พลังงานไฮโดรเจน พลังงานแห่งอนาคต (จริง ๆ หรอ ?)

พลังงานไฮโดรเจน

หากพูดถึงพลังงานแห่งอนาคตเชื่อว่าต้องมีลิสต์ของ พลังงาน ไฮโดรเจน ติดอันดับอยู่ด้วยอย่างแน่นอน เพราะเป็นอีกแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพและสามารถตอบโจทย์ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดีอีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นำไปสู่การสร้างมลพิษในอากาศได้อีกด้วย ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากไฮโดรเจนสามารถสังเคราะห์ได้จากวัตถุดิบทางธรรมชาติหลายแหล่งด้วยกัน

พลังงานไฮโดรเจน
Image by freepik

ประโยชน์ของการเลือกใช้ พลังงานไฮโดรเจน

อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า การเลือกใช้ ไฮโดรเจน มาเป็น พลังงานทดแทน เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ทางด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีอีกทางหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาวะโลกร้อนแล้วก็ยังมีประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อีกหลายด้านด้วยกัน ดังนี้

ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การใช้ไฮโดรเจนมาเป็นเชื้อเพลิงจะช่วยลดการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และ ก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ เพราะการผลิตไฮโดรเจนจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม สามารถเปลี่ยนให้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานที่สะอาดและรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

ประสิทธิภาพสูง

เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Fuel Cell) มีประสิทธิภาพที่สูงในการแปลงพลังงานเคมีเป็นพลังงานไฟฟ้า ทำให้สามารถนำมาใช้ในงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังลดการสูญเสียพลังงานในกระบวนการผลิตและการใช้งานได้อีกด้วย

ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล

การใช้ไฮโดรเจนมาเป็นพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล สามารถช่วยลดการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดได้ อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบจากการขุดเจาะและการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและดินได้อีกด้วย

การผลิตคาร์บอนลดลง

ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจนที่ไม่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอน เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนในการแยกน้ำด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) ซึ่งสามารถทำให้ได้ไฮโดรเจนที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การจัดเก็บและการขนส่ง

ไฮโดรเจนสามารถถูกจัดเก็บและขนส่งได้ง่ายในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ก๊าซ ไฮโดรเจนเหลว หรือสารประกอบทางเคมีอื่น ๆ ซึ่งช่วยให้การใช้งานไฮโดรเจนสามารถทำได้สะดวกในหลากหลายรูปแบบตามสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่าง ๆ

สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด

การลงทุนและการวิจัยในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยี ไฮโดรเจน สามารถช่วยกระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิตและการใช้งานไฮโดรเจน , การพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น รวมไปถึงการปรับปรุงกระบวนการผลิตไฮโดรเจนให้มีต้นทุนที่ต่ำลง เป็นต้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นทำให้ พลังงานไฮโดรเจน ถือว่าเป็นพลังงานแห่งอนาคต ที่มีศักยภาพสูงอย่างมากในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์ด้านการพัฒนาให้เป็นไปได้อย่างยั่งยืน

แหล่งไฮโดรเจน ที่สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานทางเลือก

การเลือกใช้ไฮโดรเจนมาเป็นพลังงานทางเลือก นั้นสามารถเลือกแหล่งที่นำมาสังเคราะห์จากวัตถุดิบทางธรรมชาติได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งในส่วนของแหล่งวัตถุดิบทางธรรมชาติที่จะนำมาสังเคราะห์นั้น มีแหล่งที่มาหลัก ๆ รวมไปถึงมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไปดังนี้

การแยกน้ำด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) 

ใช้พลังงานไฟฟ้าในการแยกน้ำ (H2O) ออกเป็นไฮโดรเจน (H2) และออกซิเจน (O2) ซึ่งถ้าหากใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม กระบวนการนี้จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์ได้ดีที่สุด

พลังงานไฮโดรเจน
Image by pvproductions on Freepik

การปฏิรูปก๊าซธรรมชาติ (Steam Methane Reforming – SMR)

กระบวนการนี้จะใช้ไอน้ำทำปฏิกิริยากับก๊าซมีเทน (CH4) จากแหล่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อนำมาผลิตไฮโดรเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กระบวนการนี้ถือว่าเป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุดในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ด้วย

การปฏิรูปชีวมวล (Biomass Reforming)

ใช้ชีวมวล เช่น เศษไม้ เศษพืช หรือขยะอินทรีย์ มาผ่านกระบวนการแยกไฮโดรเจน วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณขยะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่ทั้งนี้กระบวนการผลิตก็ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนายังไม่สมบูรณ์

การใช้พลังงานนิวเคลียร์ (Nuclear Hydrogen Production)

ใช้พลังงานความร้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในการผลิตไฮโดรเจนผ่านกระบวนการอิเล็กโทรลิซิสหรือกระบวนการเคมีความร้อน (Thermochemical Processes) วิธีนี้สามารถผลิตไฮโดรเจนได้ในปริมาณมากแต่มีข้อจำกัดในเรื่องของความปลอดภัยและการจัดการของเสียที่ได้จากนิวเคลียร์

การใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยตรง (Photoelectrochemical Water Splitting)

ใช้แสงอาทิตย์ในการแยกน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนผ่านกระบวนการทางเคมี ซึ่งวิธีนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย แต่ถ้าหากประสบผลสำเร็จก็จะเป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพสูงมากเลยทีเดียว

การใช้จุลินทรีย์และสาหร่าย (Biological Hydrogen Production)

ใช้จุลินทรีย์หรือสาหร่ายในการผลิตไฮโดรเจนผ่านกระบวนการทางชีวเคมี เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ส่งผลดีต่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สูงมาก แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องการการพัฒนาเพิ่มเติม

มีเมื่อพร้อม.. หรือพร้อมเมื่อมี ?

แต่ละแหล่งพลังงานและวิธีการสังเคราะห์ต่าง ๆ ที่กล่าวไปนั้นล้วนมีศักยภาพรวมไปถึงความเหมาะสมที่ต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม ทรัพยากรที่มีอยู่ และเทคโนโลยีที่ใช้ ซึ่งถ้าหากเลือกใช้แหล่งไฮโดรเจน ที่มีความเหมาะสมก็จะช่วยทำให้การผลิต พลังงานไฮโดรเจน เพื่อนำมาเป็นพลังงานทางเลือกทดแทนสามารถดำเนินไปได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเลยทีเดียว

เห็นแบบนี้แล้ว.. ทำให้ โรงกลึง พีวัฒน์ของเรานอกจากจะกำลังติดตามกระแสนิยมและความเป็นไปได้ของการนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ขับเคลื่อนรถยนตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาคการขนส่งแล้ว คราวนี้ยิ่งทำให้ตื่นเต้นไปใหญ่ หากโลกของเรามีพลังงานหลายรูปแบบให้เลือกใช้ทดแทนกันและกันได้ แน่นอนหากพังงานไฮโดรเจนนี้เกิดขึ้นจริงและจับต้องได้ โรงกลึงของเราก็จะนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับงาน เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจและระบบอุตสาหกรรม

Cover Image : Image by wirestock on Freepik

รักษ์โลกแบบยั่งยืน ทำความรู้จัก พลังงานทางเลือก ที่วันนี้ต้องเลือกได้แล้ว !

พลังงานทางเลือก

เราจะสังเกตเห็นได้ว่าสภาวะแวดล้อมของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก เริ่มต้นจากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิความร้อนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนน่ากลัว อย่างประเทศไทยของเราหรือประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในละแวกเส้นศูนย์สูตรเดียวกัน ปีนี้ก็เจอความร้อนระอุระดับ 45-50 องศาเซลเซียสกันก็มีมาแล้ว และมีผลกระทบในวงกว้างไปจนถึงมีภัยพิบัติเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ หรือน้ำท่วม รวมไปถึงการสูญพันธุ์ของสัตว์ต่าง ๆ ที่ปรับตัวไม่ทัน ทำให้หลายประเทศทั่วโลก ต่างหันมาให้ความสำคัญกับ พลังงานทดแทน ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้เป็น พลังงานทางเลือก กันเพิ่มมากขึ้น เพราะต่างมีความคิดเห็นที่ตรงกันว่าจะสามารถช่วยทำให้โลกพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน และในบทความนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักพลังงานทางเลือกในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้แทนพลังงานหลักในปัจจุบันที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน เพื่อลดผลกระทบที่เริ่มรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ว่ามีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลย

พลังงานทางเลือก
Image by freepik

พลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก ..ที่เราต้องเลือกกันได้แล้ว !!!

  1. พลังงานแสงอาทิตย์ : การใช้พลังงานจากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าใช้ในครัวเรือน หรือภาคอุตสาหกรรม โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์เป็นตัวเปลี่ยนพลังงาน เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
  2. พลังงานลม : การใช้ลมเข้ามาช่วยในการผลิตไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากเป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด อีกทั้งยังเป็นพลังงานสะอาดอีกด้วย
  3. พลังงานน้ำ : น้ำ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังเป็นแหล่งพลังงานที่เราสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งจะอาศัยรูปแบบการเปลี่ยนแปลงพลังงาน โดยการนำน้ำจากในเขื่อนมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า
  4. พลังงาน BIOMASS (ชีวมวล) : เป็นพลังงานทางเลือกธรรมชาติ ที่ส่วนใหญ่ได้มาจากเศษจากกระบวนการผลิตทางการเกษตร หรือภาคอุตสาหกรรม เช่น ซากพืช ซากสัตว์ หรือก๊าซจากขยะต่าง ๆ จากนั้นนำมาผลิตเป็นพลังงานความร้อน หรือผลิตไฟฟ้า รวมไปถึงผลิตเป็นพลังงานเชื้อเพลิงได้อีกด้วย
  5. พลังงานจากความร้อนใต้ดิน : การใช้ความร้อนจากใต้ดิน สามารถนำมาผลิตเพื่อทำประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น เป็นแหล่งความร้อนเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับชุมชน หรือนำมาใช้ประโยชน์กับภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น 
พลังงานทางเลือก
พลังงาน BIOMASS หรือชีวมวล Image by frimufilms on Freepik

การเลือกใช้ พลังงานทางเลือก มีความสำคัญต่อการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านมลพิษ หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่สามารถช่วยลดการเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และสร้างสังคมที่ยั่งยืนได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

พลังงานทางเลือก มีประโยชน์อย่างไร

นอกจากการนำพลังงานทางเลือกรูปแบบต่าง ๆ มาใช้เพื่อลดผลกระทบที่รุนแรงของสภาวะแวดล้อมแล้ว ก็ยังมีประโยชน์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งต่อสิ่งแวดล้อม หรือ ปัจจัยด้านสังคม ก็ตาม ดังนี้

  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก : การใช้พลังงานทางเลือกสามารถช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงจากแหล่งที่มีการสร้างมลพิษและปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เช่น น้ำมันหรือถ่านหิน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
  • ลดค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงาน : การใช้พลังงานทางเลือกสามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตพลังงานลงได้ เนื่องจากแหล่งพลังงานทางเลือกจะมีต้นทุนในการดำเนินงานและการบำรุงรักษาที่ต่ำกว่า
  • สร้างงานและเพิ่มการลงทุน : การลงทุนในพลังงานทางเลือกสามารถสร้างงานใหม่และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลิตแผงโซลาร์เซลล์ หรือติดตั้งเครื่องกำเนิดพลังงานลม เป็นต้น
  • ลดความต้องการของพลังงานนิวเคลียร์ที่สูงขึ้น : การใช้พลังงานทางเลือกสามารถลดความต้องการในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ได้ดีขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยและมลพิษที่เกิดขึ้นจากการเก็บรังสีนิวเคลียร์
  • สร้างความมั่นคงในการผลิตพลังงาน : การผลิตพลังงานจากแหล่งที่ไม่ใช่น้ำมัน หรือแก๊สธรรมชาติ สามารถลดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก อีกทั้งยังช่วยทำให้การจัดหาพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
  • สร้างเสถียรภาพเชิงเทคโนโลยี : การพัฒนาและใช้ พลังงานทางเลือก สามารถช่วยส่งเสริมการเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องได้ เช่น การพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เป็นต้น
พลังงานทางเลือก
Image by freepik

ข้อจำกัดของการใช้พลังงานทางเลือก มีอะไรบ้าง ?

แม้ว่าการใช้พลังงานทางเลือกจะมีประโยชน์มากมาย ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม และสังคมก็ตาม ก็ยังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่างในการพิจารณาเลือกนำมาใช้งานด้วยเช่นกัน ดังนี้

  • ความเหมาะสมในบางพื้นที่ : พื้นที่ต่าง ๆ อาจจะมีความเหมาะสมที่จะใช้งานพลังงานทางเลือกได้อย่างมีประสิทธิภาพแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น การใช้พลังงานลมในพื้นที่ ที่มีลมในปริมาณไม่มากพอ ก็อาจจะทำให้ไม่ได้รับผลดีเท่าที่ควร เป็นต้น
  • ความเสี่ยงต่อสภาพอากาศ : พลังงานทางเลือกในบางแห่งจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเป็นหลัก เช่น การใช้พลังงานน้ำ ที่อาจมีปริมาณไม่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า หรือถ้าหากท้องฟ้ามืดครึ้ม ก็ทำให้มีแสงอาทิตย์ที่ไม่เพียงพอ เป็นต้น
  • ความผันผวนของการผลิต : บางแหล่งพลังงานทางเลือกมีความผันผวนต่อกระบวนการผลิตสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการจัดหาพลังงาน
  • ความต้องการของพื้นที่ : บางแหล่งพลังงานทางเลือกอาจต้องใช้พื้นที่มาก เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ หรือก่อสร้างเขื่อน เป็นต้น
  • ความยุ่งเหยิงในการบริหารจัดการ : บางรูปแบบของพลังงานทางเลือกอาจมีความซับซ้อนในการบริหารจัดการ เช่น การบริหารจัดการระบบจัดเก็บ หรือการจำหน่ายพลังงานที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์
  • ต้นทุนเริ่มต้นสูง : การลงทุนในพลังงานทางเลือกอาจมีต้นทุนเริ่มต้นที่สูงกว่าการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานที่มีการใช้งานมาแล้ว เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานลม หรือแสงอาทิตย์
พลังงานทางเลือก
Image by HelloDavidPradoPerucha on Freepik

Keys Takeaway

แม้ว่าการเลือกใช้พลังงานทางเลือกจะมีประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมในหลายด้าน แต่ก็มีข้อจำกัดอีกหลายประการที่ต้องคำนึงถึงอยู่ด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ถ้าหากทุกหน่วยงาน ร่วมมือกันก็จะช่วยทำให้โลกของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือพลังงานทางเลือกจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยรักษ์โลกได้อย่างยั่งยืน และช่วยทำให้ในอนาคตมีพลังงานสะอาดในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

Cover Image : Image by freepik

Sustainability : กลยุทธ์ “การรักษาสิ่งแวดล้อม” สู่ความเป็นผู้นำในธุรกิจ?

การรักษาสิ่งแวดล้อม

เทรนด์โลกที่เกี่ยวข้องกับการตระหนักถึงเรื่อง “การรักษาสิ่งแวดล้อม” กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก และมักจะได้ยินบริษัทชั้นนำปล่อยแคมเปญมากมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ Sustainability หรือที่พากย์ไทยได้ว่า “ความยั่งยืน” โดยที่เราจะมาแชร์วันนี้เป็นเนื้อหาที่มาจาก Forbes สื่อการเงินยักษ์ใหญ่ที่พูดถึงเรื่องนี้ในหลายแง่มุมเอาไว้อย่างน่าสนใจ และน่าจะช่วยยกระดับของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจของคุณได้ในระยะยาว

สำหรับผู้นำทางธุรกิจหลาย ๆ คน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ประเด็นหลัก รวมถึงเรื่องของความยั่งยืนอาจเป็นหัวข้อที่ซับซ้อนและน่ากลัว แต่จริง ๆ นั้นยังมีหลายขั้นตอนที่ปฏิบัติได้จริง แล้วก็ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด บริษัทต่าง ๆ โรงงาน โรงกลึงทั่วไปสามารถดำเนินการเพื่อจัดการกับความยั่งยืนไปพร้อมกับความก้าวหน้า ซึ่งเป็นย่างก้าวที่น่าสนใจและอาจเป็นเหตุผลที่จะผลักดันให้หลาย ๆ ธุรกิจก้าวไปข้างหน้าได้มั่นคงกว่าเดิม

การรักษาสิ่งแวดล้อม
Image by Freepik

เปลี่ยนคำคาดการณ์ Sustainability ให้เป็นโครงการที่ทำได้จริง

ที่ผ่านมาบริษัทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้รับมอบหมายจากนักลงทุนและรัฐบาลให้คำนวณผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีเหตุผลที่จะสันนิษฐานว่า “ความยั่งยืน” กำลังกลายเป็นประเด็นหลักในการพิจารณาสำหรับผู้บริโภคตลอดจนธุรกิจอื่น ๆ เมื่อพวกเขาเลือกผลิตภัณฑ์และคู่ค้า

จากการศึกษาของ CapGemini ความชอบของผู้บริโภคสำหรับผลิตภัณฑ์และแบรนด์ที่ยั่งยืนนั้นแข็งแกร่ง ผู้บริโภคส่วนใหญ่กว่า 64% กล่าวว่าการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนทำให้พวกเขารู้สึกมีความสุข มี 79% กำลังเปลี่ยนความต้องการซื้อโดยคำนึกถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยผู้บริโภค 8 ใน 10 กำลังตัดสินใจเลือกซื้อโดยคำนึงถึงความยั่งยืน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดนี้นั้นตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

จากตัวเลขสู่จุดเริ่มต้นที่เป็นไปได้

เปอร์เซนต์ของข้อมูลดังกล่าว ได้เปลี่ยนถ้อยคำซ้ำซากจำเจที่ว่า “เราทุกคนมีพลังที่จะสร้างความแตกต่าง” ให้เป็นความพยายามร่วมกันของกลุ่มคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกที่ยั่งยืนมากขึ้น

สิ่งที่เห็นชัดคือบริษัทต่าง ๆ มีบทบาทร่วมกัน และจุดเริ่มต้นที่ดีเป็นการนำกรอบความคิดทั่วทั้งบริษัทมาใช้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาได้อย่างไร แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถเกิดผลได้หากมีการร่วมมือกันและทำมันอย่างสม่ำเสมอ มีข้อมูลล่าสุดว่าการดำเนินโครงการริเริ่มเกี่ยวกับความยั่งยืนทำให้บริษัทต่าง ๆ นั้นลดการปล่อยมลพิษตามข้อตกลงของ Paris Climate Accord ถึง 60%

3 กลยุทธ์ Sustainability “การรักษาสิ่งแวดล้อม” ผ่านกระบวนการอุตสาหกรรม

ข้อมูลที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงแค่น้ำจิ้มเท่านั้น หากคุณอยากดำเนินตามแนวทางที่จะช่วยให้ธุรกิจเข้าสู่ความยั่งยืนและเคร่งครัดต่อ การรักษาสิ่งแวดล้อม มากยิ่งขึ้น โครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรปรับปรุง พัฒนา และจากบรรทัดนี้ต่อไปเป็นกลยุทธ์ที่ Forbes มองว่าเป็นสิ่งเริ่มต้นที่จำเป็น

การรักษาสิ่งแวดล้อม
Image by frimufilms on Freepik

มุ่งมั่นสู่การทำงานจากระยะไกล (Remote Work)

นี่คือยุคสมัยแห่ง “Remote Work” แม้จะยังเป็นสิ่งที่ผู้นำทางธุรกิจไม่ค่อยแน่ใจนัก แต่ความต้องการจากพนักงานนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จำนวนงานทางไกลที่ลงโฆษณาในสหรัฐฯ ลดลงเหลือเพียง 14% ในเดือนกันยายน เทียบกับ 1 ใน 5 ของงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 มีรายงานว่าผู้สมัครเพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น 52% ในเดือนดังกล่าว เรียกว่าโอกาสการจ้างงานแบบ Remote Work ก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องหากยึดตามสถิติตัวเลขนี้

ต้องบอกว่าความต้องการของพนักงานเป็นตัวกระตุ้นที่แข็งแกร่งสำหรับธุรกิจในการพิจารณาการทำงานแบบรีโมทเวิร์ค โดยเฉพาะหากพูดถึงเรื่องความยั่งยืนของสังคมบนพื้นฐานสภาพแวดล้อม การทำงานลักษณะนี้ส่งผลดีต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบริษัทด้วยการลดใช้พลังงานและของเสียให้เหลือน้อยที่สุด

การรักษาสิ่งแวดล้อม
Image by rawpixel.com on Freepik

ยิ่งตัวเลขของสถิติเร็ว ๆ นี้พบว่าการทำงานแบบรีโมทเวิร์คเป็นเวลาสี่วันต่อสัปดาห์สามารถลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ได้ 10% รวมถึงการปล่อยก๊าซส่วนตัวต่อบุคคุลได้ถึง 80% นอกจากนี้ แบบจำลองสถานที่ทำงานเสมือนจริงยังสามารถปรับปรุงสภาพการจราจรท้องถิ่นโดยลดการเดินทาง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาว่าการขนส่งเป้นแหล่งกำเนิดมลพิษคาร์บอนอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา

ยกระดับความตั้งใจ ลดการเดินทางเพื่อธุรกิจ

การเดินทางทางอากาศคิดเป็น 2% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก การเดินทางเพื่อธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกบริษัทนั้นล้วนมีบทบาทในปัญหานี้

นับแค่ในปี 2019 แค่บริษัท Saleforce เพียงอย่างเดียวก็สร้าง CO2 มากถึง 146,000 เมตริกตัน แต่เมื่อมีกระแสเรื่องของการจัดการเกี่ยวกับ Sustainability ตัวเลขนี้ลดลงถึง 86% แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่สำคัญต่อแนวทางเรื่องการเดินทางเพื่อธุรกิจ เพียงแค่รอบคอบมากขึ้นก็สร้างประโยชน์เพิ่มได้แล้ว เป็นเรื่องที่ผู้นำของธุรกิจต้องแสดงถึงความตั้งใจและใช้กับเรื่องที่จำเป็นจริง ๆ

สร้างสถานะ “ดิจิทัล” ที่ยั่งยืน

แท็กของบุคคลที่สามบนเว็บไซต์ (Third-Party) นั้นให้ข้อมูลและบริการที่มีค่าสำหรับทั้งธุรกิจและลูกค้าของคุณ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เว็บไซต์ของคุณนั้นทำให้คอมพิวเตอร์ของพวกเขานั้นทำงานหนัก… ถึงเวลาที่ต้องปรับแล้ว!

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับอินเทอร์เนตที่เราใช้นั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกถึง 3.7% การจัดการแท็กที่ซ้ำกัน การประเมินและจำกัดแอพพลิเคชั่นเธิร์ดปาร์ตี้ที่ไม่จำเป็นเพื่อลดภาระ รวมถึงการออกแบบหน้าเว็บไซต์ให้ยูสเซอร์ “ใช้งานง่าย” (User Friendly) วิธีการต่าง ๆ เหล่านี้สามารถยกระดับประสบการณ์ของผู้บริโภคได้อย่างมาก และยังเป็นการช่วยลดดิจิทัลฟุตปรินท์ของบริษัทคุณ โดยทาง Forbes แนะนำเครื่องมือฟรีอย่าง taginspector.com เป็นสเตปแรกหากคุณอยากเริ่มต้นศึกษาเรื่องนี้

นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพบนเว็บไซต์ บริษัทต่าง ๆ ยังสามารถปลี่ยนการใช้จ่ายค่าโฆษณาโดยการจัดลำดับความสำคัญเพื่อก้าวสู่กระบวนการนี้ได้ จากการศึกษาในปี 2018 พบว่าโฆษณาออนไลน์คิดเป็น 10% ของการใช้พลังงานอินเทอร์เนต หากต้องการเข้าสู่ยุคใหม่ ยุคที่ต้องใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม การมุ่งเน้นเพื่อลดดิจิทัลฟุตปรินท์เป็นจุดเริ่มต้นที่ยอดเยี่ยมในการสนับสนุนกระบวนการนี้

การรักษาสิ่งแวดล้อม
Image by fxquadro on Freepik

Key Takeaway

สุดท้ายแล้ว 3 คีย์หลักของแนวคิดจะสมบูรณ์แบบได้ต้องมีครบทุกอย่างทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้นำธุรกิจ Sustainability อาจยังฟังดูน่ากลัว ดูน่าสับสน และอาจถูกมองว่านี่เป็นการหลุดจากเป้าหมายหลักของบริษัทในแง่ของผลกำไร แต่หากพูดถึงการจัดการเรื่องความยั่งยืนของธุรกิจอย่างชาญฉลาดก็ถือเป็นเทรนด์ที่กำลังมาและเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ต่อธุรกิจในระยะยาว ซึ่งกลยุทธ์ที่ฟอร์บส์ได้นำมาบอกเล่าวันนี้ก็น่าจะช่วยยกระดับธุรกิจคุณสู่สิ่งนี้ได้ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

Cover Image : Image by Freepik

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : 

https://www.forbes.com/sites/forbesbusinesscouncil/2023/02/06/sustainability-how-leaders-in-any-industry-can-make-a-difference/?sh=776038a058ec

https://www.activesustainability.com/sustainable-development/what-is-sustainability/?_adin=01742703305