Sustainability : กลยุทธ์ “การรักษาสิ่งแวดล้อม” สู่ความเป็นผู้นำในธุรกิจ?

การรักษาสิ่งแวดล้อม

เทรนด์โลกที่เกี่ยวข้องกับการตระหนักถึงเรื่อง “การรักษาสิ่งแวดล้อม” กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก และมักจะได้ยินบริษัทชั้นนำปล่อยแคมเปญมากมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ Sustainability หรือที่พากย์ไทยได้ว่า “ความยั่งยืน” โดยที่เราจะมาแชร์วันนี้เป็นเนื้อหาที่มาจาก Forbes สื่อการเงินยักษ์ใหญ่ที่พูดถึงเรื่องนี้ในหลายแง่มุมเอาไว้อย่างน่าสนใจ และน่าจะช่วยยกระดับของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจของคุณได้ในระยะยาว

สำหรับผู้นำทางธุรกิจหลาย ๆ คน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ประเด็นหลัก รวมถึงเรื่องของความยั่งยืนอาจเป็นหัวข้อที่ซับซ้อนและน่ากลัว แต่จริง ๆ นั้นยังมีหลายขั้นตอนที่ปฏิบัติได้จริง แล้วก็ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด บริษัทต่าง ๆ โรงงาน โรงกลึงทั่วไปสามารถดำเนินการเพื่อจัดการกับความยั่งยืนไปพร้อมกับความก้าวหน้า ซึ่งเป็นย่างก้าวที่น่าสนใจและอาจเป็นเหตุผลที่จะผลักดันให้หลาย ๆ ธุรกิจก้าวไปข้างหน้าได้มั่นคงกว่าเดิม

การรักษาสิ่งแวดล้อม
Image by Freepik

เปลี่ยนคำคาดการณ์ Sustainability ให้เป็นโครงการที่ทำได้จริง

ที่ผ่านมาบริษัทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้รับมอบหมายจากนักลงทุนและรัฐบาลให้คำนวณผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีเหตุผลที่จะสันนิษฐานว่า “ความยั่งยืน” กำลังกลายเป็นประเด็นหลักในการพิจารณาสำหรับผู้บริโภคตลอดจนธุรกิจอื่น ๆ เมื่อพวกเขาเลือกผลิตภัณฑ์และคู่ค้า

จากการศึกษาของ CapGemini ความชอบของผู้บริโภคสำหรับผลิตภัณฑ์และแบรนด์ที่ยั่งยืนนั้นแข็งแกร่ง ผู้บริโภคส่วนใหญ่กว่า 64% กล่าวว่าการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนทำให้พวกเขารู้สึกมีความสุข มี 79% กำลังเปลี่ยนความต้องการซื้อโดยคำนึกถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยผู้บริโภค 8 ใน 10 กำลังตัดสินใจเลือกซื้อโดยคำนึงถึงความยั่งยืน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดนี้นั้นตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

จากตัวเลขสู่จุดเริ่มต้นที่เป็นไปได้

เปอร์เซนต์ของข้อมูลดังกล่าว ได้เปลี่ยนถ้อยคำซ้ำซากจำเจที่ว่า “เราทุกคนมีพลังที่จะสร้างความแตกต่าง” ให้เป็นความพยายามร่วมกันของกลุ่มคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกที่ยั่งยืนมากขึ้น

สิ่งที่เห็นชัดคือบริษัทต่าง ๆ มีบทบาทร่วมกัน และจุดเริ่มต้นที่ดีเป็นการนำกรอบความคิดทั่วทั้งบริษัทมาใช้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาได้อย่างไร แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถเกิดผลได้หากมีการร่วมมือกันและทำมันอย่างสม่ำเสมอ มีข้อมูลล่าสุดว่าการดำเนินโครงการริเริ่มเกี่ยวกับความยั่งยืนทำให้บริษัทต่าง ๆ นั้นลดการปล่อยมลพิษตามข้อตกลงของ Paris Climate Accord ถึง 60%

3 กลยุทธ์ Sustainability “การรักษาสิ่งแวดล้อม” ผ่านกระบวนการอุตสาหกรรม

ข้อมูลที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงแค่น้ำจิ้มเท่านั้น หากคุณอยากดำเนินตามแนวทางที่จะช่วยให้ธุรกิจเข้าสู่ความยั่งยืนและเคร่งครัดต่อ การรักษาสิ่งแวดล้อม มากยิ่งขึ้น โครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรปรับปรุง พัฒนา และจากบรรทัดนี้ต่อไปเป็นกลยุทธ์ที่ Forbes มองว่าเป็นสิ่งเริ่มต้นที่จำเป็น

การรักษาสิ่งแวดล้อม
Image by frimufilms on Freepik

มุ่งมั่นสู่การทำงานจากระยะไกล (Remote Work)

นี่คือยุคสมัยแห่ง “Remote Work” แม้จะยังเป็นสิ่งที่ผู้นำทางธุรกิจไม่ค่อยแน่ใจนัก แต่ความต้องการจากพนักงานนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จำนวนงานทางไกลที่ลงโฆษณาในสหรัฐฯ ลดลงเหลือเพียง 14% ในเดือนกันยายน เทียบกับ 1 ใน 5 ของงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 มีรายงานว่าผู้สมัครเพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น 52% ในเดือนดังกล่าว เรียกว่าโอกาสการจ้างงานแบบ Remote Work ก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องหากยึดตามสถิติตัวเลขนี้

ต้องบอกว่าความต้องการของพนักงานเป็นตัวกระตุ้นที่แข็งแกร่งสำหรับธุรกิจในการพิจารณาการทำงานแบบรีโมทเวิร์ค โดยเฉพาะหากพูดถึงเรื่องความยั่งยืนของสังคมบนพื้นฐานสภาพแวดล้อม การทำงานลักษณะนี้ส่งผลดีต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบริษัทด้วยการลดใช้พลังงานและของเสียให้เหลือน้อยที่สุด

การรักษาสิ่งแวดล้อม
Image by rawpixel.com on Freepik

ยิ่งตัวเลขของสถิติเร็ว ๆ นี้พบว่าการทำงานแบบรีโมทเวิร์คเป็นเวลาสี่วันต่อสัปดาห์สามารถลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ได้ 10% รวมถึงการปล่อยก๊าซส่วนตัวต่อบุคคุลได้ถึง 80% นอกจากนี้ แบบจำลองสถานที่ทำงานเสมือนจริงยังสามารถปรับปรุงสภาพการจราจรท้องถิ่นโดยลดการเดินทาง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาว่าการขนส่งเป้นแหล่งกำเนิดมลพิษคาร์บอนอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา

ยกระดับความตั้งใจ ลดการเดินทางเพื่อธุรกิจ

การเดินทางทางอากาศคิดเป็น 2% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก การเดินทางเพื่อธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกบริษัทนั้นล้วนมีบทบาทในปัญหานี้

นับแค่ในปี 2019 แค่บริษัท Saleforce เพียงอย่างเดียวก็สร้าง CO2 มากถึง 146,000 เมตริกตัน แต่เมื่อมีกระแสเรื่องของการจัดการเกี่ยวกับ Sustainability ตัวเลขนี้ลดลงถึง 86% แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่สำคัญต่อแนวทางเรื่องการเดินทางเพื่อธุรกิจ เพียงแค่รอบคอบมากขึ้นก็สร้างประโยชน์เพิ่มได้แล้ว เป็นเรื่องที่ผู้นำของธุรกิจต้องแสดงถึงความตั้งใจและใช้กับเรื่องที่จำเป็นจริง ๆ

สร้างสถานะ “ดิจิทัล” ที่ยั่งยืน

แท็กของบุคคลที่สามบนเว็บไซต์ (Third-Party) นั้นให้ข้อมูลและบริการที่มีค่าสำหรับทั้งธุรกิจและลูกค้าของคุณ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เว็บไซต์ของคุณนั้นทำให้คอมพิวเตอร์ของพวกเขานั้นทำงานหนัก… ถึงเวลาที่ต้องปรับแล้ว!

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับอินเทอร์เนตที่เราใช้นั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกถึง 3.7% การจัดการแท็กที่ซ้ำกัน การประเมินและจำกัดแอพพลิเคชั่นเธิร์ดปาร์ตี้ที่ไม่จำเป็นเพื่อลดภาระ รวมถึงการออกแบบหน้าเว็บไซต์ให้ยูสเซอร์ “ใช้งานง่าย” (User Friendly) วิธีการต่าง ๆ เหล่านี้สามารถยกระดับประสบการณ์ของผู้บริโภคได้อย่างมาก และยังเป็นการช่วยลดดิจิทัลฟุตปรินท์ของบริษัทคุณ โดยทาง Forbes แนะนำเครื่องมือฟรีอย่าง taginspector.com เป็นสเตปแรกหากคุณอยากเริ่มต้นศึกษาเรื่องนี้

นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพบนเว็บไซต์ บริษัทต่าง ๆ ยังสามารถปลี่ยนการใช้จ่ายค่าโฆษณาโดยการจัดลำดับความสำคัญเพื่อก้าวสู่กระบวนการนี้ได้ จากการศึกษาในปี 2018 พบว่าโฆษณาออนไลน์คิดเป็น 10% ของการใช้พลังงานอินเทอร์เนต หากต้องการเข้าสู่ยุคใหม่ ยุคที่ต้องใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม การมุ่งเน้นเพื่อลดดิจิทัลฟุตปรินท์เป็นจุดเริ่มต้นที่ยอดเยี่ยมในการสนับสนุนกระบวนการนี้

การรักษาสิ่งแวดล้อม
Image by fxquadro on Freepik

Key Takeaway

สุดท้ายแล้ว 3 คีย์หลักของแนวคิดจะสมบูรณ์แบบได้ต้องมีครบทุกอย่างทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้นำธุรกิจ Sustainability อาจยังฟังดูน่ากลัว ดูน่าสับสน และอาจถูกมองว่านี่เป็นการหลุดจากเป้าหมายหลักของบริษัทในแง่ของผลกำไร แต่หากพูดถึงการจัดการเรื่องความยั่งยืนของธุรกิจอย่างชาญฉลาดก็ถือเป็นเทรนด์ที่กำลังมาและเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ต่อธุรกิจในระยะยาว ซึ่งกลยุทธ์ที่ฟอร์บส์ได้นำมาบอกเล่าวันนี้ก็น่าจะช่วยยกระดับธุรกิจคุณสู่สิ่งนี้ได้ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

Cover Image : Image by Freepik

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : 

https://www.forbes.com/sites/forbesbusinesscouncil/2023/02/06/sustainability-how-leaders-in-any-industry-can-make-a-difference/?sh=776038a058ec

https://www.activesustainability.com/sustainable-development/what-is-sustainability/?_adin=01742703305

เทรนด์ “รักษ์โลก” ส่องความเคลื่อนไหวบริษัทยักษ์ใหญ่ริเริ่มอะไรกันแล้วบ้าง

รักษ์โลก

จากที่เราได้พูดคุยกันถึงเรื่อง “มลพิษทางอากาศ” เรื่อยจนมาถึง “พลังงานหมุนเวียน” ผ่านเนื้อหาล่าสุดที่นำเสนอให้ได้อัพเดตกันในช่วงก่อนหน้านี้ เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงจะพอนึกภาพตามได้ว่ามีอะไรที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เรื่องของมลภาวะอันไม่พึงประสงค์ด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ซึ่งที่กล่าวมานี้ นอกจากกรณีศึกษาจากอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ทั้งหลายแหล่ เรื่องที่เราเคยพูดถึงไปอย่างระบบ AI ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเทรนด์ “รักษ์โลก” ซึ่งภายในเนื้อหาวันนี้ก็จะมีตัวอย่างยกให้เห็นกันแบบชัด ๆ เป็นโปรเจกต์ของแบรนด์ไอทีพี่เบิ้มระดับโลก อย่าง “ไมโครซอฟต์” ที่ปลุกปั้นกันมาตั้งแต่ปี 2017 แล้ว

“พลังงานหมุนเวียน” เทรนด์พลังงานหลักของโลกอุตสาหกรรมในอีกไม่ช้า
มลพิษทางอากาศ… “ตัวร้าย” ที่อุตสาหกรรมทั้งหลายไม่ควรมองข้าม

แต่ถ้าใครยังเห็นภาพไม่ชัดจริง ๆ ว่าเทรนด์นี้จะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง จะมีการตื่นตัวมากน้อยแค่ไหนในระดับโลก รวมถึงมียักษ์ใหญ่แบรนด์ใดที่เริ่มทำบางสิ่งบางอย่างกับธุรกิจของพวกเขา ไปพร้อม ๆ กับการดูแลโลกของพวกเราทุกคน บางทีเนื้อหาด้านล่างนี้อาจจะช่วยให้คุณได้สิ่งต่าง ๆ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ติดตามผ่านเนื้อหาทั้งหมดนี้ได้เลย..

รักษ์โลก

“พลังงานหมุนเวียน” กับ สองลูกรักของคนดัง “อีลอน มัสก์”

สำหรับใครที่เคยได้ยินข่าวของ อีลอน มัสก์ หนึ่งในสุดยอดนักธุรกิจที่เก่งกาจเรื่องวิศวกรรมเป็นหนึ่งในนักประดิษฐ์ตัวยง 

เจ้าแห่งอาณาจักร “SpaceX” และ “Tesla Motors” ถือเป็นคนดังในวงการอุตสาหกรรมที่ตื่นตัวกับสิ่งเหล่านี้เป็นคนแรก ๆ จะเห็นได้จากการเลือกใช้วัสดุเพื่อผลิตจรวดของสเปซเอ็กซ์ก็ดี หรือจะเป็นชิ้นสวนยานยนต์ รวมถึงระบบขับเคลื่อนที่บอกลาน้ำมันอันเป็นพลังงานสิ้นเปลืองของเทสล่า ทั้งสองสิ่งล้วนพิสูจน์ได้ดีว่าเทรนด์เหล่านี้ไม่ได้มาเล่น ๆ แน่นอน

เรื่องของความ “รักษ์โลก” พอจะมีแทรกซึมอยู่บ้าง แต่ถ้าจะให้ยกอีกตัวอย่างยักษ์ใหญ่ที่เอาจริงเอาจังด้านสิ่งแวดล้อม ดูเหมือนว่า “ไมโครซอฟต์” นั้นจะเด่นชัดสุด ซึ่งคุณสามารถพิจารณด้วยตัวเองได้จากเนื้อหานับแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป..

“AI for Earth” เกิดมาเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ จาก “ไมโครซอฟต์”

อย่างที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่าเรื่องของ AI (Artificial Intelligence) ไม่ได้มีส่วนแค่การเข้ามาช่วยให้การทำงานภายในอุตสาหกรรมง่ายและทันสมัยยิ่งขึ้น แต่ยังสามารถใช้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเหมือนอย่างที่ ไมโครซอฟต์ ทำกับสุดยอดโปรเจกต์นี้

สำหรับ “AI for Earth” ถูกปลุกปั้นมาตั้งแต่ปี 2017 จุดมุ่งหมายนั้นเน้นไปที่เรื่องของการนำนวัตกรรม AI และคลาวด์ของพวกเขามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงระบบนิเวศน์ต่าง ๆ ทางธรรมชาติ

รักษ์โลก
ไมโครซอฟต์ จริงจังมากแค่ไหนเรื่องรักษ์โลก?

ความเอาจริงเอาจังของยักษ์ใหญ่ด้านไอที หากนับจนถึงปัจจุบันแล้ว กว่า 236 โครงการใน 63 ประเทศทั่วโลก โดยมีแพลตฟอร์มชื่อ “ไมโครซอฟต์ อาซัวร์” เป็นคีย์แมนในการรวบรวมข้อมูล พวกเขาได้มีการพิจารณาและมอบทุนให้กับโครงการวิจัยเชิงสิ่งแวดล้อม 4 ด้ายหลักใหญ่ ได้แก่

  • เกษตรกรรม
  • ความหลากหลายทางชีวภาพ
  • ความแปรปรวนของสภาพอากาศ
  • ทรัพยากรน้ำ

ด้วยพลังด้านเงินทุนและความตั้งใจริ่เริ่มของ ไมโครซอฟต์ ได้รับการสานต่อจากสถาบันวิจัยต่าง ๆ โดยมีหนึ่งทีมวิจัยที่โดดเด่น คือ องค์กรการกุศลที่ชื่อว่า “Sustainable Coastlines”

Sustainable Coastlines คือใคร และบทบาทสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

Sustainable Coastlines คือ องค์กรไอดอลด้านรักษ์โลกจากประเทศนิวซีแลนด์ ที่สำคัญยังเป็นองค์กรการกุศลอีกด้วย พวกเขามีบทบาทเกี่ยวกับการทำงานเพื่อแก้ปัญหาขยะในท้องทะเลมากว่า 10 ปีแล้ว หากเป็นก่อนหน้านี้เรื่องดังกล่าวคงต้องลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยการเข้ามาของ AI ทำให้พวกเขากำเนิดโซลูชั่นที่ช่วยให้หลายภาคส่วนเข้าถึงปริมาณที่ถูกต้อง รวมถึงเข้าใจสถานการณ์ที่เกิด ตลอดจนถึงแนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขยะในอนาคต (โรงกลึงพี-วัฒน์ของเราก็พยายามศึกษาโปรเจกต์และกระบวนการทางวิศวกรรมต่าง ๆ ขององค์กรนี้อยู่เรื่อย ๆ เพื่อพยายามจะปรับใช้ให้เหมาะสมกับโรงกลึงของเราในพาร์ทของโซลูชั่นกำจัดของเสียเพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อม)

จากมันสมอง “นักคิดทั่วโลก” สู่ผลงานที่เป็นจริงด้วย “ไมโครซอฟต์ อาซัวร์”

มาถึงตรงนี้ต้องขอประทานอภัยด้วยที่เปิดตัว “ไมโครซอฟต์ อาซัวร์” ช้าไปเสียหน่อย ซึ่งนี่ก็คือชื่อของบริการ “คลาวด์” ที่หลายคนน่าจะรู้จักและใช้ไปกับธุรกิจสตาร์ทอัพเสียมากกว่า แต่กับโปรเจกต์ “AI for Earth” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าสิ่งนี้ทำประโยชน์เพื่อโลกใบนี้ได้มากกว่าแค่เรื่องธุรกิจ

จากทีม Sustainable Coastlines ที่ดูแลเรื่องท้องทะเล หรือจะเป็น Wild Me องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ปกป้องติดตามสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งบางชนิดมีผลต่อระบบนิเวศน์โดยตรง ก็สามารถใช้ AI และข้อมูลจากคลาวด์เพื่อติดตาม ระบุตัวตนได้อย่างแม่นยำ

รักษ์โลก

เรื่อยจนมาถึงเรื่องของการเกษตร ผลงานอันโดดเด่นเห็นชัดสุดเป็นของ FarmBeats ที่ปรับใช้ด้วยการเลือกเอาอุปกรณ์เซนเซอร์ต่าง ๆ ใช้เพื่อเก็บข้อมูลจากพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งความละเอียดนั้นบ่งบอกได้ครบถ้วนทุกกระบวนการ ไล่ตั้งแต่ การตรวจวัดความชื้น สาอาหารต่าง ๆ อุณหภูมิหน้าดิน ภาพถ่ายทางอากาศ ข้อมูลของสภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ 

ก่อนจะนำทุกอย่างมาวิเคราะห์ สรุปออกมาได้เป็นคำแนะนำช่วยให้เกษตรกรสามาถวางแผนการเพาะปลูก ตลอดจนการกะระยะเวลาวางแผนเก็บเกี่ยวได้เหมาะสมเพื่อผลผลิตที่ดีที่สุดซึ่งล้วนได้มาความอัจฉริยะของการประมวลของระบบ AI อย่างแม่นยำ

ทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งตอกย้ำว่าเทรนด์ “รักษ์โลก” ต้องควบคู่ไปกับการทำธุรกิจไม่ว่าคุณจะอยู่ในอุตสาหกรรมแขนงใดก็ตาม เพราะขนาดที่ว่าสองบริษัทที่มีมีมูลค่าสูงระดับท็อปของโลกยังให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมากถึงเพียงนี้ ก็แทบจะไม่มีเหตุผลอะไรแล้วที่พวกเราจะไม่ดำเนินรอยตาม..

มลพิษทางอากาศ… “ตัวร้าย” ที่อุตสาหกรรมทั้งหลายไม่ควรมองข้าม

มลพิษทางอากาศ

ยังฟังแล้วรู้สึกคุ้น ๆ กันอยู่บ้างมั้ย.. กับคำว่า “PM 2.5”

เผื่อใครที่อาจจะลืมเลือนกันไปบ้าง เนื่องจากช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาโดนพิษการระบาดของ โควิด-19 ที่ทำตัวหิวแสงกว่าใคร แย่งสปอตไลท์ไปส่องที่ตัวมันเองเสียหมด จนกดเรื่องของ “มลพิษทางอากาศ” ให้ตกลงไปเล็กน้อย 

ทั้งที่ก่อนการมาของโคโรน่าไวรัสนี่เป็นประเด็นใหญ่ที่แผ่ไกลไปทั่วโลก โดยมีประเทศตัวอย่าง อาทิ จีน นำทัพโดย เซี่ยงไฮ้ นิวเดลี ของ อินเดีย แย่ที่สุดเป็น ซาอุดิอาระเบีย ที่มีค่าเฉลี่ยอาการเป็นพิษมากที่สุดในโลก ไม่เว้นแม้แต่บ้านเราที่ส่ง กรุงเทพฯ และ เชียงใหม่ สองเมืองใหญ่เข้าประกวด

เรียกได้ว่าประเทศไทย การใส่หน้ากากใช้ชีวิตประจำวันนั้นมาก่อนกาล หน้ากากที่ไม่ได้มีแค่เพียงหน้ากากอนามัย มีอีกหลายแบบที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะถ้ามีคุณสมบัติป้องกัน PM 2.5 ก็จะขายดีเป็นพิเศษ 

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นมาจากปัญหาภาวะโลกร้อน โดยมีเรื่องของ “อุตสาหกรรม” ที่หลายแขนงหลายแห่งก่อนหน้านี้มุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจ จนลืมฉุกคิดไปว่าวันแย่ ๆ ที่หลายสถานที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่นี้จะเดินทางมาถึง และกลายเป็นหนึ่งวาระที่ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องเดินหน้าศึกษาค้นคว้า สร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นมีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดสิ่งนี้น้อยที่สุดแล้วด้วยซ้ำ

มลพิษทางอากาศ

มลพิษทางอากาศ เลวร้ายแค่ไหนในปัจจุบัน ?

คุณเชื่อมั้ยว่า อัตราการเสียชีวิตของคนทั่วโลกที่มีผลมาจากมลพิษทางอากาศทั้งทางตรง ทางอ้อมมีมากถึง 4.2 ล้านคนต่อปี! และยังไม่หมดแค่นั้น.. มีผู้คนอีกมากมายเกินกว่า 91% ของประชากรโลกต้องอาศัยอยู่ในสถานที่ที่คุณภาพอากาศนั้นเกินขีดจำกัดมาตรฐานบนแนวทางของ WHO ที่ไม่ได้แปลว่าใคร.. แต่หมายถึงองค์กรอนามัยโลก ผู้ที่เก็บรวบรวมข้อมูลสถิติอันสุดจัดของความเลวร้ายของมลพิษทางอากาศที่คนทั่วโลกต้องทนอยู่กับมันในเวลานี้

จากที่ได้เกริ่นเอาไว้ช่วงต้น ที่เราได้บอกว่าตอนนี้ผลแห่งการกระทำจากภาคอุตสาหกรรมทั้งหลาย ที่แม้จะรังสรรค์คุณงามความดีเอาไว้มากมาย ช่วยเปลี่ยนโลกด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับเครื่องจักรที่เนรมิตหลายสิ่งอย่างที่เป็นไปได้ยากในยุคก่อน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่านี่ก็เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศเกินคนานับเช่นกัน

แนวทางการแก้ปัญหา มลพิษทางอากาศ..

ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีผู้คนมากมายเริ่มตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ รวมถึงโรงกลึงพี-วัฒน์เช่นกันที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังมาโดยตลอด และนับว่าเป็นความโชคดีต่อมวลมนุษยชาติที่มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ทำงานเพื่อปกป้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แถมองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ริเริ่มที่จะทำงานภายใต้ข้อจำกัดด้านสุขภาพและการควบคุมมลภาวะที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตหลัก ๆ ก็คือมนุษย์อย่างเรา ๆ จนเกิดเป็นโครงการที่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา ได้พัฒนาโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อปัญหามลพิษทางอากาศและด้านอื่น ๆ เรียกว่าเป็นแสงสว่างแห่งปลายทางของเรื่องนี้เลยก็ว่าได้

มลพิษทางอากาศ

โครงการด้านสิ่งแวดล้อม “มลพิษทางอากาศ” ที่น่าสนใจ

1. เครื่องดูดฝุ่นมลพิษ (Pollution Vacuum Cleaner)

แนวคิดเครื่องดูดฝุ่นมลพิษ คือ การดูดสิ่งปนเปื้อนออกจากอากาศ พัฒนาโดยวิศวกรเครื่องกลชาวอินเดีย โดยหลักการทำงานของเจ้าเครื่องนี้จะดูดเอาสารมลพิษไปพร้อม ๆ กับอากาศก่อนที่จะปล่อยอากาศบริสุทธิ์แบบเพียว ๆ หลังจากผ่านทุกขั้นตอนการกรองโดยสมบูรณ์ ซึ่งเครื่องนี้สามารถใช้ติดตั้งใกล้กล่องปล่องไฟและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าต่าง ๆ เพื่อลดควันในอากาศที่จะก่อตัวไปเป็นมลพิษ

2. เชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากมลพิษ (Hydrogen Fuel from pollutants)

เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากสำหรับการแยกก๊าซไฮโดรเจนออกจากอากาศ โดยในโครงการนี้นักเรียนนักศึกษาได้พัฒนาอุปกรณ์ฟอกอากาศจากการเจือปนของสารอินทรีย์ อุปกรณ์นี้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะมีเมมเบรนบาง ๆ เพื่อดึงดูดสารปนเปื้อนและเอาอากาศบริสุทธิ์ออกมา ที่สำคัญไฮโดรเจนที่สกัดออกมาสามารถเก็บไว้เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจนในภายหลังอีกด้วย

3. AI สำหรับ มลพิษทางอากาศ (Air Pollution AI Framework)

เจ้าเครื่องนี้สามารถใช้เพื่อเป็นการคาดคะเนระดับหมอกควันเพื่อหาแนวทางป้องกันก่อนที่จะเผชิญกับกรณีที่อาจมีการปนเปื้อนมากยิ่งขึ้น รังสรรค์โดยนักเรียนระดับไฮสคูลจากนิวยอร์ค โครงสร้างของอุปกรณ์นี้เป็นโครงการที่คาดการณ์จากระดับมลพิษทางอากาศ โดยใช้โครงข่ายปราสาทเทียม ความเจ๋งคือเครื่องมือที่ติดตั้ง AI ตัวนี้คาดการณ์ได้แม่นยำถึง 92%

4. ปืนป้องกันหมอกควัน (Anti-smog gun)

อันนี้เป็นคนละหลักกับการปล่อยรถฉีดน้ำเพื่อลดระดับฝุ่น PM 2.5 ของบางประเทศแถบนี้.. เจ้าปืนป้องกันหมอกควันถือเป็นหนึ่งวิธีที่ให้ประสิทธิภาพในการกำจัดมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีหมอกควันหนาแน่น หลักการทำงานคือปืนจะพ่นไอระเหยขึ้นไปในอากาศเพื่อดูดซับสารพิษ แม้จะเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ก็ต้องบอกว่าตรงจุดและชะลออันตรายจากสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นช้าลงอีกหน่อย

5. แอร์อิงค์ (Air-Ink)

เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่น่าสนใจ มีความคิดสร้างสรรค์อันดับต้น ๆ ของโครงการเลย เราสามารถเชื่อมต่อ KAALINK (ชื่ออุปกรณ์) กับท่อไอเสียรถยนต์ เพื่อดึงหมึกออกจากควันเชื้อเพลิง ซึ่งเจ้าเครื่องนี้เคลมว่าดึงหมึก 30 มล. ภายใน 45 นาที ภายในระยะเวลาที่คุณขับรถ ส่วนหมึกที่ได้จากเครื่องนี้ก็ต้องถูกนำไปทำให้บริสุทธิ์ในห้องปฏิบัติการเพื่อจะได้นำไปใช้งานต่อไป

สานต่อสิ่งดี ๆ เพื่อโลก สู่อุตสาหกรรมที่ยั่งยื่น

มลพิษทางอากาศ

ในวันที่เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกเต็มไปด้วยหมอกควันมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ก็ยังมีสิ่งดี  ๆ ที่เกิดขึ้นจากการฟิวชั่นของความชาญฉลาดและรักษ์โลกของคนยุคปัจจบัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการรวบรวมมากจากเว็บไซต์ EcoMENA โดยเป็นโครงการที่น่าสนใจเพื่อช่วยขจัดอันตรายของมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และหวังว่าหากนำมาใช้งานจริงจะช่วยลดมลพิษทางกาศให้เบาบางลงได้ตามที่คาดหวัง

อย่างไรก็ตาม การร่วมมือกันของทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อวงจรนี้ และแน่นอนรวมถึงโรงกลึงพี-วัฒน์ของเราด้วย เราจึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อส่งต่อปรัชญาด้านธุรกิจที่นอกจากจะเน้นย้ำเรื่องความเป็นมืออาชีพ นำเสนอชิ้นงาน การบริการด้วยมาตรฐานระดับสากล เรื่องความการ “รักษ์โลก” เป็นอีกสิ่งนึงที่ทำควบคู่มาโดยตลอดอยู่เสมอ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลดี ๆ มา ณ ที่นี้ :

https://www.ecomena.org/environmental-impacts-of-industrialization

https://www.plt.org/educator-tips/science-projects-pollution

https://www.weforum.org/agenda/2017/02/the-best-and-worst-countries-for-air-pollution-and-electricity-use