วิทยาการ หุ่นยนต์ ฉบับปี 2023 ยกระดับธุรกิจด้วย Robotics กันเถอะ !

หุ่นยนต์

มีมาต่อเนื่องจริง ๆ สำหรับ “คาดการณ์” ทั้งหลายแหล่เกี่ยวกับแวดวงอุตสาหกรรมต่าง ๆ ขอร้องขอวอนเลยว่าอย่างเพิ่งเบื่อกับเนื้อหาประเภทนี้ เพราะมันอาจจะช่วยอัพเดตข้อมูลที่จะทำให้คุณสามารถหยิบไปใช้พัฒนาธุรกิจองค์กรของคุณได้ โดยเฉพาะเรื่องของ “เทรนด์หุ่นยนต์” แม้เราจะเพิ่งพูดถึงไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่วิทยาการของเจ้า “หุ่นยนต์” ในอุตสาหกรรมนั้นพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหุ่นยนต์ที่คอยช่วยงานอุตสาหการ โรงงาน สายพานการผลิต โรงกลึงต่าง ๆ และบอกเลยว่าหากคุณเป็นหนึ่งคนที่ข้องเกี่ยวกับกิจการประเภทนี้และหากไม่ได้ติดตามอยู่เสมอ บางทีอาจทำให้คุณพลาดสิ่งดี ๆ ที่จะช่วยยกระดับธุรกิจของคุณเลยก็ได้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกัน.. เทรนด์ “Robotics” ปี 2023 รู้ไว้.. ปรับใช้ ยกระดับธุรกิจคุณได้!

7 คาดการณ์เทรนด์ “อุตสาหกรรมหุ่นยนต์” สู่ธุรกิจ

ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มที่หุ่นยนต์ยังเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ มีความเทอะทะแถมยังกินพื้นที่อย่างมากภายในโรงงาน ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน หุ่นยนต์มีความหลากหลายและปรับเปลี่ยนได้มากกว่าที่เคยเป็นมา จนกลายเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินธุรกิจไปเสียแล้ว

โดยเฉพาะเมื่อเร็ว ๆ นี้ การเปลี่ยนแปลงมากมายของแวดวงธุรกิจ การหยุดชะงักของซัพพลายเชน การขาดแคลนแรงงาน แม้กระทั่งความไม่สงบที่เกิดขึ้นของปัญหาระหว่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินการ ปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ สำหรับเครื่องมือหลักในการท้าทายสถานการณ์เหล่านี้นั้นก็คือเทคโนโลยี “หุ่นยนต์” ส่วนด้านล่างต่อไปนี้เป็น 7 การคาดการณ์ล่าสุดของวิทยาการนี้ในปี 2023…

1. ระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

หุ่นยนต์
Image by Freepik

แหล่งข้อมูลได้ชี้ถึงความสำคัญของการที่นักวิเคราะห์ได้กล่าวว่า 1 ใน 3 ขององค์กรยุโรปกำลังให้ความสำคัญกับระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ตอนนี้เรากำลังก้าวสู่ทศวรรษแห่งข้อมูลขนาดใหญ่ และระบบอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์ก็ไม่ต่างกัน เทคโนโลยีการทำงานแบบอัตโนมัติกลายเป็นระบบที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมากขึ้น โดยเน้นที่การใช้โชลูชันตามเนื้อหาที่ได้รับจากการเก็บสถิติบนโลกแห่งความจริง ซึ่งระบบโลจิสติกส์เป็นที่เดียว ณ ตอนนี้ ที่จะทำให้คุณได้เห็นระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ซึ่งหลายที่ก็ได้ใช้หุ่นยนต์เข้ามาเป็นส่วนในการตัดสินใจด้วยเหตุผลจากการวิเคราะห์ข้อมูล

2. การเพิ่มความสามารถให้มนุษย์ด้วยหุ่นยนต์

เทคโนโลยีหุ่นยนต์ยังถูกนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณ 35 เปอร์เซนต์ ขององค์กรจะรวบรวมหุ่นยนต์เชิงกายภาพผสมผสานกับเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ พัฒนาความสามารถของมนุษย์ และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน บริษัทต่าง ๆ เริ่มตระหนักมากขึ้นว่าหุ่นยนต์ไม่ได้มาแทนที่งานของมนุษย์ แต่เป็นวิธีที่จะปรับปรุงสิ่งที่มนุษย์ทำได้อยู่แล้ว เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมประสบปัญหาทักษะและการขาดแคลนแรงงาน หุ่นยนต์จึงเข้ามาเสริมในจุดนี้ เรียกว่าเป็นการเติมเต็มช่องว่างที่มีได้อย่างแนบเนียน

3. การใช้ Cobot เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หุ่นยนต์
Image by Lifestylememory on Freepik

เจ้า Cobot หรือในพากย์ไทยว่า “หุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน” ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งคีย์แมนแนวหุ่นยนต์ในทศวรรษที่ผ่านมา และคาดว่าโคบอทจะคิดเป็น 30 เปอร์เซนต์ ของตลาดหุ่นยนต์ทั้งหมดภายในปี 2027 โคบอทนั้นได้รับการออกแบบมาให้ทำงานเคียงข้างมนุษย์ได้อย่างปลอดภัยและใช้งานง่าย ทำให้เหมาะสำหรับบริษัทที่ไม่มีประสบการณ์ด้านวิทยาการหุ่นยนต์มาก่อน และไม่มีพื้นที่หรือทรัพยาเพียงพอจะรองรับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยในระดับสูง

4. หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ “กำลังจะมา”

สถานการณ์ตอนนี้ดูเหมือนหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติกำลังย่างกรายเข้าสู่ธุรกิจต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในภาคส่วนของ “โลจิสติกส์” ณ งานแสดงสินค้าของ Automatica (งานจัดแสดงเทคโนโลยี Automation) ครั้งที่ผ่านมา มีหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติมากมายที่ถูกพัฒนาขึ้น เทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นตั้งแต่แรก เริ่มถูกใช้งานแพร่หลาย ส่วนที่พัฒนาใหม่ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย ซึ่งตอนนี้ก็มุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าใหญ่อย่างโลจิสติกส์ ก่อนที่จะขยายไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป

5. ระบบอัตโนมัติสำหรับประกอบชิ้นส่วน “อิเล็กทรอนิกส์” จะเติบโต

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับวิทยาการหุ่นยนต์คือการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการประกอบชิ้นส่วนนั้นกำลังมา! ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดตอนนี้ เช่น การขันสกรูด้วยหุ่นยนต์เป็นงานทำซ้ำที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ทำให้งานประกอบนั้นเสร็จเร็วขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก หุ่นยนต์สามารถประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอกนิกส์ได้อย่างสม่ำเสมอกว่าแรงงานมนุษย์ที่ทำงานลักษณะเดียวกัน สิ่งนี้สามารถประหยัดเวลาและงบของบริษัทในขณะที่ช่วยลดข้อผิดพลาดที่เกิดจากการประกอบผลิตภัณฑ์ด้วยมนุษย์ควบคู่กันไป

หุ่นยนต์
Image by Freepik

6. อุตสาหกรรมยานยนต์ “ตกบัลลังก์” ด้านหุ่นยนต์เป็นครั้งแรก

นับเป็นเวลานานมากแล้วที่อุตสาหกรรม “ยานยนต์” นั้นเป็นผู้นำของระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ แต่ล่าสุดก็เสียตำแหน่งนี้แล้วเรียบร้อย ในปี 2020 จำนวนการนำหุ่นยนต์ไปใช้ในงานยานยนต์นั้นมากกว่าประเภทอื่นเป็นปกติ แต่ปี 2021 มีจำนวนเท่ากับการใช้งานในอุตสาหกรรมอื่นรวมกันเป็นครั้งแรก จากข้อมูลนี้ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองว่าอุตสาหกรรมอื่นนั้นเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีนี้มากขึ้นแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน!

7. วิทยาการหุ่นยนต์ที่ชาญฉลาดและปรับตัวได้มากขึ้น

ขึ้นชื่อว่า “หุ่นยนต์” นอกจากจะพัฒนาเรื่องความฉลาดได้เรื่อย ๆ แล้ว ตอนนี้การปรับได้หลากหลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เทคโนโลยีนี้ได้รับความนิยม เทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ของหุ่นยนต์สามารถรวบรวมข้อมูลตามเวลาจริงเข้ากับการปฏิบัติงานได้ ซึ่งนั่นจะทำให้การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ตลอดจนการดำเนินงานทำได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของอัลกอริธึมปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้งานได้จริง มีการคาดหวังว่าเร็ว ๆ นี้ ทุกคนจะได้เห็นหุ่นยนต์ชั้นสูงและมีความสามารถที่ซับซ้อนมากขึ้นในไม่กี่ปีข้างหน้า

เหนือสิ่งอื่นใด “หุ่นยนต์ต้องใช้งานง่าย”

กุญแจสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ นอกจากความอัจฉริยะ ความฉลาดของ AI สิ่งที่ทำให้ถูกเลือกใช้จนกลายมาเป็นเทรนด์ฮอตฮิต คือ การเพิ่มขึ้นของหุ่นยนต์ที่ออกแบบมาให้ใช้งานง่าย ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมร่วมสมัยผ่านการใช้งานด้วยแอพพลิเคชั่น ทำให้อุปสรรคในการก้าวเข้าสู่ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัตินั้นลดน้อยลง ซึ่งในปัจจุบัน หุ่นยนต์กลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกบริษัทที่จะใช้ ไม่ใช่แค่บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์เท่านั้น เพราะดูเหมือนว่าแนวโน้มไปสู่หุ่นยนต์ที่ออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานง่ายจะดำเนินต่อไป นอกจากชุดแอพพลิเคชั่นแล้ว เราจะได้เห็นโมเดลธุรกิจที่ใช้หุ่นยนต์เป็นบริการเพิ่มมากขึ้นแน่นอน

แม้เราอาจยังไม่ทราบถึงสถานการณ์ที่แน่ชัดของสิ่งต่าง ๆ ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไรในปี 2023 นี้ แต่หวังว่าการคาดการณ์สำหรับเทรนด์ที่จะเข้ามายกระดับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ภายในเนื้อหาวันนี้ ช่วยให้คุณเกิดไอเดียมาปรับใช้กับธุรกิจคุณได้ และหากคุณยังไม่เคยลองศึกษาการใช้หุ่นยนต์ในธุรกิจ… ไม่มีอะไรเหมาะสมไปกว่าตอนนี้แล้ว!

Credit : ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลมา ณ ที่นี้

ตัวช่วยอุตสาหกรรมการผลิต เลือกใช้ให้เหมาะสม จะ Cobot หรือ Robots ดี?

Cobot

จากบทความก่อนที่เราได้พากันไปเจาะลึกเกี่ยวกับ “หุ่นยนต์อุตสาหกรรม” ว่าตอนนี้นั้นมีแบบไหน ประเภทไหน ที่กำลังได้รับความนิยมและถูกใช้งานมากที่สุด ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยการพูดถึงอีกหนึ่งเทคโนโลยี “ลูกผสม” อย่าง “Cobot” ว่ามีความน่าสนใจและเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของอุตสาหกรรมการผลิตไม่แพ้กัน ในความแตกต่างเต็มด้วยไปด้วยประโยชน์มากมายที่หลายธุรกิจสามารถนำมาเป็นตัวเลือกเพื่อใช้ในโรงงานผลิตของคุณได้ไม่แพ้กับ Robots (หรือเรียกอีกอย่างว่า หุ่นยนต์อุตสาหกรรม) เลยทีเดียว

ส่วนความแตกต่างของ Cobot กับ Robots นั้นมีอะไรบ้างที่เราควรรู้ เพื่อสุดท้ายแล้วจะได้นำไปประกอบการตัดสินใจสำหรับเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานของคุณ เรารวบรวมข้อมูล รวมถึงจุดสังเกตต่าง ๆ เอาไว้ในเนื้อหาด้านล่างนี้แล้ว เชิญติดตามกันได้เลย

Cobot

Cobot คืออะไร?

Cobot คือ หุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำงานร่วมกับมนุษย์บนภาคอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่แล้วจะเห็นได้มากในส่วนผลิต ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน ISO 10218-1 รวมถึงมาตรฐานรักษาความปลอดภัยอื่น ๆ โดยคำว่า Cobot ย่อมากจาก “Collaborative Robots” หากดูจากวัตถุประสงค์ที่สร้างขึ้นมาตามคำนิยามของสมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ จะเห็นได้ว่ามีความหมายตรงตัวที่ชัดเจน

ลักษณะของ Cobot นั้น ส่วนใหญ่ที่พบเจอได้มากจะเป็นในรูปแบบของแขนกล มีขนาดที่กะทัดรัด ง่ายต่อการใช้งานและเป็นมิตรกับมนุษย์ เพราะการสร้างนั้นคำนึงถึงการทำงานร่วมกันไปจนถึงความปลอดภัยเป็นหลัก 

สิ่งที่ทำให้ Cobot ประสานงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย สืบเนื่องมากจาการติดตั้งเซนเซอร์ที่ล้ำสมัยต่าง ๆ ตลอดจนการตั้งค่าตัวเครื่องเพื่อซัพพอร์ตงานของมนุษย์อยู่แล้ว ก็วนกลับไปอย่างที่บอกไว้ในช่วงต้นว่าสิ่งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อมาตรฐานความปลอดภัย สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นปัจจัยหลักในการมีอยู่ของสิ่งนี้นอกเหนือจากประโยชน์ในงานอุตสาหกรรม

ความแตกที่สำคัญระหว่าง Cobot กับ Robots

สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดมีหลายอย่างเหมือนกัน แต่ข้อที่สำคัญและสังเกตได้ง่ายที่สุด กล่าวคือ Cobot นั้นได้รับการออกแบบให้ทำงานร่วมกับมนุษย์ ส่วนหุ่นยนต์อุตสาหกรรม หรือ Robots นั้นเป็นการทำหน้าที่แทนมนุษย์

ย้อนกลับไปในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัย Cobot นั้นสามารถช่วยพนักงานให้อยู่ห่างจากอันตรายได้อย่างมาก รวมถึงงานที่ต้องใช้แรงกำลังในการทำเกินกว่าพลังของมนุษย์ ตลอดจนถึงงานที่เป็นแบบ routine อันแสนน่าเบื่อหน่าย เราก็สามารถให้เทคโนโลยีนี้ช่วยได้เช่นกัน นอกจากจะทำให้อุตสาหกรรมมีความปลอดภัยแล้ว ยังส่งผลให้คุณภาพงานต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ส่วนเจ้าหุ่นยนต์อุตสาหกรรม Robots จะอยู่ในทิศทางกันตรงข้ามกันเลย สิ่งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้กระบวนการผลิตเป็นไปในแบบอัตโนมัติเกือบทั้งหมด เรียกได้ว่าแทบจะปราศจากการร่วมมือของมนุษย์ในกระบวนการผลิต แต่ก็ส่งผลเป็นข้อดีในแง่ของการลดจำนวนทรัพยากรมนุษย์ ทำให้บุคลากรเหล่านั้นใช้เวลาตรงส่วนนี้ไปทำงานที่มีความหมายมากกว่า และอาจรวมถึงลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บในท่วงท่าซ้ำ ๆ เมื่อต้องการทำงานร่วมกับ Cobot อย่างต่อเนื่องเป็นเวล่านาน ซึ่งก็มีสิทธิ์เกิดขึ้นได้เช่นกัน

Cobot

Cobot vs Robots สิ่งแตกต่างในความสามารถบนอุตสาหกรรมการผลิต

ยังไม่มีข้อชี้วัดแบบที่ช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจน ไม่มีแบบไหนที่ดีกว่ากัน มีแต่การเลือกใช้งานให้ตอบโจทย์กับอุตสาหกรรมนั้น ๆ นี่เป็นสิ่งที่ทั้งสองอย่างนี้พร้อมเป็นตัวเลือกให้กับในทุกโรงงานผลิตได้

Cobot สามารถตั้งค่าโปรแกรมต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เพราะสามารถเรียนรู้ในงานที่เคยถูกตั้งค่าเอาไว้ได้ด้วย วิธีการหากพูดแบบบ้าน ๆ เลยก็คือพนักงานสามารถจะตั้งค่า Cobot ใหม่ได้แบบง่ายดาย เพียงแค่ขยับแขนหรือชิ้นส่วนที่เราต้องการให้เป็นไป จากนั้น Cobot จะจดจำแล้วทำซ้ำได้ด้วยตัวเอง

ในส่วนของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากจำเป็นต้องใช้วิศวกรผู้ชำนาญการในด้านนั้น ๆ เขียนโค้ดขึ้นใหม่ทั้งหมดสำหรับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตามต่อกระบวนการที่จะนำไปใช้

แต่ในประโยชน์ของ Cobot ก็มีข้อจำกัดที่ตามมา ด้วยความที่มีขนาดและความจำเป็นที่ต้องทำงานร่วมกับมนุษย์ สิ่งนี้จึงไม่ตอบโจทย์ในการผลิตจำนวนมาก ๆ ซึ่งข้อนี้เองที่กลายเป็นจุดแข็งแกร่งของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่เรียกได้ว่า “เกิดมาเพื่อสิ่งนี้” ยกตัวอย่างเช่น วงการยานยนต์ที่ในส่วนการผลิตนั้นแทบจะเป็นการใช้หุ่นยนต์เกือบเต็มรูปแบบ มีระบบแยกจุดระหว่างเครื่องจักรกับมนุษย์เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรในโรงงาน

ขณะเดียวกัน หากไม่ใช่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่แบบที่กล่าวไป Cobot จะกลายเป็นคีย์แมนเพราะมีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับการทำงานร่วมกับมนุษย์ รวมถึงความสะดวกรวดเร็วในการปรับค่าต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ความซับซ้อนสูงบนส่วนของการผลิตนั่นเอง

ด้านผู้ประกอบการของโรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตอย่างโรงกลึงพี-วัฒน์เอง ก็อย่างที่เคยกล่าวไปแล้ว เรื่องวิสัยทัศน์ในการติดตามเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อมาปรับใช้ในกระบวนการผลิต และถึงแม้ว่าทั้ง Cobot หรือ Robots ยังจะดูห่างไกลไปซักหน่อยในตอนนี้กับรูปแบบการทำงานในโรงกลึงของเรา แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ซะทีเดียว เรายังคงเปิดรับและพยายามปรับปรุงแก้ไขกระบวนการที่เยิ่นเย้อ ทับซ้อน เพื่อให้คล่องตัวมากขึ้นและสอดคล้องกับการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้อยู่เสมอๆ

Cobot

ทุกความแตกต่างมีข้อดี อยู่ที่การเลือกใช้ให้เหมาะกับอุตสาหกรรม

อย่างที่ย้ำกันมาเสมอตั้งแต่เริ่มเรื่อง ทั้งสองสิ่งนี้เป็นตัวช่วยบูสต์ศักยภาพของอุตสาหกรรมการผลิตได้เป็นอย่างดี เพียงแต่มีข้อแตกต่างในเรื่องของสมรรถนะการใช้งาน ความปลอดภัย ตลอดจนต้นทุนของโรงงานผลิตบนอุตสาหกรรมนั้น ๆ ฉะนั้น สิ่งที่ควรต้องคำนึงถึงให้มากที่สุดก่อนเลือกนำเข้าใช้งานกับธุรกิจจำเป็นต้องดูปัจจัยหลาย ๆ อย่างร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำลังการผลิต ลักษณะงานที่ต้องทำ น้ำหนักของสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ตลอดจนเรื่องของพื้นที่ก็เป็นส่วนที่จะละเลยไม่ได้เด็ดขาด

ส่วนอีกข้อสำคัญ เราต้องไม่หลงลืมประเด็นว่า Cobot นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อช่วยอุตสาหกรรมลดต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงจากการหลีกเลี่ยงไม่ใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่มีค่าใช้จ่ายแพงกว่า เพราะแต่ละโรงงานนั้นต่างถูกกำหนดมาแล้วด้วยไลน์ของการผลิต หากเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ระบบแอบอัตโนมัติทั้งหมดในกระบวนการดังกล่าวยังไงเสียหุ่นยนต์อุตสาหกรรมก็ยังคงมีที่ยืน แต่หากเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ต้องใช้งานแบบเต็มระบบขนาดนั้น การมองความสามารถของ Cobot. ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีไม่แพ้กัน และนี่ก็เป็นสิ่งที่หลาย ๆ ธุรกิจหากคิดเริ่มจะใช้งานเรื่องของหุ่นยนต์ต้องประเมินให้ถี่ถ้วนและรอบคอบที่สุด