Sustainability : กลยุทธ์ “การรักษาสิ่งแวดล้อม” สู่ความเป็นผู้นำในธุรกิจ?

การรักษาสิ่งแวดล้อม

เทรนด์โลกที่เกี่ยวข้องกับการตระหนักถึงเรื่อง “การรักษาสิ่งแวดล้อม” กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก และมักจะได้ยินบริษัทชั้นนำปล่อยแคมเปญมากมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ Sustainability หรือที่พากย์ไทยได้ว่า “ความยั่งยืน” โดยที่เราจะมาแชร์วันนี้เป็นเนื้อหาที่มาจาก Forbes สื่อการเงินยักษ์ใหญ่ที่พูดถึงเรื่องนี้ในหลายแง่มุมเอาไว้อย่างน่าสนใจ และน่าจะช่วยยกระดับของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจของคุณได้ในระยะยาว

สำหรับผู้นำทางธุรกิจหลาย ๆ คน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ประเด็นหลัก รวมถึงเรื่องของความยั่งยืนอาจเป็นหัวข้อที่ซับซ้อนและน่ากลัว แต่จริง ๆ นั้นยังมีหลายขั้นตอนที่ปฏิบัติได้จริง แล้วก็ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด บริษัทต่าง ๆ โรงงาน โรงกลึงทั่วไปสามารถดำเนินการเพื่อจัดการกับความยั่งยืนไปพร้อมกับความก้าวหน้า ซึ่งเป็นย่างก้าวที่น่าสนใจและอาจเป็นเหตุผลที่จะผลักดันให้หลาย ๆ ธุรกิจก้าวไปข้างหน้าได้มั่นคงกว่าเดิม

การรักษาสิ่งแวดล้อม
Image by Freepik

เปลี่ยนคำคาดการณ์ Sustainability ให้เป็นโครงการที่ทำได้จริง

ที่ผ่านมาบริษัทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้รับมอบหมายจากนักลงทุนและรัฐบาลให้คำนวณผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีเหตุผลที่จะสันนิษฐานว่า “ความยั่งยืน” กำลังกลายเป็นประเด็นหลักในการพิจารณาสำหรับผู้บริโภคตลอดจนธุรกิจอื่น ๆ เมื่อพวกเขาเลือกผลิตภัณฑ์และคู่ค้า

จากการศึกษาของ CapGemini ความชอบของผู้บริโภคสำหรับผลิตภัณฑ์และแบรนด์ที่ยั่งยืนนั้นแข็งแกร่ง ผู้บริโภคส่วนใหญ่กว่า 64% กล่าวว่าการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนทำให้พวกเขารู้สึกมีความสุข มี 79% กำลังเปลี่ยนความต้องการซื้อโดยคำนึกถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยผู้บริโภค 8 ใน 10 กำลังตัดสินใจเลือกซื้อโดยคำนึงถึงความยั่งยืน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดนี้นั้นตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

จากตัวเลขสู่จุดเริ่มต้นที่เป็นไปได้

เปอร์เซนต์ของข้อมูลดังกล่าว ได้เปลี่ยนถ้อยคำซ้ำซากจำเจที่ว่า “เราทุกคนมีพลังที่จะสร้างความแตกต่าง” ให้เป็นความพยายามร่วมกันของกลุ่มคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกที่ยั่งยืนมากขึ้น

สิ่งที่เห็นชัดคือบริษัทต่าง ๆ มีบทบาทร่วมกัน และจุดเริ่มต้นที่ดีเป็นการนำกรอบความคิดทั่วทั้งบริษัทมาใช้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาได้อย่างไร แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถเกิดผลได้หากมีการร่วมมือกันและทำมันอย่างสม่ำเสมอ มีข้อมูลล่าสุดว่าการดำเนินโครงการริเริ่มเกี่ยวกับความยั่งยืนทำให้บริษัทต่าง ๆ นั้นลดการปล่อยมลพิษตามข้อตกลงของ Paris Climate Accord ถึง 60%

3 กลยุทธ์ Sustainability “การรักษาสิ่งแวดล้อม” ผ่านกระบวนการอุตสาหกรรม

ข้อมูลที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงแค่น้ำจิ้มเท่านั้น หากคุณอยากดำเนินตามแนวทางที่จะช่วยให้ธุรกิจเข้าสู่ความยั่งยืนและเคร่งครัดต่อ การรักษาสิ่งแวดล้อม มากยิ่งขึ้น โครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรปรับปรุง พัฒนา และจากบรรทัดนี้ต่อไปเป็นกลยุทธ์ที่ Forbes มองว่าเป็นสิ่งเริ่มต้นที่จำเป็น

การรักษาสิ่งแวดล้อม
Image by frimufilms on Freepik

มุ่งมั่นสู่การทำงานจากระยะไกล (Remote Work)

นี่คือยุคสมัยแห่ง “Remote Work” แม้จะยังเป็นสิ่งที่ผู้นำทางธุรกิจไม่ค่อยแน่ใจนัก แต่ความต้องการจากพนักงานนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จำนวนงานทางไกลที่ลงโฆษณาในสหรัฐฯ ลดลงเหลือเพียง 14% ในเดือนกันยายน เทียบกับ 1 ใน 5 ของงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 มีรายงานว่าผู้สมัครเพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น 52% ในเดือนดังกล่าว เรียกว่าโอกาสการจ้างงานแบบ Remote Work ก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องหากยึดตามสถิติตัวเลขนี้

ต้องบอกว่าความต้องการของพนักงานเป็นตัวกระตุ้นที่แข็งแกร่งสำหรับธุรกิจในการพิจารณาการทำงานแบบรีโมทเวิร์ค โดยเฉพาะหากพูดถึงเรื่องความยั่งยืนของสังคมบนพื้นฐานสภาพแวดล้อม การทำงานลักษณะนี้ส่งผลดีต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบริษัทด้วยการลดใช้พลังงานและของเสียให้เหลือน้อยที่สุด

การรักษาสิ่งแวดล้อม
Image by rawpixel.com on Freepik

ยิ่งตัวเลขของสถิติเร็ว ๆ นี้พบว่าการทำงานแบบรีโมทเวิร์คเป็นเวลาสี่วันต่อสัปดาห์สามารถลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ได้ 10% รวมถึงการปล่อยก๊าซส่วนตัวต่อบุคคุลได้ถึง 80% นอกจากนี้ แบบจำลองสถานที่ทำงานเสมือนจริงยังสามารถปรับปรุงสภาพการจราจรท้องถิ่นโดยลดการเดินทาง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาว่าการขนส่งเป้นแหล่งกำเนิดมลพิษคาร์บอนอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา

ยกระดับความตั้งใจ ลดการเดินทางเพื่อธุรกิจ

การเดินทางทางอากาศคิดเป็น 2% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก การเดินทางเพื่อธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกบริษัทนั้นล้วนมีบทบาทในปัญหานี้

นับแค่ในปี 2019 แค่บริษัท Saleforce เพียงอย่างเดียวก็สร้าง CO2 มากถึง 146,000 เมตริกตัน แต่เมื่อมีกระแสเรื่องของการจัดการเกี่ยวกับ Sustainability ตัวเลขนี้ลดลงถึง 86% แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่สำคัญต่อแนวทางเรื่องการเดินทางเพื่อธุรกิจ เพียงแค่รอบคอบมากขึ้นก็สร้างประโยชน์เพิ่มได้แล้ว เป็นเรื่องที่ผู้นำของธุรกิจต้องแสดงถึงความตั้งใจและใช้กับเรื่องที่จำเป็นจริง ๆ

สร้างสถานะ “ดิจิทัล” ที่ยั่งยืน

แท็กของบุคคลที่สามบนเว็บไซต์ (Third-Party) นั้นให้ข้อมูลและบริการที่มีค่าสำหรับทั้งธุรกิจและลูกค้าของคุณ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เว็บไซต์ของคุณนั้นทำให้คอมพิวเตอร์ของพวกเขานั้นทำงานหนัก… ถึงเวลาที่ต้องปรับแล้ว!

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับอินเทอร์เนตที่เราใช้นั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกถึง 3.7% การจัดการแท็กที่ซ้ำกัน การประเมินและจำกัดแอพพลิเคชั่นเธิร์ดปาร์ตี้ที่ไม่จำเป็นเพื่อลดภาระ รวมถึงการออกแบบหน้าเว็บไซต์ให้ยูสเซอร์ “ใช้งานง่าย” (User Friendly) วิธีการต่าง ๆ เหล่านี้สามารถยกระดับประสบการณ์ของผู้บริโภคได้อย่างมาก และยังเป็นการช่วยลดดิจิทัลฟุตปรินท์ของบริษัทคุณ โดยทาง Forbes แนะนำเครื่องมือฟรีอย่าง taginspector.com เป็นสเตปแรกหากคุณอยากเริ่มต้นศึกษาเรื่องนี้

นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพบนเว็บไซต์ บริษัทต่าง ๆ ยังสามารถปลี่ยนการใช้จ่ายค่าโฆษณาโดยการจัดลำดับความสำคัญเพื่อก้าวสู่กระบวนการนี้ได้ จากการศึกษาในปี 2018 พบว่าโฆษณาออนไลน์คิดเป็น 10% ของการใช้พลังงานอินเทอร์เนต หากต้องการเข้าสู่ยุคใหม่ ยุคที่ต้องใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม การมุ่งเน้นเพื่อลดดิจิทัลฟุตปรินท์เป็นจุดเริ่มต้นที่ยอดเยี่ยมในการสนับสนุนกระบวนการนี้

การรักษาสิ่งแวดล้อม
Image by fxquadro on Freepik

Key Takeaway

สุดท้ายแล้ว 3 คีย์หลักของแนวคิดจะสมบูรณ์แบบได้ต้องมีครบทุกอย่างทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้นำธุรกิจ Sustainability อาจยังฟังดูน่ากลัว ดูน่าสับสน และอาจถูกมองว่านี่เป็นการหลุดจากเป้าหมายหลักของบริษัทในแง่ของผลกำไร แต่หากพูดถึงการจัดการเรื่องความยั่งยืนของธุรกิจอย่างชาญฉลาดก็ถือเป็นเทรนด์ที่กำลังมาและเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ต่อธุรกิจในระยะยาว ซึ่งกลยุทธ์ที่ฟอร์บส์ได้นำมาบอกเล่าวันนี้ก็น่าจะช่วยยกระดับธุรกิจคุณสู่สิ่งนี้ได้ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

Cover Image : Image by Freepik

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : 

https://www.forbes.com/sites/forbesbusinesscouncil/2023/02/06/sustainability-how-leaders-in-any-industry-can-make-a-difference/?sh=776038a058ec

https://www.activesustainability.com/sustainable-development/what-is-sustainability/?_adin=01742703305

“พลังงานหมุนเวียน” เทรนด์พลังงานหลักของโลกอุตสาหกรรมในอีกไม่ช้า

พลังงานหมุนเวียน

มลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่งผลเสียต่อโลกของเราหนักหน่วงกว่าที่คาดเอาไว้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ในร้ายก็ยังมีดีอยู่เสมอ.. เมื่อสาเหตุดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญให้ประชากรทั่วโลกหันมาตระหนักในเรื่องของมลพิษ รวมถึงข้อจำกัดที่มีของพลังงานดั้งเดิม อย่างพลังงานฟอซซิล (Fossil Fuel) ทำให้อุตสาหกรรมและธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานโดยตรง ต่างมีจุดหมายใหม่ในเส้นทางของการใช้พลังงานในอนาคตที่ตรงกัน ซึ่ง “พลังงานหมุนเวียน” คือเรื่องที่เราจะนำมาพูดคุยกันในวันนี้!

พลังงานหมุนเวียน คืออะไร ?

พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) คือ พลังงานต่าง ๆ จากแหล่งที่เราสามารถนำมาใช้ได้แบบไม่มีวันหมด และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก โดยเฉพาะหากเทียบกับพลังงานแบบดั้งเดิมที่ใช้กันมานมนาน ข้อหลังนี้ถือเป็นข้อดีแสนสำคัญยิ่งกว่าความอมตะนิรันดร์กาลของพลังงานนี้ด้วยซ้ำ

พลังงานหมุนเวียน

พลังงานหมุนเวียน สำคัญอย่างไร ?

เอาเป็นว่าแค่การที่ใช้ได้แบบไม่มีวันหมดแค่อย่างเดียว ก็น่าจะบ่งบอกถึงความสำคัญในตัวเองของสิ่งนี้ได้เป็นอย่างดี และอย่างที่ได้บอกไปว่าทุกประเภทของพลังงานหมุนเวียนนั้นหากพูดถึงการทำลายสิ่งแวดล้อม แทบจะส่งผลน้อยนิดมากเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หลายคนเชื่อว่าจะเข้ามาแทนที่พลังงานสิ้นเปลืองในอนาคตอันใกล้นี้

หากมีการปรับใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม เห็นผลจากคุณภาพชีวิตขอประชากรโลกและสิ่งแวดล้อม พลังงานหมุนเวียนจะกลายเป็นเทรนด์พลังงานหลักในไม่ช้า ชนิดที่ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมธุรกิจขนาดใด องค์กรต่าง ๆ หรือรัฐบาลไหนก็ไม่อาจปฏิเสธสิ่งนี้ได้เลย

อุตสาหกรรม “พลังงานหมุนเวียน” มีขนาดใหญ่มากแค่ไหน ?

อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกนั้นโตขึ้นอย่างมาย ในอัตราที่รวดเร็วในปีที่ผ่านมา คิดเป็นอัตราเฉลี่ยแล้วเร็วที่สุดนับแต่ปี 1999 กันเลยทีเดียว นำทัพด้วย “พลังงานลม” และ “พลังงานแสงอาทิตย์” โดยสองสิ่งนี้กระตุ้นอัตรากำลังการผลิตใหม่เพิ่มขึ้นมากถึง 45% ตัวเลขนี้เป็นการเก็บสถิติรวมจากทวีปยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน

พลังงานหมุนเวียน

5 ประเภทหลักของ พลังงานหมุนเวียน

โดยทั่วไปพลังงานหมุนเวียนแต่ละอย่างนั้นมีหน้าที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถใช้งานร่วมกันได้หลากหลาย ทั้งยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนโดยตรง สำหรับพลังงานทางเลือกที่ไม่สามารถหมุนเวียนได้ โดยแบ่งได้เป็น 5 ประเภทหลัก ดังนี้

1. พลังงานแสงอาทิตย์

เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีหากเราพูดถึง “โซลาร์เซลล์” ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นพลังงานธรรมชาติแรก ๆ ที่ทุกคนน่าจะนึกถึงจากแสงแดดอันเจิดจ้าที่พร้อมทักทายเราในทุกวัน และก็แน่นอนว่าพลังงานได้รับความนิยมมากที่สุดทั่วโลก

โรงกลึงพี-วัฒน์เองก็กำลังศึกษาเพื่อนำเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้ร่วมกับเทคโนโลยี IoT เพื่อใช้ในกระบวนการที่สนับสนุนส่วนของการผลิต เป้าหมายคือเพื่อประหยัดพลังงาน สนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อมเท่าที่ทำได้ ช่วยลดต้นทุน และที่สำคัญต้องยังคงรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไว้ให้อยู่ในระดับเดิม

แต่เชื่อหรือไม่ว่าหากนับเรื่องของอัตราการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก พลังงานแสงอาทิตย์เป็นเพียงอันดับ 3 เท่านั้น

2. พลังงานลม

เรียกได้ว่าเก่าแก่และได้รับความนิยมไม่แพ้กับประเภทแรกกันเลย เป็นเวลาหลายศตวรรษที่พวกเราใช้พลังงานลมในรูปแบบของการแล่นเรือใบและกังหันลม โดยปัจจุบันแล้วส่วนใหญ่หันมาใช้ลมเพื่อผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมนั่นเอง

เมื่อปี 2019 มีการเก็บสถิติกำลังการผลิตพลังงานลม มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 24% ซึ่งก็ทำได้สูงกว่าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทำได้อยู่ 20% ของกำลังการผลิตพลังงานทั่วโลก

3. พลังงานความร้อนใต้พิภพ

โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นตัวอย่างของการใช้ในอุตสาหกรรมความร้อนใต้พิภพเป็นพลังงานหมุนเวียนอีกประเภทนึงที่ผลิตได้มาก 

พื้นดินใต้เท้าของเรามีพลังงานจำนวนไม่จำกัด เป็นผลมาจากพื้นผิวที่ดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์ลึกลงไปในพื้นโลก ซึ่งความนิยมหลัก ๆ มาจากการเลือกใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

4. พลังงานน้ำ

“กังหันน้ำ” เป็นเทคโนโลยีที่มาก่อนกาลมาก ๆ เราได้ใช้ประโยชน์จากพลังงานนี้ในรูปแบบที่ยังคงมีพื้นฐานมาจากความคิดตั้งต้น โดยใช้พลังงานน้ำในการเคลื่อนที่เพื่อก่อให้เกิดพลังงาน ก่อนจะปรับใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

สามประเทศที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำมากที่สุดในโลก เป็นสถิติที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2018 ได้แก่ จีน (352,261 เมกะวัตต์), บราซิล (104,195 เมกะวัตต์) และสหรัฐอเมริกา (103,109 เมกะวัตต์)

5. พลังงานชีวภาพ

พลังงานชีวภาพ หรือ พลังงานชีวมวล คือการใช้อินทรียวัตถุเพื่อการใช้พลังงานที่หลากหลาย อาทิ ไม้, พืชผล, ขยะในสวน รวมถึง ของเสียจากสัตว์และมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่นการใช้ไม้หากต้องการผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น

แต่สำหรับพลังงานนี้ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ไม่น้อย เนื่องจากยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหลายด้านที่อาจต้องนำมาประกอบการพิจารณาในอนาคต แต่หากพูดถึงประโยชน์ที่ได้รับในตอนนี้และเทียบกับพลังงานสิ้นเปลือง พลังงานชีวภาพ อยู่ในระดับที่จิ๊บจ๊อยกว่ามากทีเดียว

พลังงานหมุนเวียน

แนวโน้มพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย และการปรับใช้ในอุตสาหกรรม

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้จับมือกับ มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน จัดงานสัมนา AEDP (Alternative Energy Development Plan) ภาคประชาชน เพื่อนำเสนอปัญหาและอุปสรรค รวมถึงข้อเสนอแนะในการพัฒนาพลังงานที่จะเพิ่มศักยภาพให้แก่อุตสาหรรมที่เกี่ยวข้อง แต่ยังดำเนินไปพร้อมกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทำให้เชื่อเหลือเกินว่าพวกเรากำลังเดินทางเข้าใกล้กับยุคแห่งการใช้พลังงานหมุนเวียนขับเคลื่อนเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสม แม้จะดูเหมือนว่าเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่การที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ หากเกิดเป็นเทรนด์ของโลกเมื่อไหร่จะสร้างประโยชน์มากมายให้แก่ “อุตสาหกรรมการผลิต” และ “สิ่งแวดล้อม” อย่างมากแน่นอน

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลความรุ้ดี ๆ สำหรับเรื่องของ “พลังงานหมุนเวียน” 

https://www.clean-energy-ideas.com/energy/renewable-energy/the-5-main-types-of-renewable-energy/
https://www.nrdc.org/stories/renewable-energy-clean-facts