซลล์หุ่นยนต์ที่ควบคุมด้วยกล้องซึ่งใช้ในการโหลดหรือยกเลิกการโหลดเครื่อง CNC แบบอัตโนมัติ ลูกค้าสามารถติดตั้งสเตชั่นเพิ่มเติมเพื่อจัดการกับการเลี้ยว การวัด และการทำเครื่องหมายได้ทันที

อีกกรณีหนึ่ง เป็นการร่วมกันระหว่าง Mitsubishi และ AIST ส่งผลให้เกิดโซลูชันเครื่อง CNC ที่รวมระบบอัตโนมัติและ AI เข้าด้วยกัน โดยเป็นระบบแก้ไขข้อผิดพลาดที่ใช้ AI ในการประเมินความคลาดเคลื่อนระหว่างตำแหน่งปัจจุบันของเครื่อง CNC กับค่าคำสั่งของเครื่อง

การทดสอบนี้แสดงให้เห็นว่าวิธีการดังกล่าวเพิ่มความแม่นยำขึ้นถึง 51% เมื่อเทียบกับตัวเลือกที่ไม่ใช่ AI ที่เจ๋งกว่านั้นก็คือเทคโนโลยีนี้สามารถใช้แก้ไขได้แม้กระทั่งในระหว่างการตัดเฉือนแบบไดนามิก ซึ่งขั้นตอนนี้จะช่วยประหยัดเวลาและยังรักษาคุณภาพให้อยู่ในระดับสูงอีกต่างหาก!

เครื่อง cnc

4. การบำรุงรักษาเชิงป้องกันและคาดการณ์เพิ่มเติม

น่าจะคุ้นหูคุ้นตากันไม่น้อยสำหรับเทรนด์นี้ เพราะเป็นกระแสที่โรงกลึงพีวัฒน์ติดตาม และบอกเล่าผ่านบทความสาระอุตสาหกรรมมาตลอด ซึ่งเทรนด์นี้ไม่ใช่แค่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต แต่เรื่องยกระดับการบำรุงรักษาเชิงป้องกันและคาดการณ์เพิ่มเติม จะกลายเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต

การบำรุงรักษาเชิงปฏิกิริยา การชะลอค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเชิงป้องกันอาจทำให้เสียเวลาในการทำงานและทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นสิ้นเปลือง ในทางการกลับกัน การยกระดับมาตรการนี้จะช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้สูงสุด

AI (ปัญญาประดิษฐ์) มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับกระบวรการนี้ เนื่องด้วยการคาดการณ์จากข้อมูลที่แม่นยำนั้นส่งผลให้การกำหนดวันเวลาการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน เพื่อลดโอกาสของความเสียหายได้ดีที่สุด โดยเฉพาะการแจ้งเตือนผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับปัญหาก่อนที่มันจะเกิดขึ้นสำหรับความเสียหายที่ไม่ทันคาดคิด

เครื่อง cnc

นอกจาก 4 เทรนด์ที่น่าจับตามองที่เราได้ร่ายยาวไปทั้งหมดแล้ว การเรียนรู้ CNC Machining สำหรับตัดสินใจเลือกตัวเลือกที่ยืดหยุ่น เป็นสิ่งที่หลายองค์กรเริ่มมุ่งเน้นให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องได้อบรบสำหรับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นในปี 2022 ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนถึงความสำคัญและความนิยมของเครื่อง CNC เป็นอย่างมาก การเรียนรู้เชิงลึกไม่ได้อยู่ที่ช่างเครื่อง CNC อย่างเดียวต่อไป การฝึกอบรมทักษะการผลิตอย่างต่อเนื่องของผู้ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนี้ตลอดกระบวนการ นอกจากเรื่องความยืดหยุ่นสำหรับเลือกใช้ออปชั่นที่เหมาะสมต่อเครื่องจักรแบบต่าง ๆ แล้ว เรื่องของบุคลากรนั้นก็จะถูกพัฒนาไปด้วยการ ส่งผลให้การอุตสาหกรรมการผลิตสามารถดำเนินการได้แบบไร้รอยต่อ…

ขอขอบคุณข้อมูลสาระดี ๆ จาก americanmachinist.com มา ณ ที่นี้

เทรนด์โลจิสติกส์กับการขนส่งอุตสาหกรรมในปี 2022 ที่น่าสนใจ

โลจิสติกส์

ความเสียหายต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ซึ่งอันที่จริงแล้วปี 2021 ณ ปัจจุบันที่กำลังจะผ่านพ้นไป เริ่มมีการวางโครงสร้าง มองหากลยุทธ์ใหม่ ๆ มาปรับใช้กับวงการ “โลจิสติกส์” อันเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญต่ออุตสาหกรรมแทบจะทุกประเภท หลาย ๆ โรงงานอุตสาหกรรมทั่วโลก ทั่วประเทศ รวมถึงโรงกลึงพีวัฒน์ก็ต่างเจอปัญหาจากผลกระทบเรื่องการขนส่งที่มีต้นเหตุจากโรคระบาดไม่น้อยเช่นกัน

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้วเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจากสิ่งที่เกิดขึ้นเสียมากกว่า แต่หลังจากที่ทั่วโลกได้ประเมินแล้วว่าต้องอยู่กับสถานการณ์แบบนี้ไปอีกพักใหญ่ การมองถึงเรื่องอนาคตโดยนำเอานวัตกรรมต่าง ๆ มาผูกกับระบบการขนส่งจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ กลายเป็นหัวข้อที่เราจะพูดคุยกันในวันนี้

โลจิสติกส์ กับ Covid-19

อุตสาหกรรมโลจิสติกส์เคยมีมูลค่าสูงถึง 7,641.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2017 แต่พอเจอกับพิษ Covid-19 เข้าไปทำเอาลดลงมาเหลือ 5,200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2019 ส่วนต่างขนาดนี้ต่อให้เราไม่ได้เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง เห็นตัวเลขที่หายไปยังรู้สึกน่าตกใจไม่น้อยเลยใช่มั้ยล่ะ..

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่เริ่มคลึ่คลายลงในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ข้อมูลล่าสุดที่เราได้สืบค้นมา ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์กำลังจะกลับมาเข้ารูปเข้ารอย อาจเติบโตไปถึงตัวเลขระดับ 12,975.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2027 ได้ไม่ยาก

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามายกระดับอุตสาหกรรมนี้ และในปี 2022 ที่กำลังจะถึง เราได้นำแนวโน้มที่จะเข้ามาเพิ่มศักยภาพให้กับวงการโลจิสติกส์ โดยเนื้อหาทั้งหมดอยู่ด้านล่างแล้ว ตามไปเสพย์กันได้เลย

โลจิสติกส์

เทรนด์ โลจิสติกส์ ที่น่าสนใจในปี 2022

ต้องบอกกันแบบนี้ก่อนว่าในช่วงที่หลาย ๆ อุตสาหกรรมเจอกับผลกระทบอย่างหนักหน่วง แต่เรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นรุดหน้าอยู่เสมอ โดยเนื้อหาต่อไปนี้จะเทรนด์ที่น่าสใจเกี่ยวกับการยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ที่อาจจะเข้ามามีอิทธิพลในปี 2022 รวมถึงปีต่อ ๆ ไป

คลาวด์ คอมพิวติ้ง

แม้ว่าอาจมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลในช่วงแรกที่มีการเริ่มใช้ แต่การนำระบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง มาใช้นั้นถือเป็นโอกาสใหญ่ของบริษัทที่จะก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดเรื่องโลจิสติกส์จากโมเดล SaaS (Software-as-a-Service) ที่จะช่วยให้เข้าถึงผลกำไรที่สูงขึ้นเกินกว่าผลตอบแทนทั่วไปจากความสามารถขององค์กร

คลาวด์จะกลายเป็นข้อกำหนดพื้นฐานสำหรับงานบริการโลจิสติกส์ที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลางในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ข้อดีมีมากมาย ทั้งช่วยลดค่ายใช้จ่ายด้านไอทีสำหรับการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานและการตั้งค่าโซลูชั่น ช่วยให้ผู้บริการกำหนดเป้าหมายธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องกาาชำระค่าเทคโนโลยีตามการสมัครรับใช้ข้อมูล โดยเหล่านี้มีบริษัทซัพพลายเชนร่วมเป็น Third Party คอยตอบสนอง แก้ปัญหา เชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกัน

เทคโนโลยีบล็อคเชน

แอปพลิเคชั่นบล็อคเชนมีศักยภาพสูงในการเติมเต็มฟังก์ชั่นด้านโลจิสติกส์ เป็นตัวกำหนดทิศทางการกระจายสินค้าและการขนส่งในปี 2022 และปีต่อ ๆ ไป  มีความสามารถในการแก้ปัญหาสำคัญ ๆ ได้โดยการสร้างบันทึกดิจิทัลที่เข้ารหัสซึ่งติดตามสินค้าในทุกขั้นตอนของซัพพลายเชน มองเห็นได้อย่างชัดเจนหากเกิดความผิดปกติที่ส่งผลต่อการขนส่ง ช่วยให้บริษัทเข้าถึงปัญหาหาและแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญที่สุดสำหรับ บล็อคเชน สามารถทำให้กระบวนการโลจิสติกส์เป็นไปอย่างอัตโนมัติ แถมยังตรวจสอบ สนับสนุน แบ่งปันข้อมูลได้อย่างปลอดภัย และบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โลจิสติกส์

Internet of Things (IoT) 

ปัจจุบันสิ่งนี้อาจจะยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร แต่แนวคิดระบบการขนส่งอัจฉริยะ การวางแผนเส้นทาง อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ได้ผสานรวมโซลูชั่น AI เข้ากับการดำเนินงาน นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ได้รับการพูดถึงและจะเพิ่มศักยภาพได้อย่างมหาศาล

แบบสำรวจของการใช้ AI ทั่วโลก การนำสิ่งนี้มาใช้พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่าของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการขนส่ง สามารถเพิ่มผลกำไรของบริษัทได้มากกว่า 40% ต่อปี และการที่บริษัทยักษ์ใหญ่บางแห่งเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยี AI เพื่อประหยัดเงินและเวลาในอนาคต ก็น่าจะเป็นคำตอบได้อย่างดี

รถบรรทุกไร้คนขับ

น่าจะยังเร็วเกินไปนิด หากจะพูดเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรายังเห็นข่าวรถพลังงานไฟฟ้าของ Tesla ใช้ระบบ “ออโตไพลอต” แล้วยังเกิดอุบัติเหตุตามท้องถนนอยู่..

ซึ่งก็เป็นไปตามที่แหล่งข้อมูลได้กล่าวไว้ เทคโนโลยีการขับขี่ด้วยตนเองยังอยู่ในระหว่างพัฒนาและปรับปรุง ยังมีอุปสรรคอีกหลายอย่างที่ต้องเอาชนะ เช่น การปรับปรุงซอฟต์แวร์ไร้คนขับเพื่อให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดบนถนนในเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น ซึ่งถือเป็นงานหินพอสมควร แต่ก็เป็นหนึ่งในแนวโน้มอันสอดคล้องกับคมนาคมขนส่งในอนาคตที่ผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์เอาไว้ หากทุกอย่างลงตัวพร้อมใช้งาน นี่น่าจะเป็นเทรนด์ที่น่าตื่นเต้นที่สุดเทรนด์นึง ชนิดที่คนทั่วไปเห็นแล้วยังต้องอึ้งกันเลย

Last-Mile Delivery

ภาษาธุรกิจของอุตสาหกรรมของโลจิสติกส์ หากเรียกกันแบบให้เข้าใจง่ายที่สุดน่าจะเป็น “ไม้สุดท้าย” ของการขนส่งนั่นเอง

บริษัทต่าง ๆ ได้พัฒนาเรื่องนี้กันมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์การจัดสั่งอันราบรื่นที่สุด โดยในปี 2022 ที่จะถึงนี้ มีองค์กรจำนวนไม่น้อยพร้อมจะใช้ประโยชน์จากเครื่องมือเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง เพื่อให้ลูกค้าได้รับข้อมูลอัพเดตแบบเรียลไทม์ ตลอดจนกระทั่งเหตุผลในการที่สินค้ายังไม่ถูกจัดส่ง รวมถึงแนวทงการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของการขนส่งเคสบายเคสแบบละเอียด

การส่งมอบไม้สุดท้ายเป็นส่วนสำคัญที่สุดของกานขนส่งเลยก็ว่าได้ เพราะมีความเกี่ยวข้อโดยตรงกับระดับความพึงพอใจของลูกค้า แต่สิ่งที่ทำให้เทรนด์นี้อยู่ในลำดับท้าย ๆ ที่จะนำมาพิจารณาทั้ง ๆ ที่หากทำได้ดีจะส่งผลดีกับบริษัทโดยตรง นั่นเป็นเพราะมีอีกหลายปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมขององค์กรนั่นเอง

โลจิสติกส์

อย่างที่เรารู้กันว่าหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โรคระบาดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ได้ก็มาในรูปแบบของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มารองรับ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาจากเรื่องดังกล่าว หรือการเพิ่มศักยภาพ เพิ่มหนทางใหม่ ๆ ในการผลักดันให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ เหมือนกับเทรนด์ของอุตสาหรรมโลจิสติกส์ที่เรานำมาพูดคุยกันผ่านเนื้องหาวันนี้ หากคุณรู้สึกสนใจหัวข้อไหน สามารถต่อยอดหาข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดเชิงลึกเพื่อนำไปปรับใช้กับธุรกิจของคุณได้เลย

ขอขอบคุณเนื้อหาสาระจากแหล่งข้อมูล และบทความดี ๆ จากต้นทางมา ณ ที่นี้

https://www.globaltrademag.com/what-does-2022-have-in-store-for-the-shipping-logistics-industry/

https://xtendedview.com/business/emerging-logistics-industry-trends/8813/

กรณีศึกษา IoT เพื่อเพิ่มศักยภาพในอุตสาหกรรม

กรณีศึกษา iot

จากบทความก่อนหน้านี้ ที่พวกเราโรงกลึงพีวัฒน์สาธยายเกี่ยวกับความดีงามของ Internet of Things ว่าดีอย่างไร มีบทบาทกับอุตสาหกรรมมากแค่ไหน รวมถึงมูลค่าการตลาดที่ได้เห็นแล้วต้องอ้าปากค้าง แถมจากการคาดการณ์ผ่านสื่อดังและองค์กรทั้งหลายแหล่ ต่างมองเหมือนกันว่าศักยภาพของสิ่งนี้คงไม่หยุดอยู่เท่านี้แน่ ๆ มีแต่จะพัฒนาต่อขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าไปทุกวัน ซึ่งเราก็เชื่อว่าใครที่ได้อ่าน อาจจะยังนึกภาพตามได้ไม่ชัดนัก หากมีตัวอย่างที่สามารถหยิบใช้ IoT ได้อย่างชัดเจน คงจะทำให้ถึงบางอ้อและอินกับนวัตกรรมนี้ได้ไม่ยาก

ย้อนกับไปอ่าน “5 เทรนด์ยอดนิยม ประยุกต์ใช้ IoT (Internet of Things) กับอุตสาหกรรมการผลิต” คลิก

ด้วยเหตุนี้เอง เนื้อหาที่เราจะนำมาเสนอวันนี้ เป็นกรณีศึกษา IoT ของ Seeed ที่ได้ออกมาเล่าเรื่องรางการผสมผสาน IoT เข้ากับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่พวกเขาได้มีส่วนร่วมผ่านทางเว็บไซต์หลัก เป็นเนื้อหาที่มีความน่าสนใจมากและน่าจะทำให้ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มองเห็นประสิทธิภาพของ Internet of Things ได้เป็นรูปธรรมขึ้นอย่างมากเลยทีเดียว

กรณีศึกษา iot

Seeed Studio คือใคร ?

อันดับแรกเลย.. อยากให้เรามาทำความรู้จักกับ “Seeed Studio” กันก่อนที่จะเริ่มไปติดตามกรณีศึกษา IoT ผ่านการใช้งานในอุตสาหกรรมของพวกเขา โดยบริษัทนี้เป็นสตาร์ทอัพที่ออกแบบเกี่ยวโครงสร้างของอุตสาหกรรมผลิตทางการเกษตร เรียกว่าเป็นการวางแผนเกี่ยวกับธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้นจนเกิดเป็นโปรเจกต์ จบครบในที่เดียว เปรียบเสมือน “เมล็ดพันธุ์” ดังชื่อแบรนด์ของพวกเขา และให้บริการทางด้านนี้มานนับทศวรรษ 

จากสตาร์ทอัพ ณ เมืองเสินเจิ้น สู่การเป็นที่ยอมรับของหลากหลายบริษัท ทำให้พวกเขาได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของหลายๆ โปรเจกต์ที่เกี่ยวกับ IoT ซึ่งก็ด้วยแนวคิดการพัฒนาธุรกิจของพวกเขาที่พร้อมเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอนั่นเอง โรงกลึงพีวัฒน์เองก็ศึกษาโมเดลธุรกิจของ Seeed Studio ในด้านการทำดิจิตัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางการนำมาปรับใช้ในโรงงานของเราอีกด้วย

Seeed กับอุตสาหกรรมการผลิต

ที่ผ่านมานั้นพวกเขาได้มีการศึกษาเรื่องของการปรับใช้ IoT สู่อุตสาหกรรมการผลิตมาโดยตลอด เนื่องด้วยการผลิตเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่สุดจากมุมมองของการหยิบใช้ IoT ซึ่งสามารถนำการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ไปสู่การดำเนินงานด้านการผลิตได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการจัดการและบำรุงรักษา สินทรัพย์การผลิต รวมถึงบริการภาคสนาม นอกเหนือจากการอนุญาตให้ตรวจสอบประสิทธิภาพการดำเนินเงินด้วยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว IIoT บนอุตสาหกรรมในการผลิตยังสามารถใช้เพื่อให้บริการจากระยะไกลได้อย่างเป็นอิสระที่สุด จนนำมาสู่การเกิดโปรเจกต์ของพวกเขาดังต่อไปนี้

กรณีศึกษา iot

การผลิตภาคสนามด้วย Odyssey x86J4105

Odyssey x86J4105 เป็นคอมพิวเตอร์บอร์ดเดียว (SBC) ที่ทรงพลังมาพร้อมกับอินเตอร์เฟซการสื่อสารที่หลากหลาย ซึ่งทำให้กลายเป็นตัวเลือกในอุดมคติสำหรับการใช้แอปพลิเคชั่นที่หลากหลายของระบบการประมวลผลขนาดเล็ก (Edge Computing) และสิ่งนี้แหละที่ Seeed ได้ช่วยลูกค้าของพวกเขาสร้างเครื่องทำน้ำผลไม้อัจฉริยะ

เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติอัจฉริยะที่พวกเขาได้เนรมิตขึ้น สามารถทำผลไม้คั้นสดให้กับลูกค้าแบบออโต้ได้ทันทีเมื่อมีการสั่งซื้อ เป็นตัวอย่างที่ดีของการผลิตภาคสนามที่เปิดใช้งาน IoT ทางอุตสาหกรรม โดยเครื่องจะมีแกนประมวลผลของตัวเองสำหรับใช้ควบคุมอินเตอร์เฟซและแอคทูเอเตอร์ (Actuators) ของเครื่องผลิต ทั้งหมดนี้เชื่อมต่อกับระบบคลาวด์เพื่อให้ตรวจสอบและบำรุงรักษาได้ง่ายอีกด้วย

อุตสาหกรรมทางการเกษตร ร่วมกับ BeagleBone® Green

โปรเจกต์นี้เป็นการร่วมมือกันระหว่าง Seeed กับ BeagleBoard.org ได้รับสิทธิพิเศษโดยมอบหมายให้ใช้งานตัวควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ IoT สำหรับอุตสาหรรมสัตว์ปีกและฟาร์มของลูกค้าของพวกเขาด้วย BeagleBone® Green สิ่งนี้เป็นการอิงจากการออกแบบโอเพนซอร์สของ BeagleBone Black มีตัวเชื่อมต่อกับ Grove สองตัวเพื่อการปรับใช้บนโมดูลเซ็นเซอร์และการเชื่อต่ออินเตอร์เนตผ่านอีเธอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย

ซึ่งโซลูชั่นที่ว่านี้ให้การเชื่อมต่อระหว่างระบบการเกษตรกับคลาวด์ ทำให้ตรวจสอบข้อมูลระยะไกลแบบเรียลไทม์ได้อยู่เสมอ ทั้งการวัดสภาพแวดล้อมที่ทำได้ดีและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ส่งผลด้านเทคนิคช่วยให้เงื่อนไขการปรับใช้ทางการเกษตรทำได้อย่างเหมาะสมเมื่อมีการใช้งานอยู่เรื่อย ๆ ตลอดจนการประมวลผลเพื่อปรับปรุงผลผลิต

ยกระดับการขนส่งด้วย BeagleBone® Green x IIoT

อย่างที่เคยกล่าวไว้เมื่อบทความก่อนว่า IoT นั้นสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการขนส่งได้เป็นอย่างดี คาดการณ์ได้เกือบจะทุกสิ่งอย่างที่คุณต้องการให้ประเมิน และสิ่งนี้เองที่ Seeed นำมาปรับใช้เข้ากับ BeagleBone® Green ด้วยการปรับแต่งเล็กน้อยเพื่อใส่ฟังก์ชั่นการจ่ายพลังงานผ่านอีเธอร์เน็ต (PoE) และอินเตอร์เฟซ I/O เพิ่มเติม ทำให้พวกเขาสร้างโซลูชั่น IIoT แบบกำหนดเอง สำหรับรวบรวมข้อมูลอุณหภูมิและความชื้นระหว่างการขนส่งผลิตภัณฑ์สด ทำให้สามารถติดตามเส้นทาง ปัญหาต่าง ๆ รวมถึงคุณภาพของสินค้าได้ตลอดกระบวนการ

การทำงานของโซลูชั่นนี้ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกอัพโหลดไปยังระบบคลาวด์เช่นเคย ทั้งนี้ก็เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ การทำเช่นนี้จะช่วยให้สามารถระบบช่องโหว่งในการขนส่งได้อย่างตรงจุด โดยรวมแล้วการประยุกต์ใช้ IoT เชิงอุตสาหกรรมด้านลอจิสติกส์นี้ นอกจากป้องกันค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นแล้ว สิ่งสำคัญที่เพิ่มขึ้นมาคือประสิทธิภามรวมในการกระจายผลิตภัณฑ์ที่เทคโนโลยีเข้ามายกระดับได้แบบมากโขเลยทีเดียว

นับว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับกรณีศึกษา IoT บนอุตสาหกรรมการผลิตที่น่าสนใจอย่างมาก และนี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของบริษัทสตาร์ทอัพที่ใช้ Internet of Things เข้ามายกระดับธุรกิจของพวกเขา ซึ่งแต่ละอย่างที่กล่าวมาไม่ใช่แค่เพียงการช่วยเซฟต้นทุนเพื่อที่จะทำให้คุณมีกำไรได้มากขึ้น แต่ยังลดเวลาอันเป็นทรัพยากรที่มีค่ามหาศาล ทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดขึ้นจากการรวบรวมข้อมูล ตรวจสอบ ก่อนวิเคราะห์ออกมาอย่างชาญฉลาด และเชื่อเราเถอะว่าในอนาคต IoT จะพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ และมีเรื่องมาให้เราประหลาดใจแบบไม่พักแน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับเนื้อหาต่าง ๆ มา ณ ที่นี้

https://www.seeedstudio.com/blog/2021/02/24/what-is-industrial-iot-case-studies/

5 เทรนด์ยอดนิยม ประยุกต์ใช้ IoT (Internet of Things) กับอุตสาหกรรมการผลิต

Internet of Things

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราพูดถึง IoT (Internet of Things) แต่ที่ผ่านมานั้นเราพาเลี้ยวไปรู้จักกับสิ่งนี้แค่ผิวเผิน หากว่ากันตามตรง.. ก็ไม่ค่อยจะสมกับฐานะของเจ้าสิ่งนี้เท่าไหร่นัก เพราะถือเป็นสิ่งที่มีศักยภาพอย่างมาก เรียกได้ว่าสามารถเปลี่ยนโฉมหน้าของเทคโนโลยีต่าง ๆ ตลอดจนโลกอุตสาหกรรมทุกแขนง แต่ก็ตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า.. ถ้าคุณนำมาปรับใช้ได้ตรงกับธุรกิจของคุณ สิ่งนี้สร้างประโยชน์และยกระดับทุกอย่างได้ชนิดที่คุณคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ทศวรรษที่ผ่านมา แนวคิดในการฝังเซ็นเซอร์และชิปลงในวัตถุทางกายภาพ อาจฟังดูไร้สาระจนแทบจะเป็นไปไม่ได้..

อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องขอบคุณ Internet of Things ที่เนรมิตรให้แนวคิดสุดเครซี่นี้กลายเป็นจริงขึ้นมาได้ ทำให้เทคโนโลยีนี้ได้เติบโตขึ้นเป็นแนวคิดหลักสำหรับการทำธุรกิจจำนวนมากภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว สิ่งนี้ยังได้เปลี่ยนแปลงบางแง่มุมในชีวิตประจำวันของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็น การขับรถ การทำอาหาร การจัดซื้อ รวมถึงการผลิตต่าง ๆ ซึ่งก็วนเข้าเรื่องของอุตสาหกรรมที่เราอยากจะนำมาขยายในวันนี้ เกี่ยวกับแนวโน้ม 5 กรณีที่จะทำให้การใช้งาน IoT ได้ดีที่สุด เต็มประสิทธิภาพที่สุดนั่นเอง

Internet of Things

อุตสาหกรรมการผลิตได้ประโยชน์อย่างไรจาก IoT ?

องค์การทั่วโลกหลายแห่งประสบความสำเร็จในการผสานรวมเครื่องมือ IoT เข้ากับโครงสร้างพื้นฐานของพวกเขาเอง สิ่งนี้ช่วยให้พวกเขาเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ลดเวลาการส่งมอบ และยังลดค่าใช้จ่าย ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาด Internet of Things เพิ่มเป็นทวีคูณในปัจจุบันรวมถึงอนาคตอันใกล้นี้ด้วย

จากทั้งหมดที่กล่าวมา ก็อย่าได้หาแปลกใจแต่อย่างใดที่ IoT นั้นจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิต ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ผลิตเองและลูกค้าเป้าหมาย สิ่งนี้ในทางอุตสาหกรรมช่วยให้ผู้ผลิตสามารถขยายขนาดอุปกรณ์ต่าง ๆ ในที่สังเกตการณ์และให้บริการจากระยะไกลได้แบบสบาย ๆ ดั้งนั้น บริษัทต่าง ๆ จึงสามารถประเมินความต้องการของลูกค้าได้อย่างเหมาะสมกว่าที่เคย

ทางด้านของการผลิต หนึ่งในฐานะของอุตสาหกรรม กำลังได้รับโอกาสจากสิ่งนี้อย่างมหาศาล โรงงานหลายแห่งใช้ระบบคอนโทรลที่เชื่อมต่อกันสำหรับขบวนการและควบคุมดูแลอยู่แล้ว ซึ่งประโยชน์หลักของโซลูชัน IoT ดังนี้ :

  • ช่วยตรวจจับและหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจก่อให้เกิดความล่าช้า
  • สามารถเพิ่มคุณภาพการผลิตและดึงประโยชน์จากวัตถุดิบ รวมถึงส่วนประกอบที่ผลิตออกมาด้วยการดำเนินการจาก AI
  • ช่วยให้ผู้จัดการสามารถจัดสรรทรัพยาการได้ดียิ่งขึ้น ปรับปรุงทักษะของพนักงาน และทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานปลอดภัยได้มากกว่าเดิม

“70% ของบริษัทต่าง ๆ มั่นใจว่าการนำ IoT ไปใช้สามารถลดต้นทุนและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของพวกเขาได้ดีเยี่ยม”

นี่เป็นหนึ่งในคำกล่าวของผู้สันทัดกรณีที่ติดตามศึกษาของการพัฒนาสิ่งนี้อย่างใกล้ชิด ส่วนประโยคข้างต้นนี้นั้นเกินเลยความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด ลองอ่านเนื้อหาต่อไปนี้ประกอบการตัดสินใจดูกันหน่อยดีกว่า

Internet of Things

เจาะลึกตัวอย่าง IoT ที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมการผลิต

ณ ปัจจุบัน โครงการ IoT จำนวนมากเกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกและสินทรัพย์ การรักษาความปลอดภัยและการดำเนินงาน การขนส่งการบริการลูกค้า ด้วยเหตุนี้ Internet of Things จึงเป็นเทรนด์เทคโนโลยีที่มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นปัจจัยหลักสำหรับธุรกิจในปี 2021 และต่อ ๆ ไป และนี่คือ 5 ตัวอย่างการใช้ IoT ที่ดีที่สุดในการผลิตที่เราจะนำมาบอกเล่าผ่านเนื้อหาด้านล่างนี้ต่อไป

1. การซ่อมแซมเชิงคาดการณ์

ด้วยการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ขับเคลื่อนด้วย IoT ที่มีจุดเซ็นเซอร์ต่างกัน (อุณหภูมิ การสั่นสะเทือน แรงดันไฟ้า กระแสสัญญาณ ฯลฯ) เข้ากับอุปกรณ์อื่น ๆ เราจะได้รับข้อมูลการบำรุงรักษาที่จำเป็นได้ ข้อมูลประเภทนี้จะช่วยในการประเมินสภาพปัจจุบันของเครื่องจักร กำหนดสัญญาณเตือน และเปิดใช้งานกระบวนการซ่อมที่เกี่ยวข้องได้ทันทีทันใด

2. การควบคุมการผลิตระยะไกล

คุณลักษณะที่โดดเด่นที่สุดของการควบคุมการผลิตระยะไกลในระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม คือการกำกับดูแลเครื่องจักรในกระบวนการผลิตแบบรวมศูนย์ข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจถึงพื้นที่การผลิตจริงได้ชัดเจน รวดเร็ว และมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ให้ความช่วยเหลือพนักงานในการวิเคราะห์ข้อมูลองค์กร ทั้งหมดนี้ทำให้เทคโนโลยี IoT เป็นเครื่องมือหลัก สร้างความมั่นใจต่อการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติที่ปลอดภัย ทั้งยังช่วยเรื่องการตรวจสอบพนักงาน และตำแหน่งของบุคลากรได้แบบเรียลไทม์ (IIoT เทคโนโลยีอัจฉริยะที่ช่วยโรงงานอุตสาหกรรมอัพเดทมาตรการป้องกันภัย)

3. การติดตามทรัพย์สิน

ถ้าพูดคุณสมบัติที่สำคัญไป เชื่อว่าใครที่ติดตามเรามาโดยตลอดจะคุ้นหูกับ “Beacon”  (ทำความรู้จัก Beacon หนึ่งใน IoT น่าสนใจ ที่มูลค่าตลาดอาจสูงระดับหมื่นล้าน!) อันเป็นหนึ่งใน IoT ที่น่าสนใจ ทำให้หลายคนรู้จักสิ่งนี้เป็นวงกว้าง 

ซึ่งงานหลักของการติดตามอยู่ในการค้นหาและดูแลสินทรัพย์สำคัญ สามารถนำมาใช้กับอุตสาหกรรมการผลิตได้ เช่น ส่วนประกอบของซัพพลายเชน (วัตถุดิบ คอนเทนเนอร์ และสินค้าสำเร็จรูป) โดยแอปพลิเคชั่นดังกล่าวสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งได้อย่างมาก รักษาสต็อคของงานที่กำลังดำเนินการ และเปิดเผยการถูกจารกรรมและการละเมิดได้อีกด้วย

4. การจัดการโลจิสติกส์

“IoT สามารถเปิดเผยความไร้ประสิทธิภาพของซัพพลายเชนโดยกำจัดจุดบอดออกจากกระบวนการโลจิสติกส์ได้เป็นอย่างดี” กล่าวโดย ฟอร์บส์ สื่อยักษ์ใหญ่ด้านการเงินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

การจัดการกลุ่มยานยนต์ผ่านอุปกรณ์ที่ขับเคลื่อนด้วย IoT ช่วยให้ผู้ผลิตกำจัดหรือลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายของยานพาหนะ พนักงาน และการขนส่ง โซลูชันกลุ่มยานยนต์อัตโนมัติจะช่วยให้บริษัทมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผู้จัดการด้านโลจิสติกส์สามารถดึงศักยภาพของ IoT ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็น ด้านการซ่อมแซมและค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง การส่งมอบอันชาญฉลาด การวินิจฉัยที่แม่นยำตลอดจนถึงผู้ขับรถขนส่ง

5. Digital Twins

การใช้แนวทาง IoT ที่เรียกว่า Digital Twins ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างแบบจำลองดิจิทัลที่แข็งแกร่ง เมื่อเสริมศักยภาพด้วย IoT, POC (การพิสูจน์แนวคิด), MVP (ผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้ขั้นต่ำ) ต้นแบบรูปลักษณ์นี้แม่นยำมากจนเราสามารถทดลองและคาดการณ์ฟังก์ชั่นการทำงานต่าง ๆ ได้เสมือนจริง

พื้นที่แอปพลิเคชั่น IoT ประเภทนี้จะช่วยให้คุณจำลองอายุการใช้งานของเครื่องจักร ตรวจสอบการอัพเดต รวมไปถึงการคาดการณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น แม้กระทั่งเรื่องของคอขวด ทุกอย่างนี้ผู้ผลิตสามารถรับแบบจำลองของอุปกรณ์และสินค้าสำหรับการตรวจสอบในสภาพแวดล้อมเหมือนจริงที่สุด ก่อนที่สุดท้ายจะออกสู่ตลาดจริงได้อย่างมั่นใจ

เทคโนโลยีนี้ก็เป็นอีกเทคโนโลยีนึงที่โรงกลึงพี-วัฒน์ของเราให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เราได้ประเมินความคุ้มทุนและหาแนวทางเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับเครื่องจักร CNC ในโรงกลึงของเรา ก็เพื่อประโยชน์สูงสุดในการเพิ่มศักยภาพในการทำงานของวิศวกร และคุณภาพในงานกลึงที่ผลิต

Internet of Things

IoT ได้รับความสนใจมากขนาดไหนในปัจจุบัน ?

อุปกรณ์ IoT จำนวนมากผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดในปัจจุบัน ดังนั้น จำนวนอุปกรณ์ที่ใช้งานบน Internet of Things ที่ไม่รวมสมาร์ทโฟน แท็บเลต แลปท็อป เพิ่มขึ้นเป็น 8.3 พันล้านเครื่องเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา (2019) นอกจากนี้ จำนวนหน่อยของ IoT ของอุตสหกรรมต่าง ๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์ภายในปี 2025 จะอยู่ที่ 29.7 ล้านเครื่อง ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงมาก เพราะเป็นการนับแค่ตลาดของอุตสาหกรรมแบบเพียว ๆ

และอย่างที่ได้กล่าวไป มีองค์กรมากมายประสบความสำเร็จในการใช้ฟิวชั่นเครื่องมือ IoT เข้ากับโครงสร้างพื้นฐานของตน ทั้งหมดทั้งมวลจะทำให้ส่วนแบ่งตลาดของสิ่งนี้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในไม่กี่ปีข้างหน้า 

ตามรายงานของ IDC ระบุว่ามูลค่าของ IoT จะเพิ่มขึ้นมากถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 มิหนำซ้ำ Statista ยังออกมาตอกย้ำความมั่นใจโดยกระชุ่นถึงตัวเลขระดับ 3.9 – 11.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 

เห็นตัวเลขมหาศาลขนาดนี้ แล้วคุณล่ะ.. ได้คำตอบหรือยังว่า IoT นั้นมีความน่าสนใจมากน้อยขนาดไหน ?

ขอขอบคุณบทความคุณภาพที่นำมาใช้ประกอบบทความ มา ณ ที่นี้

https://www.byteant.com/blog/5-best-use-cases-of-iot-in-manufacturing/

https://www.record-evolution.de/en/use-cases-utilizing-iot-and-the-artificial-intelligence-of-things-aiot-in-manufacturing/

https://tulip.co/blog/industrial-iot-use-cases-and-applications/

ทำความรู้จัก Beacon หนึ่งใน IoT น่าสนใจ ที่มูลค่าตลาดอาจสูงระดับหมื่นล้าน!

Beacon

เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันดีหากเราเอ่ยถึง GPS แต่สำหรับ Beacon (บีคอน) อาจมีเลิ่กลั่กกันบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งเจ้าสิ่งนี้เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีบนหมวด IoT (Internet of Things) และเมื่อมีการกล่าวถึงจำพวกนี้ สิ่งที่คุณจะได้รับจากพวกเขาเหล่านี้คือการยกระดับธุรกิจในยุคของเทคโนโลยีแน่นอน

คำถามคือ.. ทำไมวันนี้เราถึงอยากจะนำเรื่องนี้มาบอกเล่าแก่ธุรกิจอุตสาหกรรมโรงงาน เพราะอันที่จริงแล้วสถานะของ Beacon ในปัจจุบันนั้นมีอิทธิพลกับสองอุตสาหกรรมที่ได้รับคุณประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้มากที่สุด คือ “การค้าปลีก” และ “การตลาด”

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ข้อมูลล่าสุดจาก Global Market Insights ได้คาดการณ์เอาไว้ว่าตลาดของ “Beacon” จะเติบโตเกิน “สองหมื่นห้าพันล้าน” ในปี 2025 แล้วหน่วยเงินที่ว่านี่หมายถึง “ดอลลาร์สหรัฐ” มันทำให้เราไม่อาจจะมองข้ามได้จริง ๆ 

ส่วนใครที่ยังไม่รู้จักหรือเคยได้ยินแค่คร่าว ๆ อยากรู้แล้วว่าสิ่งนี้คืออะไร มีบทบาทอะไรต่อธุรกิจได้บ้าง.. เรามาเริ่มกันเลยนับแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป!

Beacon คืออะไร ?

อย่างที่ได้กล่าวไปในช่วงต้น Beacon นั้นเป็นหนึ่งในจำพวกเทคโนโลยี IoT ส่วนหลักการทำงานของสิ่งนี้นั้นจะมีความคล้ายเทคโนลียี RFID แต่จะแตกต่างกันตรงที่ RFID จะเป็นการใช้คลื่นความถี่วิทยุ ส่วน Beacon นั้นสัญญาณหลักของตัวอุปกรณ์คือการใช้ บลูทูธ (Bluetooth) โดยทั้งสองสิ่งนี้นั้นมีจุดประสงค์เดียวกัน นั่นก็เพื่อการใช้งานในที่ที่ GPS นั้นเข้าไม่ถึง หรือไม่สมารถระบุตำแหน่งได้อย่างแน่ชัด เช่น ห้างร้าน อาคารต่าง ๆ เป็นต้น

Beacon

หลักการทำงานและประเภทของ Beacon

หลักของ Beacon หัวใจคือการกำหนดตำแหน่งพื้นที่ภายในและภายนอกในระยะใกล้ ร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ ของ IoT กล่าวคือสิ่งนี้ไม่มีความซับซ้อนแต่อย่างใด ใช้เพื่อตรวจจับการมีอยู่ของมนุษย์ในบริเวณใกล้เคียง หรือสิ่งของก็ได้เช่นกัน เช่น อุปกรณ์ หรือ เครื่องจักรต่างๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม อาจติดไว้ที่เครื่อง CNC ภายในพื้นที่การผลิตของโรงกลึง เพื่อกำหนดตำแหน่งของ asset นั่นๆ จากนั้นเพื่อใช้ประโยชน์ต่อในด้านการส่งข้อมูลที่เราได้กำหนดเอาไว้ก่อนหน้านี้เพื่อมอบสิ่งต่าง ๆ ในรูปแบบที่เหมาะกับอุตสาหกรรมของคุณ นั่นหมายถึง Beacon ต้องทำงานร่วมกับระบบหลังบ้านที่สามารถกำหนดตั้งค่าใด ๆ ได้ เสมือนแอพลิเคชั่นนึงนั่นเอง

แล้วเจ้า Beacon นี้ทำงานอย่างไร ?

Beacon ทำงานร่วมกับระบบแอพลิเคชั่นหลังบ้าน แต่เราจะขอข้ามในส่วนของการกำหนดค่าด้วยซอฟต์แวร์เอนจิเนียร์ไปก่อน เพราะมันจะลงลึกในเชิงของการพัฒนาโปรแกรมมิ่งจนเกินไป การตั้งค่าในส่วนนี้ต้องใช้ความชำนาญรวมถึงข้อมูลธุรกิจที่แตกต่างกันตามแต่ละอุตสาหกรรม แต่โดยหลักแล้วกระบวนการและปลายทางต่างต้องการผลลัพธ์จากสิ่งนี้เหมือนกันแทบทั้งหมด

ส่วนการทำงานจะเป็นการส่งสัญญาณผ่านบลูทูธ เพื่อให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟน ณ จุดดังกล่าวเป็นคนตัดสินใจขั้นตอนสุดท้ายว่าจะรับการแจ้งเตือนจากสิ่งนี้หรือไม่ แต่ปัญหาที่พบโดยมาก ยังมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนไม่น้อยเลยที่ไม่ได้เปิดบลูทูธตลอดเวลา 

ดังนั้น ชาเลนจน์ของผู้พัฒนาคือการบอกเล่าสิ่งที่น่าสนใจ รวมถึงประสบการณ์เต็มรูปแบบที่จะได้รับจากการเปิดใช้งานแจ้งเตือนของ Beacon ซึ่งก็เป็นด่านแรกที่จำเป็นต้องกระตุ้นเพื่อขอให้ผู้ใช้งานเปิดบลูทูธ และยังเป็นกระบวนการสำคัญที่สุดหากต้องใช้สอยประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ให้เต็มประสิทธิภาพ

Beacon

ประเภทของ Beacon ณ ปัจจุบัน

Beacon นั้นมีมากหมายหลายประเภท รวมถึงขนาดต่าง ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานในธุรกิจ เลือกได้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด

  • แบบมาตรฐาน เป็นแบบระยะใกล้ใช้สำหรับติดตามในตัวอาคาร โดยอุปกรณ์จะมีขนาดพอ ๆ กับ เราเตอร์ Wi-Fi อาจเล็กหรือใหญ่กว่านิดหน่อย
  • แบบพกพา / ขนาดเล็ก ใช้สำหรับติดตามสิ่งของโดยส่วนใหญ่ รวมถึงใช้เป็นเซนเซอร์วัดระยะความใกล้ชิดของคนรวมถึงสิ่งของ มีขนาดประมาณบัตรเครดิต
  • แบบ USB ขนาดเล็กลงไปอีก ใช้สำหรับการติดตามทรัพย์สินเช่นกัน แต่ด้วยขนาดและการออกแบบทำให้ปรับใช้ได้สะดวกขึ้น พกพาง่าย หยิบจับใช้งานได้เร็ว
  • แบบวิดีโอ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เสียบด้านหลังหน้าจอ ใช้สำหรับส่งข้อมูลภาพตามบริบทต่าง ๆ เช่น งานนิทรรศการจัดแสดงภาพ หรือ ข้อมูลสินค้าแบบภาพเคลื่อนไหว
  • แบบสัญญาณ AI อุปกรณ์นี้มีความสามารถในการเรียนรู้สูงจะช่วยจับการเคลื่อนไหวท่าทางต่างของทุกสิ่งที่ต้องการได้
  • แบบสติกเกอร์ อีกหนึ่งแบบที่ใช้สำหรับติดตามทรัพย์สิน สามารถออกแบบได้ขนาดเล็กที่สุดเท่าที่ต้องการ
  • แบบเฉพาะ ออกแบบเฉพาะสำหรับสถานที่รวมถึงการใช้งานตามต้องการ มักใช้การติดตามภายนอก มีการใช้วัสดุที่มีความทนทานสูง เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อเทคโนโลยี
  • Parent Beacon ใช้เพื่อติดตามอุปกรณ์ Beacon อื่น ๆ อีกที และสำหรับรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดเก็บเอาไว้ในคลาวด์เซิฟเวอร์ รวมถึงปัจจัยอื่น

ทุกประเภทที่กล่าวมาส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ มีการปรับ มีการประยุกต์อยู่เสมอ และคาดว่าจะมีรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมายในอนาคตต่อไป เพื่อให้เข้ากับธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้มีทางเลือกการใช้งานมากยิ่งขึ้น

Beacon

ทิศทางของ Beacon เทคโนโลยี ในอนาคต

อย่างที่ย้ำอยู่เสมอว่า Beacon นั้นเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย IoT ในยุคที่ “สมาร์ทโฟน” เปรียบเสมือนอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย นวัตกรรมที่ถูกเรียกว่า “Beacon เทคโนโลยี” ก็ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนได้อย่างน่าตื่นเต้น จากที่เคยถูกคาดการณ์เอาไว้เมื่อปี 2015 ว่าสิ่งนี้จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย สุดท้ายแล้วถูกพิสูจน์ด้วยกาลเวลาว่าสิ่งนี้ตอบโจทย์ในหลายธุรกิจได้จริง 

รวมถึงความน่าสนใจที่เราได้กล่าวไว้ช่วงต้นว่าตลาดของ Beacon นั้นอาจสูงถึงระดับแตะหลักหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 หากมองจากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน อีกแค่ 4 ปี เท่านั้นก็จะได้รู้กันแล้วว่าเทคโนโลยีนี้จะมีมูลค่ามหาศาลอย่างที่กล่าวจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่ได้ระหว่างทางทั้งกับผู้พัฒนาและผู้ใช้ เต็มไปด้วยประโยชน์นานัปการอย่างที่หลายธุรกิจ หลายอุตสาหกรรมคาดไม่ถึงเลยก็ว่าได้

สำหรับแวดวงอุตสาหกรรมโรงงานเองก็ต้องติดตามเทคโนโลยีนี้อย่างใกล้ชิด เพราะจะเป็นประโยชน์มากกับการพัฒนากระบวนการทางวิศวกรรม เพื่อพัฒนาปรับปรุงจากกระบวนการเดิมให้ทันสมัย และช่วยเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้สูงกว่าเดิม เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคและสร้างผลกำไรให้กับผู้ประกอบการได้เช่นกัน นับว่าต้องจับตาดูกันเลยที่เดียวว่าจะมี Beacon อะไรใหม่ๆ ออกมาในตลาดบ้านเราและมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับธุรกิจ …เริ่มก่อน สำเร็จก่อน

ขอขอบคุณข้อมูลและเนื้อหาดี ๆ จาก https://www.intellectsoft.net/blog/what-are-beacons-and-how-do-they-work