Metaverse โลกเสมือนจริง ที่อาจยกระดับต่ออุตสาหกรรมได้ในอนาคตอันใกล้!

Metaverse

กระแสอาจจะซาลงไปบ้างแล้วสำหรับ “Metaverse” ที่ก่อนหน้านี้ทำเอาหลายคนตื่นเต้นร่วมวิพากษ์วิจารณ์ไปกับการเปิดตัวสุดฮือฮาของ “Meta” ชื่อที่ทาง เฟซบุค นั้นประกาศกลางงาน Facebook Connect ว่าบริษัทได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อดังกล่าว โดยคอนเซปต์คร่าว ๆ ก็คือการวางรากฐานสู่การเป็นบริษัทเมตาเวิร์สแบบเต็มตัว ว่ากันว่านี่เป็นสุดยอดฝันของทาง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก CEO และผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุค

ว่ากันตามตรงแล้วผู้เขียนก็ยังไม่ได้รู้ลึกอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมายนัก แต่พอศึกษาเรื่อย ๆ ก็เริ่มทึ่งเล็กน้อยเมื่อได้ไปค้นเจอหนึ่งบทความจากต่างประเทศ ซึ่งพูดถึงเรื่องของเมตาเวิร์สเกี่ยวกับการผลิตได้อย่างน่าสนใจ และอยากจะส่งต่อความเป็นไปได้เหล่านี้ให้เราได้ร่วมจินตนาการไปพร้อมกันว่า “หากเกิดขึ้นจริง” สิ่งนี้จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมนี้ยังไง แล้วจะหยิบใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เผื่อว่ามาในอนาคตอันใกล้จะได้เตรียมตัวปรับตัวได้ทันที เพราะในแต่ละกระบวนการที่ต้นทางได้หยิบยกมา ถ้าทำได้จริงก็น่าจะช่วยยกระดับการผลิตได้อย่างน่าพอใจเลยล่ะ

รู้จัก Metaverse ผ่าน Ready Player One นวนิยายขายดี / หนังฮอลลีวูด

Ready Player One จากนวนิยายชื่อก้องติดอันดับขายดีของ เออร์เนสต์ ไคลน์ (Ernest Cline) ก่อนจะกลายมาเป็นสารตั้งต้นออกสู่สายตาผู้ชมผ่านภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ โดยผู้สร้างระดับตำนานอย่าง สตีเว่น สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ซึ่งเรื่องนี้ได้ใช้แนวคิดของ Metaverse ได้อย่างเหมาะสม มีการร้อยเรียงกับเนื้อหาหลักของเรื่องได้อย่างยอดเยี่ยม ว่ากันด้วยเรื่องของโลกอนาคตอันใกล้ต้องเผชิญกับวิกฤตด้านพลังงานและภาวะโลกร้อน เต็มไปด้วยความวุ่นวายใกล้จะล่มสลายเต็มที แต่ The Oasis จักรวาลเสมือนจริง ได้เข้ามามอบประสบการณ์รูปแบบใหม่อันน่าตื่นเต้น ถูกจำลองขึ้นมาได้ครบทุกมิติจนเหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งจริง ๆ

Metaverse


ที่ร่ายยาวมานี้ไม่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมกาผลิตโดยตรง แต่สำหรับใครที่ยังนึกภาพไม่ออกว่าโลกเสมือนจริงนี้ทำงานยังไง ลองไปหาตัวอย่างหนังเรื่องนี้ หรือถ้ามีแบบเต็ม ๆ เรื่องก็ลองเสพย์ดูได้ เชื่อเลยว่าหลาย ๆ สิ่งในหนังจะทำให้คุณเชื่อมโยงเข้ากับแนวคิดที่บทความต้นทางพูดถึง Metaverse เกี่ยวกับการผลิตได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นไม่มากก็น้อย

คุณลักษณะ 6 ประการของ Metaverse ภาคธุรกิจ

  1. การซิงโครไนซ์ / ความคงอยู่
  2. เศรษฐกิจแบบเต็มประสิทธิภาพ
  3. ไม่จำกัดจำวนผู้ใช้
  4. การทำงานร่วมกันของสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อมูล และอื่น ๆ 
  5. เนื้อหาที่ผู้ใช้งานสร้างขึ้น
  6. ครอบคลุมเครือข่ายส่วนตัว เครือข่ายสาธารณะ ทั้งแพลตฟอร์มแบบเปิด / ปิด ฯลฯ

ซึ่งตอนนี้ทาง Roshan Srinivasan ได้บอกว่าจากข้อมูลต่าง ๆ ที่เขาได้ศึกษา ปัจจุบันที่เรามีอาจจะยังไม่ใกล้เคียงกับวิสัยทัศน์ที่จะนำไปสู่การเป็น Metavers อันสมบูรณ์แบบ แม้ว่าหลาย ๆ บริษัท อย่าง Facebook, Unity และ Nvdia ต่างเริ่มสร้างแบรนด์พร้อมจะเคลมตัวเองเป็นผู้นำในด้านนี้แล้วก็ตาม

ฟังก์ชั่นการทำงานของ เมตาเวิร์ส ณ ตอนนี้

ในแง่ฟังก์ชั่นการทใช้งาน เมตาเวิร์ส ปัจจุบัน บริษัทส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาใช้กับอุตสาหกรรมเกมเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงการสร้างประสบการณ์ร่วมที่ผู้ใช้สร้างขึ้น เช่น คอนเสิร์ต หรือ ภาพยนตร์ แต่ทิศทางหลังการประกาศของเฟซบุค ทำให้ผู้พัฒนาทั้งหลายต่างเริ่มเน้นที่ด้านของโซเชียลมีเดีย Metaverse มากยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากโซเชียลมีเดียแล้ว มีกรณีการใช้งานที่น่าสนใจของเมตาเวิร์ส สำหรับแอปพลิเคชั่นทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น การทำงานระยะไกล จนไปถึงเรื่องของ “อีคอมเมิร์ซ” รวมถึงเรื่องของซอฟต์แวร์การออกแบบปรับขนาดเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่การผลิตอีกด้วย

Metaverse

การใช้ประโยชน์ของ Metaverse เพื่อการผลิต?

จากที่บอกเล่ามาทั้งหมด ก็มาสู่จุดสังเกตสำคัญที่ว่า “เราจะใช้ประโยชน์จากเมตาเวิร์สได้อย่างไร” จากข้อมูลของ Roshan Srinivasan ได้อธิบายไว้ว่าแนวทางการผลิตที่ขับเคลื่อนด้วยอภิปรัชญานั้นคล้ายกับบริษัทต่าง ๆ เช่น Shopify ที่ทำให้อีคอมเมิร์ซมีความเป็นประชาธิปไตยและอำนวยความสะดวกในความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของธุรกิจและซัพพลายเออร์ ส่วนในบริบทของ Metaverse คุณจะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักสามรายในการผลิต ดังนี้

  • บริษัท / เจ้าของออกแบบ: บุคคลหรือบริษัทที่จะใช้การจำลองซอฟต์แวร์ที่เหมือน CAD เพื่อออกแบบเลย์เอาต์ของโรงงานรวมถึงส่วนประกอบการออกแบบที่จะผลิต (อยากบอกว่าทีมวิศวกรของโรงกลึงพี-วัฒน์สนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ ถึงกับค้นคว้าราคาต้นทุนของอุปกรณ์เหล่านี้เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมรับมือในอนาคต)
  • ผู้ผลิตบุคคลที่ 3 (3rd Party Manufacturers) และ ผุ้ให้บริการด้านลอจิสติกส์: บุคคลหรือบริษัทในระบบซัพพลายเชน ที่จะสามารถตั้งศูนย์การผลิตและผลิตสินค้าที่แตกต่างกันได้โดยลดกระบวนการให้น้อยลง ส่งผลให้การระยะเวลาในการรอคอยสินค้าน้อยลงตามไปด้วย
  • ลูกค้า: ผู้ใช้ในกลุ่มนี้จะสามารถติดตามได้ทุกกระบวนการที่เปิดให้เข้าถึงได้ ได้รู้เห็นถึงระยะเวลาการส่งมอบสินค้าแบบชัดเจน
Metaverse

ในท้ายที่สุดแล้ว แง่มุมสำคัญของเมตาเวิร์สตามบริการที่จะเข้ามาเปลี่ยนแนวทางการผลิตสำหรับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไฮไลต์ที่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะช่วยในเรื่องการออกแบบกระบวนการผลิตที่รวดเร็ว ช่วยให้ออกแบบผลิตภัณฑ์ได้จำนวนที่มากขึ้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันจะลื่นไหลและเป็นในทิศทางเดียวกันมากยิ่งขึ้น ด้วยระบบเฟรมเวิร์คและจุดเด่นในเรื่องของ “การแบ่งปันพื้นที่ส่วนกลาง” ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการควบคุมคุณภาพ โดยใช้การออกแบบอิงตามฟิสิกส์ที่มีรายละเอียดมากขึ้น ทำให้ข้อผิดพลาดสำหรับการผลิตน้อยลง ซึ่งเป็นส่วนกระทบสำคัญที่อาจมีต่อธุรกิจ

Metaverse

ส่วนหมัดเด็ดที่จะทำให้ทุกคนรู้สึก “ว้าว” เกี่ยวกับ Metaverse ร่วมกัน ก็ยังคงเป็นพาร์ทของ “ลูกค้า” ที่จะมาในรูปแบบของความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ความสบายใจที่ได้รับรู้ในหลาย ๆ กระบวนการ ซึ่งก็มาจากการปรับปรุงรูปแบบการมองเห็นในกระบวนการซัพพลายเชน ที่ถึงตอนนั้นแล้วอาจนำเสนอในรูปแบบ 3 มิติ หมายความว่านอกจากจะได้รู้ในหลายขั้นตอนแล้ว ลูกค้าจะได้ทราบระยะเวลาที่แน่นอนในการรอสินค้า การอัพเดตถึงปัญหาความล่าสช้าซึ่งก็อาจจะมีเกิดขึ้นบ้าง ตลอดจนการมองเห็นที่มากขึ้นส่วนของต้นทุนการจัดส่งแบบ “เรียลไทม์” สำหรับผู้จัดจำหน่ายที่แตกต่างกัน ทั้งการขนส่งสินค้าและการส่งมอบไมล์สุดท้าย

ขอขอบคุณบทความต้นทางเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบของ Metaverse สู่การผลิต : https://www.iotforall.com/impact-of-the-metaverse-on-manufacturing 

Augmented Reality เทคโนโลยีชั้นเซียน บูสเตอร์ยกระดับอุตสาหกรรมการผลิต

Augmented Reality

หากมีการพูดถึง AR (Augmented Reality) เชื่อว่าผู้อ่านหลายคนน่าจะนึกถึงแบรนด์ต่าง ๆ ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับสินค้าของพวกเขาเอง ถ้ายังนึกภาพตามไม่ออก ให้นึกถึงช่วงนึงเมื่อ 3-4 ปีก่อนที่หลายคนตื่นเต้นกับการเลือกช้อปเฟอร์นิเจอร์ของ IKEA ผ่านแอพพลิเคชั่น 

ซึ่งทางตัวแอพฯ นั้นสามารถให้คุณจำลองสินค้าต่าง ๆ ด้วยโมเดลจำลองที่มีความเสมือนจริง ปฏิวัติวงการตกแต่งบ้านให้ล้ำหน้าขึ้นไปอีกขั้น แม้จะไม่ได้สมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซนต์ แต่ก็ช่วยให้คุณได้สัมผัสถึงความจริงเสมือน ซึ่งมันน่าจะโอเคกว่าการจินตนาการภาพเหล่านั้นขึ้นมาในหัวอย่างแน่นอน

แล้วเทคโนโลยีนี้จะเข้ามามีส่วนช่วยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตได้อย่างไร? นี่เป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวของผู้เขียนเหมือนกันก่อนที่จะค้นคว้าหาข้อมูล แต่พอได้สืบค้นจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ รวมถึงกรณีศึกษาของบริษัทต่างประเทศ ที่เริ่มนำร่องในการนำความสามารถของสิ่งนี้มาใช้ประโยชน์กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของอุตสาหกรรมการผลิต ก็พอจะนึกภาพตามออกได้เป็นฉาก ๆ พร้อมกับความเชื่อมั่นว่าหากพัฒนาจนถึงขีดสุด เทคโนโลยีนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากเลยทีเดียว

Augmented Reality

สั้น ๆ กับ Augmented Reality ก่อนลุยภาคอุตสาหกรรมการผลิต

AR (Augmented Reality) คือ เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การนำโลกแห่งความเป็นจริงและความเสมือนจริงมาผสมผสานกัน โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้จากการใช้ระบบซอฟต์แวร์ประกอบกับอุปกรณ์เชื่อมต่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและรองรับเทคโนโลยีนี้ และสำหรับวัตถุเสมือนที่กล่าวไปนั้นอาจมาในรูปแบบ ภาพ วิดีโอ เสียง จนไปถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่มาจากการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์สวมใส่เฉพาะทาง ซึ่งก็เป็นสะพานเชื่อมโยงให้เราได้ตอบสนองกับสิ่งจำลองนั้นได้แบบเสมือนจริงที่สุด

อุตสาหกรรมการผลิต x AR

ความเจ๋งของ AR แน่นอนล่ะ.. หากเราพูดถึงความสามารถในการนำเสนอคาแรคเตอร์ด้วยรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพดิจิตอล วิดีโอ และอื่น ๆ ที่ดึงเอาความงดงามของความเสมือนจริงรวมกับความเป็นจริงได้อย่างน่าทึ่ง

สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตจะได้รับประโยชน์สูงสุดคือการแทรกเอาข้อมูล สถิติ จนไปถึงคำแนะนำการใช้งานต่ออุปกรณ์นั้น ๆ ยังไม่นับเรื่องของการใส่ชุดข้อมูลเหล่านี้ไปกับ Headset ที่จะช่วยให้การผลิต การซ่อมบำรุง นั้นทำได้ถูกต้องและง่ายกว่าที่เคย

ตัวอย่างเช่น การใช้ Microsoft HoloLens ซึ่งเป็น Headset ที่ออกแบบด้วยการผสานระหว่างเทคโนโลยีของ Augmented Reality และ Virtual Reality เข้าด้วยกัน ใช้ในการดูชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่รองรับ AR เพื่อแสดงข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเครื่องนั้น ๆ เช่น ประสิทธิภาพการทำงาน เอาต์พุต และอุณหภูมิปัจจุบัน เรียกว่าเป็นการทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นสำหรับการนำเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้เข้ากับโรงงานผลิต

Augmented Reality
Credit image: microsoft.com, vrfocus.com

AR จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตได้อย่างไร ?

ณ ปัจจุบัน ประโยชน์หลัก ๆ ของการใช้ AR กับโรงงานผลิต จะเกี่ยวข้องกับการบำรุงรักษาเป็นส่วนใหญ่ ตัวอย่างให้จินตนาการตามหัวข้อก่อนหน้านี้ เช่น หากชิ้นส่วนของอุปกรณ์การผลิตเสียหาย ช่างเทคนิคสามารถใช้ Headset ดังกล่าว เพื่อตรวจสอบชิ้นส่วนของเครื่องไปพร้อมกันกับการดูข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการซ่อมแซม คำแนะนำ รวมถึงอาจมีรูปภาพประกอบแสดง เพื่อช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

นอกจากการใส่ชุดข้อมูลที่จำเป็นแล้ว เรายังสามารถวางแผน เรียงลำดับ รวมถึงคาดการณ์ระยะเวลาแต่ละขั้นตอน และนี่ไม่ใช่แค่การลดความจำเป็นในการดูแผนภูมิ คู่มือการใช้งาน รวมถึงบุคลาการ สิ่งนี้จะช่วยให้กระบวนการต่าง ๆ ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น 

โดยทั้งหมดทั้งมวล การออกแบบตั้งค่าเทคโนโลยีนี้ในเบื้องต้นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ แต่หากทุ่มเทในตอนต้นเพียงครั้งเดียวจนเสร็จสิ้น หลังจากนี้ต่อให้เป็นพนักงานที่ไม่มีประสบการณ์ต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ประสบก็สามารถดำเนินการซ่อมแซมได้เหมือนกับช่างชำนาญการผ่านการใช้ Headset

เจ๋งไม่เบาเลยทีเดียว โรงกลึงพี-วัฒน์เองก็มีเป้าหมายในอนาคตเพื่อนำเทรนด์กลุ่มธุรกิจโรงกลึงด้วยการเล็งเทคโนโลยี AR นี้มาเป็นส่วนหนึ่งใน Roadmap เช่นกัน

Augmented Reality
Credit image: microsoft.com

คุณค่าสูงสุดของ AR ต่อสายงานผลิต ?

จากข้อมูลได้เราได้รวบรวมมา มีการกล่าวถึงความสำคัญและพื้นที่ที่จะให้ AR นั้นได้แสดงศักยภาพได้เต็มที่อีกหนึ่งจุด นั่นคือการฝึกอบรมพนักงานใหม่ในสายการผลิต เมื่อแต่ละโรงงานมีการรับพนักงานเข้ามาใหม่ การอบรมและการตรวจสอบให้แน่ใจว่าพนักงานจะสามารถทำตามขั้นตอนของการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ถูกต้องหรือไม่เป็นเรื่องที่ยาก และความไม่แน่นอนนี้สิ่งที่ตามมาคือปัญหาด้านความปลอดภัย 

จะเป็นเรื่องดีแค่ไหนหากพนักงานสามารถใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ตามคำแนะของ AR ด้วยเทคโนโลยนี้สามารถให้ข้อมูลเครื่องจักรโดยอัตโนมัติแบบครบถ้วน แม้ไม่เคยใช้งานมาก่อนก็จะช่วยให้ทำงานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

Augmented Reality

อีกหนึ่งกรณีศึกษา ความล้ำหน้าของ AR ต่ออุตสาหกรรม

Augmented Reality
Credit image: microsoft.com

ถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างมาก หากคุณต้องเจอกับอุปกรณ์เฉพาะที่มีความซับซ้อนซึ่งอาจต้องใช้บุคลากรที่มีประสบการณ์เพียงอย่างเดียวสำหรับใช้งานสิ่งนั้น ในกรณีนี้เองที่ AR จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทำให้คนที่อยู่หน้างานสามารถดำเนินการได้ทันที โดยมีอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของเรื่องนี้

ลองนึกภาพตามว่าหากหุ่นยนต์หกแกนทำงานผิดปกติ แต่ ณ จุดนั้นไม่มีพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญในการแก้ไข การใช้ Headset จะช่วยพนักงานได้อย่างมาก เพราะนอกเหนือจากข้อมูลที่มี คุณยังสามารถรับคำแนะนจากผู้เชี่ยวชาญได้แบบเรียลไทม์ ตลอดจนถึงการใช้เพื่อเป็นแบบฝึกอบรมบุคลากร ดึงศักยภาพของพวกเขาด้วยเทคโนโลยีนี้ได้อีกด้วย

และหากคิดว่าการใช้อุปกรณ์ Headset ดังกล่าวนั้นจะเป็นการสร้างต้นทุนมากจนเกินไป หรือไม่เหมาะกับขนาดของธุรกิจของคุณ การออกแบบเพื่อใช้ในอุปกรณ์ที่มีอยู่ในตลาดอย่าง สมาร์ทโฟน แท็บเลต หรือแว่นตาระบบดิจิตอล ก็เป็นทางเลือกที่ดีและเหมาะสมอย่างยิ่ง

ขอขอบคุณข้อมูลประกอบบทความจาก : https://www.reliableplant.com/Read/31709/ar-improve-manufacturing