ทำไม ? Gigafactory โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ถึงเป็นผู้นำแห่งเทคโนโลยี

โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ในวงการอุตสาหกรรมทุกวันนี้ คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธ หากบอกว่า.. เทสลาเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างครอบคลุมที่สุด และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ที่มาพร้อมกับความแม่นยำในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ผลผลิตอันแสนวิเศษเหล่านั้น คลอดออกมาอย่างตั้งใจจาก โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Gigafactory วันนี้เราจะมาดูกันว่าโรงงานระดับโลกที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อน มีแนวคิดและให้ความสำคัญกับอะไร รวมไปถึง AI ที่เทสลาใช้จนจบกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรถ 1 คัน มีบทบาทสำคัญในขั้นตอนอะไรบ้าง ..ไปดูกัน

AI หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ตัวเอกของกระบวนการ

เทสลาได้นำ AI มาประยุกต์ใช้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต เพื่อสร้างโรงงานอัจฉริยะที่สามารถผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เทคโนโลยี AI เหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้เทสลาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้บริษัทอื่นๆ แน่นอน.. รวมถึงโรงกลึงพี-วัฒน์ของเรา มรากำลังเฝ้าติดตามข่าวสารโรงงานอุตสาหกรรมอัจฉริยะอยู่เรื่อยๆ เพื่อเตรียมรับมือในอนาคต และแนวทางในการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมของเราอีกด้วย

หุ่นยนต์ที่ควบคุมด้วย AI เหล่านี้ถูกออกแบบมาให้ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยใช้ AI ในการวางแผนการเคลื่อนไหว การควบคุมแรง และการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง มิหนำซ้ำยิ่งเหนือชั้นขึ้นไปอีก คือหุ่นยนต์สามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้โดยการสังเกตการทำงานของมนุษย์ ทำให้สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตได้อย่างรวดเร็วและยืดหยุ่น

โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
Credit : https://www.tesla.com

หุ่นยนต์ที่ควบคุมด้วย AI ใน Gigafactory ทำอะไรบ้าง ?

การวางแผนการผลิต

AI ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เช่น ยอดขาย ประวัติการสั่งซื้อ และปัจจัยภายนอก เพื่อทำนายความต้องการของตลาด และวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการ และช่วยในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การลดเวลาในการผลิต การลดปริมาณวัสดุสิ้นเปลือง และการลดต้นทุนการผลิต

การประกอบแบตเตอรี่

หุ่นยนต์ที่ควบคุมด้วย AI ทำการประกอบเซลล์แบตเตอรี่เป็นโมดูล และประกอบโมดูลเข้าด้วยกันเป็นแพ็คแบตเตอรี่

การทดสอบสมรรถนะของแบตเตอรี่

ระบบวิสัยทัศน์ด้วยคอมพิวเตอร์ตรวจสอบความสมบูรณ์ของแบตเตอรี่ และวัดประสิทธิภาพการทำงาน

การควบคุมหุ่นยนต์ในการพ่นสี

หุ่นยนต์ใช้ AI ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนกลเพื่อพ่นสีรถยนต์ได้อย่างแม่นยำและสม่ำเสมอ

การตรวจสอบคุณภาพ

การตรวจสอบคุณภาพผ่านระบบวิสัยทัศน์ด้วย AI นำมาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ด้วยความแม่นยำสูงและรวดเร็วกว่าการตรวจสอบด้วยสายตาของมนุษย์ ระบบนี้ยังสามารถตรวจจับข้อบกพร่องหรือความผิดพลาดในการผลิตได้อย่างรวดเร็ว และส่งสัญญาณเตือนให้แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

การบำรุงรักษา

AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ เพื่อ “คาดการณ์” ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับเครื่องจักร และส่งสัญญาณเตือนให้ช่างสามารถวางแผนการบำรุงรักษาได้อย่างเหมาะสม และเข้าไปแก้ไขได้ก่อนที่ปัญหาจะรุนแรงขึ้น

การเพิ่มอายุการใช้งานของเครื่องจักร: การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ช่วยลดความเสี่ยงของการหยุดชะงักในการผลิต และเพิ่มอายุการใช้งานของเครื่องจักร

โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
Credit : https://www.tesla.com
การโต้ตอบกับมนุษย์

AI สามารถเข้าใจภาษาที่มนุษย์พูดหรือพิมพ์ และตอบสนองได้อย่างถูกต้อง ทำให้การสื่อสารระหว่างมนุษย์กับระบบอัตโนมัติเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น หุ่นยนต์ที่เราเห็นบ่อยๆ คือ Optimus ซึ่งเทสลาได้พัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ Optimus ที่ใช้ AI ในการควบคุมการเคลื่อนไหว การมองเห็น และการตัดสินใจ หุ่นยนต์เหล่านี้มีศักยภาพในการทำงานร่วมกับมนุษย์ในงานที่หลากหลายภายในโรงงาน

มีการปรับปรุงกระบวนการผลิต

AI สามารถเรียนรู้จากการกระทำและผลลัพธ์ที่ได้ ทำให้สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การหาเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับหุ่นยนต์ในการเคลื่อนที่ หรือการปรับพารามิเตอร์ของเครื่องจักรให้เหมาะสมกับงานที่ทำ

การออกแบบผลิตภัณฑ์

AI สามารถสร้างแบบจำลอง 3 มิติของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้นักออกแบบสามารถทดลองและปรับปรุงดีไซน์ได้อย่างง่ายดาย

การสร้างสรรค์เนื้อหา

AI สามารถสร้างภาพ สร้างวิดีโอ หรือสร้างข้อความเพื่อใช้ในการสื่อสารและการตลาดได้

เห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่เทสลาได้รับจากการนำ AI มาใช้ คือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และลดระยะเวลาในการผลิต เพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มีความสม่ำเสมอและมีคุณภาพสูงขึ้น และมีความยืดหยุ่นในการผลิตสูง สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตได้อย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลง และแน่นอนคือด้านความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานของมนุษย์

โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
Credit : https://www.tesla.com

เทสลาให้ความสำคัญกับอะไร ?

เรารู้กันดีว่า Gigafactory ขอเทสลา สามารถผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่ทันสมัยมาใช้หลายอย่างตามที่กล่าวไปเเล้ว นอกจากนี้ Gigafactory ยังรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลจากกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพของชิ้นส่วน ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเครื่องจักร และข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของหุ่นยนต์ ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาวิเคราะห์โดย AI เพื่อหารูปแบบและแนวโน้มต่างๆ ซึ่งจะช่วยในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เทสลาใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของ AI ที่ช่วยให้ระบบสามารถเรียนรู้จากข้อมูลได้ด้วยตนเอง ที่สำคัญมีการลงทุนด้าน R&D อยู่ตลอดเวลา เทสลาลงทุนอย่างมากในการวิจัยและพัฒนาระบบ AI โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเรียนรู้ของเครื่องจักรและวิสัยทัศน์คอมพิวเตอร์

สุดท้ายการลงทุนกับคนก็เป็นเรื่องที่องค์กรสมัยใหม่ยังคงต้องให้ความสำคัญที่สุด แม้ AI จะทำงานบางอย่างแทนคนได้แล้วก็ตาม เทสลารวบรวมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรระดับหัวกะทิที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI มาทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาระบบ AI ให้มีความสามารถสูงสุด

จุดเด่นของ Gigafactory

  • การผลิตในปริมาณมาก Gigafactory สามารถผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าได้ในปริมาณมาก ช่วยลดต้นทุนการผลิตและทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
  • เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย Gigafactory ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เช่น หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
  • การออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Gigafactory ถูกออกแบบมาให้ใช้พลังงานหมุนเวียน และมีการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ
  • Gigafactory ของ Tesla มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่การใช้พลังงานสะอาด และเป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
  • การพัฒนา AI ใน Gigafactory มีผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ โดยมีทั้งผลกระทบในแง่บวกและแง่ลบ ดังนี้

อัจฉริยะแค่ไหน แค่เหรียญย่อมมีสองด้าน

แน่นอนว่าความล้ำสมัยสุดขั้วของ โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Gigafactory ของเทสลาย้อมต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสีย และผลกระทบที่เกิดกับสภาพแวดล้อม อย่างที่คำพูดคุ้นหูจากยุคสมัยของการตื่นรู้ในอดีต ที่กล่าวว่า “การเกิดขึ้นของนวัตกรรมใหม่ๆ ต้องแลกมาด้วยความเสียสละอันยิ่งใหญ่”

โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
Credit : https://www.tesla.com

ผลกระทบในแง่ลบ

  • การลดจำนวนพนักงาน: เนื่องจาก AI เข้ามาแทนที่งานที่ซ้ำซากและอันตราย ทำให้จำนวนพนักงานในสายการผลิตอาจลดลงได้
  • การเปลี่ยนแปลงทักษะที่ต้องการ: พนักงานจะต้องมีทักษะที่สูงขึ้นในการทำงานร่วมกับ AI เช่น การเขียนโปรแกรม การวิเคราะห์ข้อมูล และการแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจทำให้พนักงานบางส่วนต้องปรับตัวหรือฝึกอบรมเพิ่มเติม

ผลกระทบในแง่บวก

  • การสร้างงานใหม่: การพัฒนา AI จะสร้างงานใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา AI การบำรุงรักษาระบบ AI และการวิเคราะห์ข้อมูล
  • เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน: AI ช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ต้องทำงานที่ซ้ำซากจำเจ ทำให้พนักงานมีเวลาในการทำงานที่สร้างสรรค์มากขึ้น
  • การปรับปรุงสภาพการทำงาน: AI ช่วยลดงานที่เสี่ยงอันตราย ทำให้สภาพการทำงานของพนักงานปลอดภัยมากขึ้น

แม้การพัฒนา AI ใน Gigafactory จะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประเภทของงานที่ถูกแทนที่ ความเร็วในการพัฒนา AI และนโยบายของรัฐบาลในการรองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

Credits : https://www.tesla.com

5 Checklist เช็คให้ชัวร์.. ก่อนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วย “หุ่นยนต์ AI”

หุ่นยนต์ AI

ปัจจุบันเริ่มมีการนำ หุ่นยนต์ AI มาใช้ในหลายธุรกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงพยาบาล และอีกมากมาย นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป แต่กลุ่มธุรกิจที่นำ AI มาใช้ประโยชน์เป็นอันดับต้น ๆ อย่างแพร่หลาย คงหนีไม่พ้นโรงงานอุตสาหกรรม โรงกลึงโดยเฉพาะสายงานการผลิตที่แทบจะพลิกวงการกันเลยทีเดียว แต่ก็ยังมีหลายอุตสาหกรรมยังไม่มั่นใจถึงความคุ้มค่า ความน่าเชื่อถือ หรือด้วยกำลังทรัพย์ต่าง ๆ ที่จะเดินหน้าจัดซื้อ หุ่นยนต์ AI มาใช้ประกอบกิจการดีหรือไม่ ในบทความนี้จึงจะขอพาทุก ๆ คนมาตรวจสอบความพร้อมว่าควรมี AI หรือไม่ และทิ้งท้ายมุมมองเกี่ยวกับ AI ในอนาคต

หุ่นยนต์ AI
Image by usertrmk on Freepik

Checklist เตรียมความพร้อมกับอุตสาหกรรมที่มี หุ่นยนต์ AI

ถ้าหากคุณมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่การที่จะมีหุ่นยนต์ AI เข้ามาร่วมในการดำเนินการตามภาคส่วนต่างๆ สิ่งแรกๆ ที่ควรเช็กนั่นก็คือการเตรียมความพร้อมต่างๆ ในการที่จะนำ AI มาเข้าร่วม โดยสามารถอิงจากขั้นตอนการดำเนินงาน เป้าหมายธุรกิจ รวมไปถึงสภาพการเงินต่างๆ อีกด้วย และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลามาเช็คลิสต์ กับ 5 ข้อ ในการเตรียมธุรกิจให้พร้อมก่อนปรับใช้หุ่นยนต์ AI ในอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับการทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม

CHECK 1st – กลยุทธ์

การพิจารณาจากกลยุทธ์นับเป็นสิ่งแรกที่คุณต้องคิดว่าเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมของคุณหรือไม่ โดยกลยุทธ์ที่ว่านี้จะต้องมีเป้าหมายของธุรกิจเสียก่อน ว่าจุดมุ่งหมายในระยะทางไกลนั้นเป็นอย่างไร และถ้าหากนำหุ่นยนต์ AI จะสามารถพัฒนาธุรกิจเติบโตได้แค่ไหน โดยสามารถประเมินผ่าน KPI ได้ ซึ่งในจุดนี้ก็ต้องสัมพันธ์กับค่าลงทุนที่จะมาทดแทนการจ้างคน และยังคำนวณว่าสามารถทำ AI ได้มากกว่าคนหรือไม่

CHECK 2nd – คน

แน่นอนว่าการเข้ามาของหุ่นยนต์ AI บุคคลหลายส่วนอาจมีความคิดต่อต้านว่ามาแย่งแรงงานคนหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วคนกับ AI สามารถทำงานร่วมกันได้เพียงแค่ต้องเปิดใจ ในเบื้องต้นไม่มีทางที่อุตสาหกรรมที่จะสามารถคิด AI ที่เหมาะกับธุรกิจของตัวเองได้ การได้คำแนะนำจากพนักงาน การเรียนรู้ระบบปฏิบัติการ หรือการทำงานเพื่อมาปรับให้ AI เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ละถ้าหากบุคคลเหล่านั้นคอยคุมการทำงานของ AI ก็นับเป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว

CHECK 3rd – ข้อมูล

ก่อนการสร้างหุ่นยนต์ AI สำหรับอุตสาหกรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะรวบรวมข้อมูลทุกอย่างในทุกๆ มิติ เพื่อที่จะพัฒนา AI ที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมทุกรูปแบบ แต่ถึงอย่างนั้นหากได้ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจของคุณแล้ว การจะหาแนวทางที่ดีที่สุดอาจต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการประดิษฐ์ปัญญาประดิษฐ์ควบคู่กับธุรกิจของคุณจะเป็นการดีที่สุด เพื่อที่จะเรียนรู้ ฝึกอบรมในการใช้งาน รวมไปถึงการผลิตภาคส่วนต่างๆ

CHECK 4th – โครงสร้างพื้นฐาน

ในส่วนนี้จะหมายถึงการทำงานของ AI ทั้งหมด เพื่อที่จะสามารถรันงานทั้งหมดได้ โดยสามารถนำฮาร์ตแวร์หรือซอร์ฟแวร์ รวมทั้งระบบปฏิบัติการต่างๆ มาเตรียมความพร้อมอย่างเสร็จสรรพ และออกแบบ AI ที่มีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าเรื่องแรกมีความปลอดภัยขณะการใช้ สามารถทำการผลิตสินค้าและสามารถส่งออกได้อย่างรวดเร็ว สามารถปรับการทำงานหรือขนาดของ หุ่นยนต์ AI ที่เหมาะกับอุตสาหกรรมเหล่านั้นได้ โดยทั้งหมดนี้คนสามารถควบคุมผ่านแอพพลิเคชั่นได้นั่นเอง

CHECK 5th – จริยธรรม

การทำงานของหุ่นยนต์ AI จำเป็นจะต้องคำนึงถึงจริยธรรมในด้านต่างๆ ในทิศทางที่เป็นประโยชน์ของมนุษย์ สิ่งแรกคือช่วยอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ สิ่งที่สองคือต้องมีความปลอดภัยขณะการใช้งาน สิ่งที่สามคือไม่มีการส่งผลเสียทางอ้อมในการใช้ AI และส่งผลกระทบต่อมนุษย์หรือสภาพแวดล้อมโดยรอบ หลักๆ แล้วการออกแบบควรคำนึงถึงจริยธรรม และการทำงานของ AI ให้มีความปลอดภัยอยู่เสมอ และลดความเสี่ยงหาก AI เกิดทำงานผิดพลาดและส่งผลกระทบต่างๆ ได้นั่นเอง

หุ่นยนต์ AI จะเปลี่ยนโลกเป็นอย่างไร

สำหรับปัญญาประดิษฐ์หรือหุ่นยนต์ AI เป็นสิ่งที่ทั่วโลกจับตามองว่าจะสามารถขยายผลไปได้ถึงไหน แน่นอนว่าถ้าโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายต่างหันมาใช้ AI ในการดำเนินการต่างๆ ทั้งสายงานการผลิต การเช็กสตอคสินค้า การจัดเรียงส่งสินค้า หรือแม้จะรันกระบวนการตั้งแต่เริ่มจนจบดูเป็นอะไรที่ไม่ไกลตัวหนัก ยกตัวอย่างเช่น

  • หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (AMRS) ทำการลำเลียงสินค้าจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งอย่างแม่นยำ
  • หุ่นยนต์ช่วยงานคลัง (Warehouse Robotics) ทำหน้าที่ในการหยิบจัด แพคของ หรือการทำงานซ้ำๆ ที่ทดแทนแรงงานมนุษย์
  • การใช้ระบบ Iot จะเป็นการตรวจเช็กสินค้าตั้งแต่ต้นจนจบ ที่จะสามารถบอกตำแหน่ง จำนวนสินค้าที่เหลือ การลำเลียงสินค้า และการส่งออกสินค้าโดยไม่จำเป็นต้องใช้คนในการเช็กแต่อย่างใด
  • การใช้ VR และ AR หรือการจำลองโลกเสมือนเพื่อทำการซ่อมแซมบำรุงอุปกรณ์ทางด้านอุตสาหกรรม เพื่อที่ว่าจะแก้ไขทันด่วน โดยมีคำแนะนำผ่านโลกเสมือนจริง

สำหรับที่ได้กล่าวไปข้างต้นเป็น AI ที่สามารถใช้ได้จริง และสามารถทำได้จริงเมื่ออิงจากหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเองในหลายๆ อุตสาหกรรมเริ่มเอาสิ่งเหล่านี้มาช่วยในกิจการได้มากยิ่งขึ้น แต่ถ้าหากการจะพัฒนา AI เฉพาะทางสำหรับไลน์การผลิตอาจจะยังพบเห็นได้น้อย เพราะต้องคำนึงถึงการออกแบบ การผลิต และความปลอดภัยของการใช้ AI ด้วยนั่นเอง

Key Takeaways

สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะสายงานผลิต เริ่มมีหุ่นยนต์ AI เข้ามาช่วยเหลือในการผลิตต่าง ๆ ที่ต้องบอกว่ามีความแม่นยำ สามารถทำงานได้เป็นอย่างดี และสามารถทำงานได้ต่อเนื่องแม้ไม่ได้หยุดพัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งที่จะสามารถประหยัดต้นทุนที่ใช้แรงงานคนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน อาจมีการใช้ AI มากยิ่งขึ้น และลดแรงงานคนน้อยลง แต่ท้ายที่สุดแล้วคนก็ยังสำคัญ เพื่อที่จะตรวจสอบการทำงานของ AI อย่างสม่ำเสมอเพื่อความปลอดภัยอยู่ดี

Credit : https://www.aspentech.com/en/resources/blog/are-you-ready-for-industrial-ai-our-checklist-has-the-answer?fbclid=IwAR3x9RlerKOjq5L4duzZAStSiayGChnKLj2CXIOSe1wullI25Y9TrZ0g22Q

Cover Image : Image by Lifestylememory on Freepik

วิทยาการ หุ่นยนต์ ฉบับปี 2023 ยกระดับธุรกิจด้วย Robotics กันเถอะ !

หุ่นยนต์

มีมาต่อเนื่องจริง ๆ สำหรับ “คาดการณ์” ทั้งหลายแหล่เกี่ยวกับแวดวงอุตสาหกรรมต่าง ๆ ขอร้องขอวอนเลยว่าอย่างเพิ่งเบื่อกับเนื้อหาประเภทนี้ เพราะมันอาจจะช่วยอัพเดตข้อมูลที่จะทำให้คุณสามารถหยิบไปใช้พัฒนาธุรกิจองค์กรของคุณได้ โดยเฉพาะเรื่องของ “เทรนด์หุ่นยนต์” แม้เราจะเพิ่งพูดถึงไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่วิทยาการของเจ้า “หุ่นยนต์” ในอุตสาหกรรมนั้นพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหุ่นยนต์ที่คอยช่วยงานอุตสาหการ โรงงาน สายพานการผลิต โรงกลึงต่าง ๆ และบอกเลยว่าหากคุณเป็นหนึ่งคนที่ข้องเกี่ยวกับกิจการประเภทนี้และหากไม่ได้ติดตามอยู่เสมอ บางทีอาจทำให้คุณพลาดสิ่งดี ๆ ที่จะช่วยยกระดับธุรกิจของคุณเลยก็ได้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกัน.. เทรนด์ “Robotics” ปี 2023 รู้ไว้.. ปรับใช้ ยกระดับธุรกิจคุณได้!

7 คาดการณ์เทรนด์ “อุตสาหกรรมหุ่นยนต์” สู่ธุรกิจ

ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มที่หุ่นยนต์ยังเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ มีความเทอะทะแถมยังกินพื้นที่อย่างมากภายในโรงงาน ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน หุ่นยนต์มีความหลากหลายและปรับเปลี่ยนได้มากกว่าที่เคยเป็นมา จนกลายเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินธุรกิจไปเสียแล้ว

โดยเฉพาะเมื่อเร็ว ๆ นี้ การเปลี่ยนแปลงมากมายของแวดวงธุรกิจ การหยุดชะงักของซัพพลายเชน การขาดแคลนแรงงาน แม้กระทั่งความไม่สงบที่เกิดขึ้นของปัญหาระหว่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินการ ปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ สำหรับเครื่องมือหลักในการท้าทายสถานการณ์เหล่านี้นั้นก็คือเทคโนโลยี “หุ่นยนต์” ส่วนด้านล่างต่อไปนี้เป็น 7 การคาดการณ์ล่าสุดของวิทยาการนี้ในปี 2023…

1. ระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

หุ่นยนต์
Image by Freepik

แหล่งข้อมูลได้ชี้ถึงความสำคัญของการที่นักวิเคราะห์ได้กล่าวว่า 1 ใน 3 ขององค์กรยุโรปกำลังให้ความสำคัญกับระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ตอนนี้เรากำลังก้าวสู่ทศวรรษแห่งข้อมูลขนาดใหญ่ และระบบอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์ก็ไม่ต่างกัน เทคโนโลยีการทำงานแบบอัตโนมัติกลายเป็นระบบที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมากขึ้น โดยเน้นที่การใช้โชลูชันตามเนื้อหาที่ได้รับจากการเก็บสถิติบนโลกแห่งความจริง ซึ่งระบบโลจิสติกส์เป็นที่เดียว ณ ตอนนี้ ที่จะทำให้คุณได้เห็นระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ซึ่งหลายที่ก็ได้ใช้หุ่นยนต์เข้ามาเป็นส่วนในการตัดสินใจด้วยเหตุผลจากการวิเคราะห์ข้อมูล

2. การเพิ่มความสามารถให้มนุษย์ด้วยหุ่นยนต์

เทคโนโลยีหุ่นยนต์ยังถูกนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณ 35 เปอร์เซนต์ ขององค์กรจะรวบรวมหุ่นยนต์เชิงกายภาพผสมผสานกับเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ พัฒนาความสามารถของมนุษย์ และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน บริษัทต่าง ๆ เริ่มตระหนักมากขึ้นว่าหุ่นยนต์ไม่ได้มาแทนที่งานของมนุษย์ แต่เป็นวิธีที่จะปรับปรุงสิ่งที่มนุษย์ทำได้อยู่แล้ว เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมประสบปัญหาทักษะและการขาดแคลนแรงงาน หุ่นยนต์จึงเข้ามาเสริมในจุดนี้ เรียกว่าเป็นการเติมเต็มช่องว่างที่มีได้อย่างแนบเนียน

3. การใช้ Cobot เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หุ่นยนต์
Image by Lifestylememory on Freepik

เจ้า Cobot หรือในพากย์ไทยว่า “หุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน” ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งคีย์แมนแนวหุ่นยนต์ในทศวรรษที่ผ่านมา และคาดว่าโคบอทจะคิดเป็น 30 เปอร์เซนต์ ของตลาดหุ่นยนต์ทั้งหมดภายในปี 2027 โคบอทนั้นได้รับการออกแบบมาให้ทำงานเคียงข้างมนุษย์ได้อย่างปลอดภัยและใช้งานง่าย ทำให้เหมาะสำหรับบริษัทที่ไม่มีประสบการณ์ด้านวิทยาการหุ่นยนต์มาก่อน และไม่มีพื้นที่หรือทรัพยาเพียงพอจะรองรับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยในระดับสูง

4. หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ “กำลังจะมา”

สถานการณ์ตอนนี้ดูเหมือนหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติกำลังย่างกรายเข้าสู่ธุรกิจต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในภาคส่วนของ “โลจิสติกส์” ณ งานแสดงสินค้าของ Automatica (งานจัดแสดงเทคโนโลยี Automation) ครั้งที่ผ่านมา มีหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติมากมายที่ถูกพัฒนาขึ้น เทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นตั้งแต่แรก เริ่มถูกใช้งานแพร่หลาย ส่วนที่พัฒนาใหม่ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย ซึ่งตอนนี้ก็มุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าใหญ่อย่างโลจิสติกส์ ก่อนที่จะขยายไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป

5. ระบบอัตโนมัติสำหรับประกอบชิ้นส่วน “อิเล็กทรอนิกส์” จะเติบโต

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับวิทยาการหุ่นยนต์คือการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการประกอบชิ้นส่วนนั้นกำลังมา! ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดตอนนี้ เช่น การขันสกรูด้วยหุ่นยนต์เป็นงานทำซ้ำที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ทำให้งานประกอบนั้นเสร็จเร็วขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก หุ่นยนต์สามารถประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอกนิกส์ได้อย่างสม่ำเสมอกว่าแรงงานมนุษย์ที่ทำงานลักษณะเดียวกัน สิ่งนี้สามารถประหยัดเวลาและงบของบริษัทในขณะที่ช่วยลดข้อผิดพลาดที่เกิดจากการประกอบผลิตภัณฑ์ด้วยมนุษย์ควบคู่กันไป

หุ่นยนต์
Image by Freepik

6. อุตสาหกรรมยานยนต์ “ตกบัลลังก์” ด้านหุ่นยนต์เป็นครั้งแรก

นับเป็นเวลานานมากแล้วที่อุตสาหกรรม “ยานยนต์” นั้นเป็นผู้นำของระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ แต่ล่าสุดก็เสียตำแหน่งนี้แล้วเรียบร้อย ในปี 2020 จำนวนการนำหุ่นยนต์ไปใช้ในงานยานยนต์นั้นมากกว่าประเภทอื่นเป็นปกติ แต่ปี 2021 มีจำนวนเท่ากับการใช้งานในอุตสาหกรรมอื่นรวมกันเป็นครั้งแรก จากข้อมูลนี้ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองว่าอุตสาหกรรมอื่นนั้นเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีนี้มากขึ้นแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน!

7. วิทยาการหุ่นยนต์ที่ชาญฉลาดและปรับตัวได้มากขึ้น

ขึ้นชื่อว่า “หุ่นยนต์” นอกจากจะพัฒนาเรื่องความฉลาดได้เรื่อย ๆ แล้ว ตอนนี้การปรับได้หลากหลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เทคโนโลยีนี้ได้รับความนิยม เทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ของหุ่นยนต์สามารถรวบรวมข้อมูลตามเวลาจริงเข้ากับการปฏิบัติงานได้ ซึ่งนั่นจะทำให้การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ตลอดจนการดำเนินงานทำได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของอัลกอริธึมปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้งานได้จริง มีการคาดหวังว่าเร็ว ๆ นี้ ทุกคนจะได้เห็นหุ่นยนต์ชั้นสูงและมีความสามารถที่ซับซ้อนมากขึ้นในไม่กี่ปีข้างหน้า

เหนือสิ่งอื่นใด “หุ่นยนต์ต้องใช้งานง่าย”

กุญแจสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ นอกจากความอัจฉริยะ ความฉลาดของ AI สิ่งที่ทำให้ถูกเลือกใช้จนกลายมาเป็นเทรนด์ฮอตฮิต คือ การเพิ่มขึ้นของหุ่นยนต์ที่ออกแบบมาให้ใช้งานง่าย ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมร่วมสมัยผ่านการใช้งานด้วยแอพพลิเคชั่น ทำให้อุปสรรคในการก้าวเข้าสู่ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัตินั้นลดน้อยลง ซึ่งในปัจจุบัน หุ่นยนต์กลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกบริษัทที่จะใช้ ไม่ใช่แค่บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์เท่านั้น เพราะดูเหมือนว่าแนวโน้มไปสู่หุ่นยนต์ที่ออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานง่ายจะดำเนินต่อไป นอกจากชุดแอพพลิเคชั่นแล้ว เราจะได้เห็นโมเดลธุรกิจที่ใช้หุ่นยนต์เป็นบริการเพิ่มมากขึ้นแน่นอน

แม้เราอาจยังไม่ทราบถึงสถานการณ์ที่แน่ชัดของสิ่งต่าง ๆ ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไรในปี 2023 นี้ แต่หวังว่าการคาดการณ์สำหรับเทรนด์ที่จะเข้ามายกระดับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ภายในเนื้อหาวันนี้ ช่วยให้คุณเกิดไอเดียมาปรับใช้กับธุรกิจคุณได้ และหากคุณยังไม่เคยลองศึกษาการใช้หุ่นยนต์ในธุรกิจ… ไม่มีอะไรเหมาะสมไปกว่าตอนนี้แล้ว!

Credit : ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลมา ณ ที่นี้

เทรนด์ “หุ่นยนต์อุตสาหกรรม” ประจำปี 2022 ตัวช่วยยกระดับธุรกิจแห่งโลกอนาคต

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม

เหมือนเคยพูดถึงเรื่องหุ่นยนต์มาบ้างแล้ว แต่สิ่งที่จะนำมาเสนอวันนี้ เรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ “ล่าสุด” ของอุตสาหกรรมนี้ ต้นสายปลายเหตุมาจากความว้าวจากรายงานที่ว่า “หุ่นยนต์อุตสาหกรรม” ทำสถิติใหม่ประมาณ 3 ล้านหน่วยทั่วโลก เป็นการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 13% ในแต่ละปี นับตั้งแต่ ค.ศ. 2015-2020

จากตัวเลขดังกล่าว สหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติได้วิเคราะห์แนวโน้ม ที่ทำให้อุตสาหกรรมประเภทนี้รวมถึงระบบอัตโนมัติทั่วโลก ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นในธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ เอาไว้อย่างน่าสนใจโดย ประธานสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ มิลตัน เกอร์รี่ ได้พูดถึงเรื่องนี้สั้น ๆ ว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะทั้งอุตสาหกรรมดั้งเดิม หรือแบบใหม่ เป็นเพราะหลายบริษัทนั้นเริ่มตระหนักถึงข้อดีมากมายที่หุ่นยนต์นั้นพร้อมมอบให้กับธุรกิจของพวกเขา ซึ่งก็เป็นเนื้อหาที่พวกเราจะได้ติดตามไปพร้อมกันในวันนี้…

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม

มีอุตสาหกรรมใหม่ “เลือกใช้” หุ่นยนต์มากขึ้น

จะเรียกว่าเป็นการปฏิวัติวงการอีคอมเมิร์ซเลยก็ได้… จากสถิติในปี 2022 มีหุ่นยนต์หลายพันตัวถูกติดตั้งใหม่ทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ที่ไม่อยู่ในการเก็บสถิติเมื่อห้าปีก่อน

ในความพยายามที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน บริษัทเคยมองข้ามการใช้ระบบอัตโนมัติ เห็นได้ชัดจากรายงานข้างต้นว่าสิ่งนี้ได้ถูกนำมาพิจารณามาและใช้งานบ้างแล้ว โดยเฉพาะกับธุรกิจที่ต้องพึ่งพาพนักงานบริการ เช่น ร้านค้าปลีกและร้านอาหาร ที่บางครั้งไม่สามารถตอบสนองตำแหน่งหรือกระบวนการที่ขาดหายไปได้แบบทันที การเลือกลงทุนในระบบอัตโนมัติจึงเป็นสิ่งแรก ๆ ที่เราคาดหวังจากกลุ่มนี้

การขนส่ง การก่อสร้าง การเกษตร และอีกมากมาย จะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นในทุกวัน แม้จะเป็นส่วนงานที่ค่อนข้างใหม่กับระบบอัตโนมัติ แต่ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ผลักดันบริษัทต่าง ๆ ให้ตอบสนองความต้องการส่วนบุคคลรวมถึงการส่งมอบ เป็นสิ่งที่ธุรกิจนี้ต้องปรับตัวอย่างเลี่ยงไม่ได้

หุ่นยนต์ถูกปรับให้ใช้งาน “ง่ายขึ้น”

ก่อนหน้านี้การนำหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมาใช้อาจเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่ตอนนี้หุ่นยนต์รุ่นใหม่นั้นใช้งานง่ายกว่ามากแนวโน้มที่ชัดเจนในส่วนของการเชื่อมต่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถติดตั้งโปรแกรมที่ขับเคลื่อนด้วยไอคอนต่าง ๆ ผ่านหน้าจออินเทอร์เฟซได้อย่างง่ายดาย และยังมีคำแนะนำแบบละเอียดผ่านคู่มือการใช้หุ่นยนต์ ทั้งหมดผ่านการังสรรค์โดยบริษัทหุ่นยนต์และซัพพลายเออร์ที่เข้ามาเป็น “Third Party” รวมรวบข้อมูลออกแบบแพ็คเกจฮาร์ดแวร์ร่วมกับซอฟต์แวร์เพื่อทำออกมาให้เข้าใจและง่ายที่สุดต่อการใช้งาน

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม

ความเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยการมุ่งเน้นไปที่ระบบนิเวศอันสมบูรณ์ กำลังเพิ่มมูลค่ามหาศาล แถมยังช่วยร่นระยะเวลาดำเนินการ นอกจากนี้ แนวโน้มสำหรับวิทยาการหุ่นยนต์แบบโลว์คอสต์ ยังมาพร้อมการติดตั้งที่ง่ายดาย

โดยบางแอปลิเคชั่นสามารถกำหนดค่าล่วงหน้าเอาไว้ได้เลย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ซัพพลายเออร์เข้ามาช่วยเสนอโปรแกรมมาตรฐานผ่านแอปสโตร์ เพื่อใช้ร่วมกับอุปกรณ์จับยึด เซนเซอร์ และตัวควบคุม ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนกันและกัน ทำให้การใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมมีต้นทุนในราคาที่เบาบางกว่าเดิม

ในส่วนของเทคโนโลยีโรบอทหรือเอไอต่าง ๆ โรงกลึงพี-วัฒน์เองก็สนใจเทคโนโลยีและแอปพลิเคชั่นสำหรับควบคุมการทำงานของโรบอทหรือเอไอเหล่านี้เป็นอย่างมาก สำหรับใช้ประโยชน์ช่วยสนับสนุนและแบ่งเบาภาระให้กับวิศวกรผู้ควบคุมการทำงานในโรงกลึง และเพื่อที่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นจะได้เอาเวลาไปพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ หรือตัดสินใจแก้ปัญหาที่สำคัญ ๆ แทนการทำงานโอเปอเรชั่นหน้างาน

หุ่นยนต์ช่วยมนุษย์ “เพิ่มทักษะ” ได้มากกว่าที่คิด

ด้วยเส้นทางของสายการผลิตที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลโดยเน้นไปที่การศึกษาและการฝึกอบรม ทำให้รัฐบาล สมาคมอุตสาหกรรม รวมถึงบริษัทต่าง ๆ จำนวนมากเล็งเห็นความจำเป็นของการศึกษาเกี่ยวกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติขั้นพื้นฐานในระยะเริ่มต้นสำหรับคนรุ่นใหม่นอกเหนือจากการฝึกอบรมพนักงานภายในแล้ว เส้นทางการศึกษาภายนอกยังสามารถปรับปรุงโปรแกรมการเรียนรู้ของพนักงานได้อีกด้วย ยกตัวอย่างผู้ผลิตหุ่นยนต์ เช่น ABB, FANUC, KUKA และ YASKAWA นั้นรวมกันแล้วมีคนลงทะเบียนเข้าร่วมคลาสหุ่นยนต์อุตสาหกรรมระหว่าง 10,000 – 30,000 คนในกว่า 30 ประเทศทุกปี

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม

หากดูแนวโน้มจากการเกิด “Great Resignation” อาจดูเป็นสิ่งที่น่ากังวล แต่บางแง่มุมกลับกลายเป็นว่าวิทยาการหุ่นยนต์กำลังช่วยยกระดับโปรไฟล์ของพนักงานโรงงานให้ดียิ่งขึ้น อาจรวมถึงความต้องการของผู้คนที่อยากทำงานในสภาพแวดล้อมสมัยใหม่ที่พวกเขาสามารถสร้างอาชีพเองได้

ทั้งนี้ โอกาสในการฝึกอบรมทักษะเกี่ยวกับวิทยาการหุ่นยนต์ ยังเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่ายสำหรับทั้ง “บริษัท” และ “พนักงาน” ต่อจากนี้ งานทำซ้ำอันแสนน่าเบื่อ งานที่ก่อให้เกิดความสกปรก และงานที่เสี่ยงอันตราย สามารถถูกแทนที่ได้ด้วยระบบอัตโนมัติหรือ “หุ่นยนต์” ส่วนของ “ผู้คน” นั้นก็จะเปลี่ยนไปเรียนรู้ทักษะที่สำคัญต่อธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตแทน เป็นการเพิ่มศักยภาพในการทำงาน เพิ่มทักษะ เพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้ตลอดอาชีพของพวกเขา

ตอบโจทยธุรกิจ “โลกอนาคต” ได้ด้วยหุ่นยนต์

คาดการณ์ของข้อมูลนี้มองว่า ปี 2022 และปีต่อ ๆ ไป ข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการผลิตในอนาคต ข้อมูลที่รวบรวมจากกระบวนการอัตโนมัติอย่างชาญฉลาด จะถูกวิเคราะห์โดยผู้ผลิตเพี่อทำการตัดสินใจด้วยสถิติมากขึ้น ด้วยความสามารถของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่มีการแบ่งปันงานและเรียนรู้ผ่าน AI

บริษัทต่าง ๆ ยังสามารถปรับใช้ระบบอัตโนมัติอัจฉริยะได้ง่ายขึ้นในสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ตั้งแต่การก่อสร้างไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ไปจนถึงห้องปฏิบัติการด้านการดูแลสุขภาพอีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากความตึงเครียดทางการค้าและ “โควิด-19” มีการผลักดันให้ภาคการผลิตกลับมาใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น มีสถิติที่เปิดเผยโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก สหรัฐอเมริกา ที่แสดงให้เห็นว่าระบบอัตโนมัติกลับมาทำธุรกิจได้อย่างไร

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม

ข้อมูลของ Association for Advancing Automation (A3) คำสั่งซื้อหุ่นยนต์ในสหรัฐฯ ผ่านไตรมาสที่สามของปี 2021 เพิ่มขึ้นถึง 35%

การเติบโตของสถิติดังกล่าว ไม่ได้เป็นเรื่องของหุ่นยนต์เท่านั้น ระบบการมองเห็นของเครื่องจักร การคุมการเคลื่อนไหว และมอเตอร์ก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก หลายบริษัทมีแนวโน้มว่าจะลงทุนในระบบอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น และมากที่สุดคือ “อุตสาหกรรมยานยนต์”  ซึ่งย้อนไปในช่วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อปี 2020 มีคำสั่งซื้อมากกว่าครึ่งที่มาจากอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเภทนี้

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมนี้ผ่านช่วงนำร่องมาแล้ว ซึ่งตอนนี้ AI สำหรับหุ่นยนต์กำลังเติบโตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และการเรียนรู้ทักษะที่เกี่ยวข้องก็อยู่ในกระแสหลัก เชื่อได้เลยว่าปี 2022 และปีต่อ ๆ ไป การคาดการณ์ที่จะเห็นเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกนำไปใช้มากขึ้นในวงกว้างจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน 

ขอบคุณข้อมูลจากบทความต้นฉบับจาก https://ifr.org/ifr-press-releases/news/top-5-robot-trends-2022

ตัวช่วยอุตสาหกรรมการผลิต เลือกใช้ให้เหมาะสม จะ Cobot หรือ Robots ดี?

Cobot

จากบทความก่อนที่เราได้พากันไปเจาะลึกเกี่ยวกับ “หุ่นยนต์อุตสาหกรรม” ว่าตอนนี้นั้นมีแบบไหน ประเภทไหน ที่กำลังได้รับความนิยมและถูกใช้งานมากที่สุด ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยการพูดถึงอีกหนึ่งเทคโนโลยี “ลูกผสม” อย่าง “Cobot” ว่ามีความน่าสนใจและเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของอุตสาหกรรมการผลิตไม่แพ้กัน ในความแตกต่างเต็มด้วยไปด้วยประโยชน์มากมายที่หลายธุรกิจสามารถนำมาเป็นตัวเลือกเพื่อใช้ในโรงงานผลิตของคุณได้ไม่แพ้กับ Robots (หรือเรียกอีกอย่างว่า หุ่นยนต์อุตสาหกรรม) เลยทีเดียว

ส่วนความแตกต่างของ Cobot กับ Robots นั้นมีอะไรบ้างที่เราควรรู้ เพื่อสุดท้ายแล้วจะได้นำไปประกอบการตัดสินใจสำหรับเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานของคุณ เรารวบรวมข้อมูล รวมถึงจุดสังเกตต่าง ๆ เอาไว้ในเนื้อหาด้านล่างนี้แล้ว เชิญติดตามกันได้เลย

Cobot

Cobot คืออะไร?

Cobot คือ หุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำงานร่วมกับมนุษย์บนภาคอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่แล้วจะเห็นได้มากในส่วนผลิต ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน ISO 10218-1 รวมถึงมาตรฐานรักษาความปลอดภัยอื่น ๆ โดยคำว่า Cobot ย่อมากจาก “Collaborative Robots” หากดูจากวัตถุประสงค์ที่สร้างขึ้นมาตามคำนิยามของสมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ จะเห็นได้ว่ามีความหมายตรงตัวที่ชัดเจน

ลักษณะของ Cobot นั้น ส่วนใหญ่ที่พบเจอได้มากจะเป็นในรูปแบบของแขนกล มีขนาดที่กะทัดรัด ง่ายต่อการใช้งานและเป็นมิตรกับมนุษย์ เพราะการสร้างนั้นคำนึงถึงการทำงานร่วมกันไปจนถึงความปลอดภัยเป็นหลัก 

สิ่งที่ทำให้ Cobot ประสานงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย สืบเนื่องมากจาการติดตั้งเซนเซอร์ที่ล้ำสมัยต่าง ๆ ตลอดจนการตั้งค่าตัวเครื่องเพื่อซัพพอร์ตงานของมนุษย์อยู่แล้ว ก็วนกลับไปอย่างที่บอกไว้ในช่วงต้นว่าสิ่งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อมาตรฐานความปลอดภัย สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นปัจจัยหลักในการมีอยู่ของสิ่งนี้นอกเหนือจากประโยชน์ในงานอุตสาหกรรม

ความแตกที่สำคัญระหว่าง Cobot กับ Robots

สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดมีหลายอย่างเหมือนกัน แต่ข้อที่สำคัญและสังเกตได้ง่ายที่สุด กล่าวคือ Cobot นั้นได้รับการออกแบบให้ทำงานร่วมกับมนุษย์ ส่วนหุ่นยนต์อุตสาหกรรม หรือ Robots นั้นเป็นการทำหน้าที่แทนมนุษย์

ย้อนกลับไปในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัย Cobot นั้นสามารถช่วยพนักงานให้อยู่ห่างจากอันตรายได้อย่างมาก รวมถึงงานที่ต้องใช้แรงกำลังในการทำเกินกว่าพลังของมนุษย์ ตลอดจนถึงงานที่เป็นแบบ routine อันแสนน่าเบื่อหน่าย เราก็สามารถให้เทคโนโลยีนี้ช่วยได้เช่นกัน นอกจากจะทำให้อุตสาหกรรมมีความปลอดภัยแล้ว ยังส่งผลให้คุณภาพงานต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ส่วนเจ้าหุ่นยนต์อุตสาหกรรม Robots จะอยู่ในทิศทางกันตรงข้ามกันเลย สิ่งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้กระบวนการผลิตเป็นไปในแบบอัตโนมัติเกือบทั้งหมด เรียกได้ว่าแทบจะปราศจากการร่วมมือของมนุษย์ในกระบวนการผลิต แต่ก็ส่งผลเป็นข้อดีในแง่ของการลดจำนวนทรัพยากรมนุษย์ ทำให้บุคลากรเหล่านั้นใช้เวลาตรงส่วนนี้ไปทำงานที่มีความหมายมากกว่า และอาจรวมถึงลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บในท่วงท่าซ้ำ ๆ เมื่อต้องการทำงานร่วมกับ Cobot อย่างต่อเนื่องเป็นเวล่านาน ซึ่งก็มีสิทธิ์เกิดขึ้นได้เช่นกัน

Cobot

Cobot vs Robots สิ่งแตกต่างในความสามารถบนอุตสาหกรรมการผลิต

ยังไม่มีข้อชี้วัดแบบที่ช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจน ไม่มีแบบไหนที่ดีกว่ากัน มีแต่การเลือกใช้งานให้ตอบโจทย์กับอุตสาหกรรมนั้น ๆ นี่เป็นสิ่งที่ทั้งสองอย่างนี้พร้อมเป็นตัวเลือกให้กับในทุกโรงงานผลิตได้

Cobot สามารถตั้งค่าโปรแกรมต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เพราะสามารถเรียนรู้ในงานที่เคยถูกตั้งค่าเอาไว้ได้ด้วย วิธีการหากพูดแบบบ้าน ๆ เลยก็คือพนักงานสามารถจะตั้งค่า Cobot ใหม่ได้แบบง่ายดาย เพียงแค่ขยับแขนหรือชิ้นส่วนที่เราต้องการให้เป็นไป จากนั้น Cobot จะจดจำแล้วทำซ้ำได้ด้วยตัวเอง

ในส่วนของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากจำเป็นต้องใช้วิศวกรผู้ชำนาญการในด้านนั้น ๆ เขียนโค้ดขึ้นใหม่ทั้งหมดสำหรับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตามต่อกระบวนการที่จะนำไปใช้

แต่ในประโยชน์ของ Cobot ก็มีข้อจำกัดที่ตามมา ด้วยความที่มีขนาดและความจำเป็นที่ต้องทำงานร่วมกับมนุษย์ สิ่งนี้จึงไม่ตอบโจทย์ในการผลิตจำนวนมาก ๆ ซึ่งข้อนี้เองที่กลายเป็นจุดแข็งแกร่งของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่เรียกได้ว่า “เกิดมาเพื่อสิ่งนี้” ยกตัวอย่างเช่น วงการยานยนต์ที่ในส่วนการผลิตนั้นแทบจะเป็นการใช้หุ่นยนต์เกือบเต็มรูปแบบ มีระบบแยกจุดระหว่างเครื่องจักรกับมนุษย์เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรในโรงงาน

ขณะเดียวกัน หากไม่ใช่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่แบบที่กล่าวไป Cobot จะกลายเป็นคีย์แมนเพราะมีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับการทำงานร่วมกับมนุษย์ รวมถึงความสะดวกรวดเร็วในการปรับค่าต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ความซับซ้อนสูงบนส่วนของการผลิตนั่นเอง

ด้านผู้ประกอบการของโรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตอย่างโรงกลึงพี-วัฒน์เอง ก็อย่างที่เคยกล่าวไปแล้ว เรื่องวิสัยทัศน์ในการติดตามเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อมาปรับใช้ในกระบวนการผลิต และถึงแม้ว่าทั้ง Cobot หรือ Robots ยังจะดูห่างไกลไปซักหน่อยในตอนนี้กับรูปแบบการทำงานในโรงกลึงของเรา แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ซะทีเดียว เรายังคงเปิดรับและพยายามปรับปรุงแก้ไขกระบวนการที่เยิ่นเย้อ ทับซ้อน เพื่อให้คล่องตัวมากขึ้นและสอดคล้องกับการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้อยู่เสมอๆ

Cobot

ทุกความแตกต่างมีข้อดี อยู่ที่การเลือกใช้ให้เหมาะกับอุตสาหกรรม

อย่างที่ย้ำกันมาเสมอตั้งแต่เริ่มเรื่อง ทั้งสองสิ่งนี้เป็นตัวช่วยบูสต์ศักยภาพของอุตสาหกรรมการผลิตได้เป็นอย่างดี เพียงแต่มีข้อแตกต่างในเรื่องของสมรรถนะการใช้งาน ความปลอดภัย ตลอดจนต้นทุนของโรงงานผลิตบนอุตสาหกรรมนั้น ๆ ฉะนั้น สิ่งที่ควรต้องคำนึงถึงให้มากที่สุดก่อนเลือกนำเข้าใช้งานกับธุรกิจจำเป็นต้องดูปัจจัยหลาย ๆ อย่างร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำลังการผลิต ลักษณะงานที่ต้องทำ น้ำหนักของสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ตลอดจนเรื่องของพื้นที่ก็เป็นส่วนที่จะละเลยไม่ได้เด็ดขาด

ส่วนอีกข้อสำคัญ เราต้องไม่หลงลืมประเด็นว่า Cobot นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อช่วยอุตสาหกรรมลดต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงจากการหลีกเลี่ยงไม่ใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่มีค่าใช้จ่ายแพงกว่า เพราะแต่ละโรงงานนั้นต่างถูกกำหนดมาแล้วด้วยไลน์ของการผลิต หากเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ระบบแอบอัตโนมัติทั้งหมดในกระบวนการดังกล่าวยังไงเสียหุ่นยนต์อุตสาหกรรมก็ยังคงมีที่ยืน แต่หากเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ต้องใช้งานแบบเต็มระบบขนาดนั้น การมองความสามารถของ Cobot. ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีไม่แพ้กัน และนี่ก็เป็นสิ่งที่หลาย ๆ ธุรกิจหากคิดเริ่มจะใช้งานเรื่องของหุ่นยนต์ต้องประเมินให้ถี่ถ้วนและรอบคอบที่สุด

ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ทำความรู้จัก “หุ่นยนต์อุตสาหกรรม” ตัวไหนฮิตสุดในปัจจุบัน

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม

หากย้อนหลังไปกว่านี้สัก 7-10 ปี การพูดถึง “หุ่นยนต์อุตสาหกรรม” ดูจะเป็นเรื่องที่ถูกจำแนกไว้เพียงแค่โรงงานขนาดใหญ่เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยมายด์เซตก็ดี หรือด้วยข้อเท็จจริงก็ดี การที่โรงงานนึงจะใช้เทคโนโลยีนี้ได้ ถูกมองว่าต้องมีทุนที่หนาไม่น้อย นอกจากจะเป็นเรื่องที่ใหม่แล้ว เรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ก็ดูเหมือนจะยังไม่มีความพร้อมรอบด้านเหมือนกับอย่างทุกวันนี้ ทำให้ผู้คนมากมายต่างมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวอยู่พอสมควร

ณ ปัจจุบัน มันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีนัก หากเราจะบอกว่า โควิด-19 นั้นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เข้ามาบูสเตอร์กับหลายโรงงานให้ได้รู้จักกับเทคโนโลยี และเลือกใช้กับประเภทที่เหมาะกับอุตสาหกรรมของพวกเขามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก็วนกลับไปที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นในเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ได้ถูกพัฒนาอย่างรุดหน้าในช่วงที่หลายองค์กร นักพัฒนา ผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ พร้อมใจกันฝ่าวิกฤตการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ผลพลอยได้ต่าง ๆ นั้นก็ส่งต่อมาถึง “หุ่นยนต์อุตสาหกรรม” ในจังหวะที่พอเหมาะพอเจาะ

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม

ประเภทของ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ที่ใช้งานทั่วไปมีอะไรบ้าง ?

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial Robot) ถ้าให้พูดกันแบบเร็ว ๆ สิ่งนี้ก็คือหนึ่งในชนิดของเครื่องจักรกลที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานสำหรับกระบวนการต่าง ๆ โดยมีทั้งแบบควบคุมโดยมนุษย์ หรือควบคุมโดยระบบอัตโนมัติ ผ่านการป้อนโปรแกรม มีทุกขนาดตั้งแต่เล็กสุดจนถึงใหญ่สุด ซึ่งในส่วนของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมนั้น จะแบ่งออกเป็นไทป์คร่าว ๆ ก่อนถูกประยุกต์ตามรูปแบบอีกที เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานตามประเภทของโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ๆ

ประเภทของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม

Cartesian Robot

มีอีกหนึ่งชื่อเรียกคือ Linear Robot ซึ่งลักษณะการทำงานนั้นก็แปลตรงตัวกับความหมายเลย หุ่นยนต์ชนิดนี้จะเน้นการคลื่อนที่เป็นเส้นตรงหมดทั้ง 3 แกน เป็นหนึ่งในประเภทที่มีความแข็งแรงเหมาะสำหรับงานที่ต้องใช้ประสิทธิภาพในการับน้ำหนักสูง แต่ก็ต้องแลกด้วยกับการที่ไม่สามารถใช้งานแบบละเอียดอ่อนได้ รวมถึงใช้พื้นที่ในการติดตั้งมากตามขนาดของหุ่นยนต์

ในอุตสาหกรรม การใช้งาน Cartesian Robot ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการนำไปประยุกต์ใช้ประกอบเข้ากับชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเครื่องจักรอีกทีนั่นเอง

Cylindrical Robot

ลักษณะการทำงานนั้นจะคล้ายคลึงกับประเภทก่อนหน้าเลยทีเดียว เพียงแต่ Cylindrical Robot จะเป็นการทำงานแบบหมุนรอบแกน ไม่ได้เป็นแบบเลื่อนเข้าออกเส้นตรงอย่าง Linear Robot

สำหรับหุ่นยนต์ประเภทนี้มักถูกนำไปใช้งานขนย้ายสิ่งของต่าง ๆ จับยก งานเชื่อม ตลอดจนถึงงานประกอบแบบอื่น ๆ ที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก เนื่องจากเป็นหุ่นยนต์ที่เน้นการทำงานแบบรวดเร็วเป็นหลัก (ตัวอย่างงานเชื่อมในโรงกลึงพี-วัฒน์ ก็สามารถนำ Cylindrical Robot มาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน)

SCARA Robot

หุ่นยนต์ประเภทนี้มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Selective Compliance Assembly Robot Arm และน่าจะเป็นประเภทที่พบเห็นได้บ่อย ลักษณะการทำงานจะเป็นการเคลื่อนที่แบบหมุน 2 จุด ในส่วนของบริเวณมือจับนั้นเป็นส่วนที่สามารถเคลื่อนที่ในแนวตั้งได้เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งาน

SCARA Robot ถูกใช้งานส่วนใหญ่กับอุตสาหกรรมงานประกอบชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์ขนาดเล็ก เหมาะกับงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน มีความแม่นยำสูง อาจประยุกต์ใช้กับงานบรรจุภัณฑ์เล็ก ๆ ได้เช่นกัน

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม
Polar Robot

ลักษณะการทำงานของหุ่นยนต์ประเภทนี้ที่มีอีกหนึ่งชื่อเรียกว่า Spherical Robot เป็นการทำงานแบบหมุน 2 จุด ในส่วนของตัวฐานและไหล่ของตัวหุ่นยนต์ สำหรับส่วนของมือจับของประเภทนี้สามารถยืดหดได้ จะต่างกับ SCARA ที่เป็นการเคลื่อนไหวแบบแนวดิ่ง

Polar จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับงานประเภทหยิบจับ รวมถึงงานเชื่อมต่าง ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วการยืดหดของแขนจับอาจนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่านี้ แต่ด้วยความซับซ้อนดังกล่าวเช่นกันที่ทำให้ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายนัก

Articulated Robot (Jointed Arm)

หุ่นยนต์อุตสาหกรรมประเภทนี้ถูกเรียกแบบเข้าใจตรงกันง่าย ๆ ว่า “Jointed Arm” ลักษณะการใช้งานก็จะเหมือนกับการเคลื่อนไหวของแขนมนุษย์ แม้จะไม่มีความอิสระเท่า แต่ด้วยข้อทั้งหมดที่เคลื่อนไหวแบบจุดหมุน (Revolute) 3 จุดขึ้นไป ซึ่งก็แล้วแต่การออกแบบอาจมีได้มากสูงสุดเป็น 10 จุด หรือตามต้องการความอิสระของลักษณะการใช้งานนั้น ๆ

ด้วยความอิสระดังกล่าวนี้เอง ทำให้ Articulated Robot ถูกนำไปประยุกต์ใช้งานโรงงานอุตสาหกรรมได้หลายรูปแบบ หลายประเภท ทำได้แทบจะทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นยกของทั่วไป งานตัด งานเชื่อม แม้กระทั่งงานพ่นสี สิ่งนี้ก็ให้คุณได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมาพร้อมกับผู้เชี่ยวชาญที่ชำนาญการด้านการใช้หุ่นยนต์ประเภทนี้ เพื่อให้เข้าถึงประสิทธิภาพได้สูงสุด

นอกเหนือจากที่เราได้แนะนำไปแต่ละประเภท ยังมีหุ่นยนต์แบบ Custom ที่สามารถออกแบบได้ตามต้องการเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ๆ ตอบโจทย์ที่สุด ซึ่งก็ต้องแลกมากับต้นทุนที่สูงสุดขึ้น นั่นก็เป็นเรื่องที่แต่ละโรงงานต้องมาคำนวณให้ดีว่าการเข้ามาของสิ่งดังกล่าวจะสามารถพัฒนาสิ่ง ๆ ได้คุ้มกับที่เสียไปหรือไม่

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม

แนวโน้มหุ่นยนต์อุสาหกรรมในประเทศไทยและทั่วโลก

แม้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ดูเหมือนว่าแนวโน้มของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะได้รับการยอมรับและเริ่มถูกใช้งานมากขึ้นนับแต่เกิดวิกฤต โควิด-19 แต่ก็ยังมีจุดสังเกตหลายประการที่ทำให้สิ่งนี้น่าจะยังเป็นที่แพร่หลายในเร็ววัน ทั้งเรื่องต้นทุนที่ค่อนข้างสูง รวมถึงการใช้งานจำเป็นต้องมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะเป็นผู้ควบคุมดูแล ทำใหั “Cobot” กลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมของโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาที่เข้าถึงได้ง่ายหากเทียบกับหุ่นยนต์ การตั้งค่าต่าง ๆ ในปัจจุบันก็พร้อมตอบโจทย์ความต้องการได้ไม่แพ้กัน

ส่วนในเรื่องของ Robot กับ Cobot นั้นมีความเหมือน หรือ แตกต่างกันในด้านไหนบ้าง ไว้เราจะพาไปเจาะลึกกันในโอกาสต่อไป 

แต่สำหรับท่านไหนที่ใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมอยู่แล้ว มีความต้องการในเรื่องของอะไหล่ต่าง ๆ การผลิตชิ้นส่วนเฉพาะ เราโรงกลึงพี-วัฒน์พร้อมดูแลเดินร่วมทางไปด้วยกันกับคุณเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นทั้ง Robot หรือ Cobot มั่นใจในงานบริการของเราได้แบบ 100 เปอร์เซนต์