ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป…เมื่อโลกนี้มีบริการ “ทัวร์อวกาศ” ของจริง!

ทัวร์อวกาศ

“อวกาศ” คำสามพยางค์ที่เขียนสั้นนิดเดียวแต่ความหมายนั้นกว้างใหญ่ไพศาลเหลือเกิน และหากย้อนไปช่วงที่คนยุคเจนเอ็กซ์เจนวายยังนั่งอ่าน นั่งฟังอาจารย์บรรยายในคาบวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับเรื่องการทะยานสู่นอกโลก การเดินทางสู่ดวงจันทร์ เรื่องของ นีล อาร์มสตรอง สุนัขอวกาศไลก้า หรืออะไรก็ตามแต่ น่าจะคาดไม่ถึงว่าชีวิตจะดำเนินมาจนวันที่โลกเดินทางสู่การนำเสนอบริการ “ท่องอวกาศ” ในรูปแบบเชิงพาณิชย์!

ใช่แล้ว! วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องของ “ทัวร์อวกาศ” ซึ่งจุดประกายความคิดต้นเรื่องก็มาจากความหวือหวาฮือฮาเมื่อช่วงปลายนี้ของ “เจ้าพ่อทวิตภพ” อีลอน มัสก์ หัวเรือใหญ่แห่งสเปซเอ็กซ์ ที่ได้โชว์ความเหนือชั้นกว่าใครด้วยการพาพลเรือน 4 คน ออกไปสัมผัสอวกาศยาวนานกว่าที่เคยมีมาถึง 3 วัน ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นของวงการ เรียกได้ว่างานนี้ “Another Level” อย่างแท้จริง

ทัวร์อวกาศ

“ท่องอวกาศ” ทัวร์นี้ไม่ได้มีแค่ตั๋วของ SpaceX

หากไม่ได้อยู่ในวงการหรือติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องของมหาจักรนอกโลกเป็นทุนเดิม ชื่อที่น่าจะเป็นคอมมอนเซนส์ของคนส่วนใหญ่ในเรื่องของอวกาศ คงหนีไม้พ้น “SpaceX” ของ อีลอน มักส์

แต่ปัจจุบันนี้ เรื่องวุ่น ๆ ของวัยรุ่นอวกาศที่มุ่งหน้าพัฒนาทัวร์นอกโลกอย่างจริงจัง ทำกันเป็นล่ำเป็นสันเพื่อนำเสนอบริการสุดคลั่งให้กับบรรดามหาเศรษฐีผู้มีอันจะกินอันจะใช้ เจียดเงินแลกกับการได้สัมผัสประสบการณ์เหนือระดับ ยังมี “Blue Origin” ของ เจฟฟ์ เบซอส และ “Virgin Galactic” ของ ริชาร์ด แบรนสัน ที่กำลังขับเคี่ยวกันในเรื่องดังกล่าวด้วย

ความแตกต่างของแต่ละบริษัท จุดขายที่มี “จุดร่วม” เดียวกัน

ขอไล่เรียงตามลำดับการเปิดตัวเลยแล้วกัน เปิดหัวกันที่ “สเปซเอ็กซ์” ซึ่งอย่างที่บอกหลายคนที่ติดตามข่าวในวงการ หรืออาจจะนิยมชมชอบตัวของ อีลอน มัสก์ จากมิติอื่น ประมาณว่าอินมาจาก “เทสลา” ธุรกิจยานยนต์ที่เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์อันเลื่องลือของบิลเลียนแนร์แอฟฟริกัน ซึ่งนับแต่ขลุกอยู่กับเรื่องนี้มากว่า 2 ทศวรรษ 

สเปซเอ็กซ์ประสบความสำเร็จมากมาย ก้าวหน้าในแทบจะทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นบริษัทเอกชนที่ส่งยานอวกาศไปยังสถานีอวกาศได้เป็นแห่งแรก ต่อเนื่องด้วยการส่งมนุษย์ไปยังสถานนีอวกาศ และล่าสุดพาพลเรือ 4 คนท่องอวกาศ 3 วัน อย่างที่ได้กล่าวไปตั้งแต่ต้นเรื่อง

ทางด้านของ “บลู ออริจิน” ของ เจฟฟ์ เบซอส อาจจะมีเส้นทางที่คล้ายคลึงกับ สเปซเอ็กซ์ ในเด้านการลดต้นทุนสร้างจรวด แต่ก็เป็นการเปิดเผยหลังอุบเงียบมานานกว่าทศวรรษ ซึ่งปัจจุบันก็ได้พัฒนาต่อเนื่องแบบเปิดเผยมีการให้รายละเอียดข้อมูลในเกือบจะทุกอย่างก้าวของแต่ละกระบวนการ ล่าสุด ตัวของ เจฟฟ์ และ มาร์ค เบซอส น้องชาย พร้อมกับพลเรือนอีก 2 คน ก็ได้ล่องพร้อมกับ New Shepard ชื่อยานอวกาศของพวกเขาออกไปชมทัศนียภาพบนอวกาศได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2021 นี้เอง

ทัวร์อวกาศ

เมื่อมี 2 เจ้าที่ใช้แนวทางหลักคล้ายคลึงกันแล้ว อีกหนึ่งบริษัทอย่าง เวอร์จิน กาแลคติก ของ ริชาร์ แบรนสัน เลือกทำสิ่งที่แตกต่างแบบสุดขั้ว ลืมภาพการปล่อยยานอวกาศภาคพื้นดินที่เราเคยเห็นกันมานักต่อนักได้เลย 

เพราะสิ่งที่มหาเศรษฐีชาวบริติชนำเสนอ เป็นการปล่อยยานอวกาศจากเครื่องบินในความสูงประมาณ 50,000 ฟุต ก่อนที่ยานจะจุดไอพ่นคู่หน้าอันเป็นเทคโนโลยีเฉพาะของบริษัทอย่าง “WhiteKnightTwo” ทะยานต่อในแนวดิ่งอีกประมาณ 300,000 ฟุต สู่เส้นขอบอวกาศ โดยวิธีนี้จะทำให้ธุรกิจทัวร์อวกาศ เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน ประหยัดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงได้มากกว่าอีก 2 เจ้าแบบหมาศาลกันเลยทีเดียว

ความชัดเจนเรื่องทัวร์อวกาศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้ง บลู ออริจิน และ เวอร์จิน กาแลคติก นั้นนำเสนอแผนงานทัวร์อวกาศเชิงพานิชย์แบบชัดเจน พูดง่าย ๆ คือเปิดเผยแบไต๋กันไปเลยว่าที่พัฒนามาเนี่ย นอกจากจะสนองนี้ดความฝันของสองอภิมหาเศรษฐี เจฟฟ์ เบซอส กับ ริชาร์ด แบรนสัน เองแล้ว พวกเขายังมองถึงตลาดกลุ่มมหาเศรษฐีที่อยากจะสัมผัสสุดยอดประสบการณ์นอกโลกด้วยตัวเอง

แรกสุดเลยมีนักวิเคราะห์มองว่าในตลาดนี้ เวอร์จิน กาแลคติก นั้นยังตามหลัง บลู ออริจิน อยู่ประมาณนึง ไม่ว่าจะเนื่องด้วยการนำเสนอวิธีปล่อยยานสุดแหวกแนว หรืออะไรก็ตามแต่ ทว่า ความเป็นจริงนั้นกลายเป็นว่า เวอร์จิน กาแลคติก นั้นพาผู้คนออกไปท่องอวกาศได้ก่อน บลู ออริจิน ได้ก่อนเพียงแค่ 9 วัน หากมองแบบเชิงคู่แข่งนี่เหมือนกับการปาดหน้ากันแบบกลาย ๆ เลยใช่มั้ยล่ะ

ทัวร์อวกาศ

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลมาว่า เที่ยวบินของ เวอร์จิน กาแลคติก นั้นขายที่นั่งไปประมาณ 600 ที่แล้วสำหรับทัวร์นี้ แถมมีการอ้างว่าเหล่าเซเลบริตี้ชื่อดังในวงการฮอลลีวูด หรือาจรวมนักกีฬาที่มีรายได้สูง แม้กระทั่ง อีลอน มัสก์ แห่ง สเปซเอ็กซ์ คู่แข่งยังอยากร่วมพิสูจน์ความแหวกแนวการพัฒนาที่ไม่เหมือนของบริษัทตัวเองอีกด้วย!

ทัวร์อวกาศ

เดินหน้าเพื่อเป็นที่สุดของวงการก่อนค่อยขายความพรีเมียม

แนวทางของ สเปซเอ็กซ์ ที่กุมบังเหียนโดย อีลอน มัสก์ ดูเหมือนจะเป็นมาแบบนั้นเสมอ แม้ว่าจะมีการทวิตการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโปรเจกต์ของเขาอยู่เรื่อยมา แต่ก็ไม่ได้เน้นเชิงพาณิชย์เหมือนกับ 2 แบรนด์คู่แข่ง 

แต่จากสิ่งที่พวกเขาทำได้ ความสำเร็จในการพัฒนาล่าสุด ถึงกระทั่งส่งพลเรือน 4 คน ออกสู่อวกาศยาวนานถึง 3 วัน เทียบกับ บลู ออริจิน และ เวอร์จิน กาแลคติก ที่ยังอยู่แค่หลักนาที แถมกลับมาได้อย่างปลอดภัยไร้ริ้วรอย มีการคาดว่าเที่ยวบินของ สเปซเอ็กซ์ แบบที่โชว์เหนือเมื่อไม่นานนี้ อาจมีมูลค่าสูงถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว!

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก:

Branson’s Virgin Galactic trails Bezos’ Blue Origin in space tourism, while Musk’s SpaceX is in a league of its own (cnbc.com)

Blue Origin, Virgin Galactic or SpaceX: which space tourism venture has the right stuff? (thenationalnews.com)

เทรนด์ “รักษ์โลก” ส่องความเคลื่อนไหวบริษัทยักษ์ใหญ่ริเริ่มอะไรกันแล้วบ้าง

รักษ์โลก

จากที่เราได้พูดคุยกันถึงเรื่อง “มลพิษทางอากาศ” เรื่อยจนมาถึง “พลังงานหมุนเวียน” ผ่านเนื้อหาล่าสุดที่นำเสนอให้ได้อัพเดตกันในช่วงก่อนหน้านี้ เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงจะพอนึกภาพตามได้ว่ามีอะไรที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เรื่องของมลภาวะอันไม่พึงประสงค์ด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ซึ่งที่กล่าวมานี้ นอกจากกรณีศึกษาจากอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ทั้งหลายแหล่ เรื่องที่เราเคยพูดถึงไปอย่างระบบ AI ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเทรนด์ “รักษ์โลก” ซึ่งภายในเนื้อหาวันนี้ก็จะมีตัวอย่างยกให้เห็นกันแบบชัด ๆ เป็นโปรเจกต์ของแบรนด์ไอทีพี่เบิ้มระดับโลก อย่าง “ไมโครซอฟต์” ที่ปลุกปั้นกันมาตั้งแต่ปี 2017 แล้ว

“พลังงานหมุนเวียน” เทรนด์พลังงานหลักของโลกอุตสาหกรรมในอีกไม่ช้า
มลพิษทางอากาศ… “ตัวร้าย” ที่อุตสาหกรรมทั้งหลายไม่ควรมองข้าม

แต่ถ้าใครยังเห็นภาพไม่ชัดจริง ๆ ว่าเทรนด์นี้จะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง จะมีการตื่นตัวมากน้อยแค่ไหนในระดับโลก รวมถึงมียักษ์ใหญ่แบรนด์ใดที่เริ่มทำบางสิ่งบางอย่างกับธุรกิจของพวกเขา ไปพร้อม ๆ กับการดูแลโลกของพวกเราทุกคน บางทีเนื้อหาด้านล่างนี้อาจจะช่วยให้คุณได้สิ่งต่าง ๆ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ติดตามผ่านเนื้อหาทั้งหมดนี้ได้เลย..

รักษ์โลก

“พลังงานหมุนเวียน” กับ สองลูกรักของคนดัง “อีลอน มัสก์”

สำหรับใครที่เคยได้ยินข่าวของ อีลอน มัสก์ หนึ่งในสุดยอดนักธุรกิจที่เก่งกาจเรื่องวิศวกรรมเป็นหนึ่งในนักประดิษฐ์ตัวยง 

เจ้าแห่งอาณาจักร “SpaceX” และ “Tesla Motors” ถือเป็นคนดังในวงการอุตสาหกรรมที่ตื่นตัวกับสิ่งเหล่านี้เป็นคนแรก ๆ จะเห็นได้จากการเลือกใช้วัสดุเพื่อผลิตจรวดของสเปซเอ็กซ์ก็ดี หรือจะเป็นชิ้นสวนยานยนต์ รวมถึงระบบขับเคลื่อนที่บอกลาน้ำมันอันเป็นพลังงานสิ้นเปลืองของเทสล่า ทั้งสองสิ่งล้วนพิสูจน์ได้ดีว่าเทรนด์เหล่านี้ไม่ได้มาเล่น ๆ แน่นอน

เรื่องของความ “รักษ์โลก” พอจะมีแทรกซึมอยู่บ้าง แต่ถ้าจะให้ยกอีกตัวอย่างยักษ์ใหญ่ที่เอาจริงเอาจังด้านสิ่งแวดล้อม ดูเหมือนว่า “ไมโครซอฟต์” นั้นจะเด่นชัดสุด ซึ่งคุณสามารถพิจารณด้วยตัวเองได้จากเนื้อหานับแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป..

“AI for Earth” เกิดมาเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ จาก “ไมโครซอฟต์”

อย่างที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่าเรื่องของ AI (Artificial Intelligence) ไม่ได้มีส่วนแค่การเข้ามาช่วยให้การทำงานภายในอุตสาหกรรมง่ายและทันสมัยยิ่งขึ้น แต่ยังสามารถใช้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเหมือนอย่างที่ ไมโครซอฟต์ ทำกับสุดยอดโปรเจกต์นี้

สำหรับ “AI for Earth” ถูกปลุกปั้นมาตั้งแต่ปี 2017 จุดมุ่งหมายนั้นเน้นไปที่เรื่องของการนำนวัตกรรม AI และคลาวด์ของพวกเขามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงระบบนิเวศน์ต่าง ๆ ทางธรรมชาติ

รักษ์โลก
ไมโครซอฟต์ จริงจังมากแค่ไหนเรื่องรักษ์โลก?

ความเอาจริงเอาจังของยักษ์ใหญ่ด้านไอที หากนับจนถึงปัจจุบันแล้ว กว่า 236 โครงการใน 63 ประเทศทั่วโลก โดยมีแพลตฟอร์มชื่อ “ไมโครซอฟต์ อาซัวร์” เป็นคีย์แมนในการรวบรวมข้อมูล พวกเขาได้มีการพิจารณาและมอบทุนให้กับโครงการวิจัยเชิงสิ่งแวดล้อม 4 ด้ายหลักใหญ่ ได้แก่

  • เกษตรกรรม
  • ความหลากหลายทางชีวภาพ
  • ความแปรปรวนของสภาพอากาศ
  • ทรัพยากรน้ำ

ด้วยพลังด้านเงินทุนและความตั้งใจริ่เริ่มของ ไมโครซอฟต์ ได้รับการสานต่อจากสถาบันวิจัยต่าง ๆ โดยมีหนึ่งทีมวิจัยที่โดดเด่น คือ องค์กรการกุศลที่ชื่อว่า “Sustainable Coastlines”

Sustainable Coastlines คือใคร และบทบาทสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

Sustainable Coastlines คือ องค์กรไอดอลด้านรักษ์โลกจากประเทศนิวซีแลนด์ ที่สำคัญยังเป็นองค์กรการกุศลอีกด้วย พวกเขามีบทบาทเกี่ยวกับการทำงานเพื่อแก้ปัญหาขยะในท้องทะเลมากว่า 10 ปีแล้ว หากเป็นก่อนหน้านี้เรื่องดังกล่าวคงต้องลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยการเข้ามาของ AI ทำให้พวกเขากำเนิดโซลูชั่นที่ช่วยให้หลายภาคส่วนเข้าถึงปริมาณที่ถูกต้อง รวมถึงเข้าใจสถานการณ์ที่เกิด ตลอดจนถึงแนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขยะในอนาคต (โรงกลึงพี-วัฒน์ของเราก็พยายามศึกษาโปรเจกต์และกระบวนการทางวิศวกรรมต่าง ๆ ขององค์กรนี้อยู่เรื่อย ๆ เพื่อพยายามจะปรับใช้ให้เหมาะสมกับโรงกลึงของเราในพาร์ทของโซลูชั่นกำจัดของเสียเพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อม)

จากมันสมอง “นักคิดทั่วโลก” สู่ผลงานที่เป็นจริงด้วย “ไมโครซอฟต์ อาซัวร์”

มาถึงตรงนี้ต้องขอประทานอภัยด้วยที่เปิดตัว “ไมโครซอฟต์ อาซัวร์” ช้าไปเสียหน่อย ซึ่งนี่ก็คือชื่อของบริการ “คลาวด์” ที่หลายคนน่าจะรู้จักและใช้ไปกับธุรกิจสตาร์ทอัพเสียมากกว่า แต่กับโปรเจกต์ “AI for Earth” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าสิ่งนี้ทำประโยชน์เพื่อโลกใบนี้ได้มากกว่าแค่เรื่องธุรกิจ

จากทีม Sustainable Coastlines ที่ดูแลเรื่องท้องทะเล หรือจะเป็น Wild Me องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ปกป้องติดตามสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งบางชนิดมีผลต่อระบบนิเวศน์โดยตรง ก็สามารถใช้ AI และข้อมูลจากคลาวด์เพื่อติดตาม ระบุตัวตนได้อย่างแม่นยำ

รักษ์โลก

เรื่อยจนมาถึงเรื่องของการเกษตร ผลงานอันโดดเด่นเห็นชัดสุดเป็นของ FarmBeats ที่ปรับใช้ด้วยการเลือกเอาอุปกรณ์เซนเซอร์ต่าง ๆ ใช้เพื่อเก็บข้อมูลจากพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งความละเอียดนั้นบ่งบอกได้ครบถ้วนทุกกระบวนการ ไล่ตั้งแต่ การตรวจวัดความชื้น สาอาหารต่าง ๆ อุณหภูมิหน้าดิน ภาพถ่ายทางอากาศ ข้อมูลของสภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ 

ก่อนจะนำทุกอย่างมาวิเคราะห์ สรุปออกมาได้เป็นคำแนะนำช่วยให้เกษตรกรสามาถวางแผนการเพาะปลูก ตลอดจนการกะระยะเวลาวางแผนเก็บเกี่ยวได้เหมาะสมเพื่อผลผลิตที่ดีที่สุดซึ่งล้วนได้มาความอัจฉริยะของการประมวลของระบบ AI อย่างแม่นยำ

ทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งตอกย้ำว่าเทรนด์ “รักษ์โลก” ต้องควบคู่ไปกับการทำธุรกิจไม่ว่าคุณจะอยู่ในอุตสาหกรรมแขนงใดก็ตาม เพราะขนาดที่ว่าสองบริษัทที่มีมีมูลค่าสูงระดับท็อปของโลกยังให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมากถึงเพียงนี้ ก็แทบจะไม่มีเหตุผลอะไรแล้วที่พวกเราจะไม่ดำเนินรอยตาม..