รักษ์โลกแบบยั่งยืน ทำความรู้จัก พลังงานทางเลือก ที่วันนี้ต้องเลือกได้แล้ว !

พลังงานทางเลือก

เราจะสังเกตเห็นได้ว่าสภาวะแวดล้อมของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก เริ่มต้นจากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิความร้อนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนน่ากลัว อย่างประเทศไทยของเราหรือประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในละแวกเส้นศูนย์สูตรเดียวกัน ปีนี้ก็เจอความร้อนระอุระดับ 45-50 องศาเซลเซียสกันก็มีมาแล้ว และมีผลกระทบในวงกว้างไปจนถึงมีภัยพิบัติเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ หรือน้ำท่วม รวมไปถึงการสูญพันธุ์ของสัตว์ต่าง ๆ ที่ปรับตัวไม่ทัน ทำให้หลายประเทศทั่วโลก ต่างหันมาให้ความสำคัญกับ พลังงานทดแทน ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้เป็น พลังงานทางเลือก กันเพิ่มมากขึ้น เพราะต่างมีความคิดเห็นที่ตรงกันว่าจะสามารถช่วยทำให้โลกพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน และในบทความนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักพลังงานทางเลือกในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้แทนพลังงานหลักในปัจจุบันที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน เพื่อลดผลกระทบที่เริ่มรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ว่ามีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลย

พลังงานทางเลือก
Image by freepik

พลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก ..ที่เราต้องเลือกกันได้แล้ว !!!

  1. พลังงานแสงอาทิตย์ : การใช้พลังงานจากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าใช้ในครัวเรือน หรือภาคอุตสาหกรรม โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์เป็นตัวเปลี่ยนพลังงาน เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
  2. พลังงานลม : การใช้ลมเข้ามาช่วยในการผลิตไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากเป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด อีกทั้งยังเป็นพลังงานสะอาดอีกด้วย
  3. พลังงานน้ำ : น้ำ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังเป็นแหล่งพลังงานที่เราสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งจะอาศัยรูปแบบการเปลี่ยนแปลงพลังงาน โดยการนำน้ำจากในเขื่อนมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า
  4. พลังงาน BIOMASS (ชีวมวล) : เป็นพลังงานทางเลือกธรรมชาติ ที่ส่วนใหญ่ได้มาจากเศษจากกระบวนการผลิตทางการเกษตร หรือภาคอุตสาหกรรม เช่น ซากพืช ซากสัตว์ หรือก๊าซจากขยะต่าง ๆ จากนั้นนำมาผลิตเป็นพลังงานความร้อน หรือผลิตไฟฟ้า รวมไปถึงผลิตเป็นพลังงานเชื้อเพลิงได้อีกด้วย
  5. พลังงานจากความร้อนใต้ดิน : การใช้ความร้อนจากใต้ดิน สามารถนำมาผลิตเพื่อทำประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น เป็นแหล่งความร้อนเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับชุมชน หรือนำมาใช้ประโยชน์กับภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น 
พลังงานทางเลือก
พลังงาน BIOMASS หรือชีวมวล Image by frimufilms on Freepik

การเลือกใช้ พลังงานทางเลือก มีความสำคัญต่อการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านมลพิษ หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่สามารถช่วยลดการเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และสร้างสังคมที่ยั่งยืนได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

พลังงานทางเลือก มีประโยชน์อย่างไร

นอกจากการนำพลังงานทางเลือกรูปแบบต่าง ๆ มาใช้เพื่อลดผลกระทบที่รุนแรงของสภาวะแวดล้อมแล้ว ก็ยังมีประโยชน์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งต่อสิ่งแวดล้อม หรือ ปัจจัยด้านสังคม ก็ตาม ดังนี้

  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก : การใช้พลังงานทางเลือกสามารถช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงจากแหล่งที่มีการสร้างมลพิษและปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เช่น น้ำมันหรือถ่านหิน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
  • ลดค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงาน : การใช้พลังงานทางเลือกสามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตพลังงานลงได้ เนื่องจากแหล่งพลังงานทางเลือกจะมีต้นทุนในการดำเนินงานและการบำรุงรักษาที่ต่ำกว่า
  • สร้างงานและเพิ่มการลงทุน : การลงทุนในพลังงานทางเลือกสามารถสร้างงานใหม่และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลิตแผงโซลาร์เซลล์ หรือติดตั้งเครื่องกำเนิดพลังงานลม เป็นต้น
  • ลดความต้องการของพลังงานนิวเคลียร์ที่สูงขึ้น : การใช้พลังงานทางเลือกสามารถลดความต้องการในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ได้ดีขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยและมลพิษที่เกิดขึ้นจากการเก็บรังสีนิวเคลียร์
  • สร้างความมั่นคงในการผลิตพลังงาน : การผลิตพลังงานจากแหล่งที่ไม่ใช่น้ำมัน หรือแก๊สธรรมชาติ สามารถลดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก อีกทั้งยังช่วยทำให้การจัดหาพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
  • สร้างเสถียรภาพเชิงเทคโนโลยี : การพัฒนาและใช้ พลังงานทางเลือก สามารถช่วยส่งเสริมการเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องได้ เช่น การพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เป็นต้น
พลังงานทางเลือก
Image by freepik

ข้อจำกัดของการใช้พลังงานทางเลือก มีอะไรบ้าง ?

แม้ว่าการใช้พลังงานทางเลือกจะมีประโยชน์มากมาย ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม และสังคมก็ตาม ก็ยังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่างในการพิจารณาเลือกนำมาใช้งานด้วยเช่นกัน ดังนี้

  • ความเหมาะสมในบางพื้นที่ : พื้นที่ต่าง ๆ อาจจะมีความเหมาะสมที่จะใช้งานพลังงานทางเลือกได้อย่างมีประสิทธิภาพแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น การใช้พลังงานลมในพื้นที่ ที่มีลมในปริมาณไม่มากพอ ก็อาจจะทำให้ไม่ได้รับผลดีเท่าที่ควร เป็นต้น
  • ความเสี่ยงต่อสภาพอากาศ : พลังงานทางเลือกในบางแห่งจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเป็นหลัก เช่น การใช้พลังงานน้ำ ที่อาจมีปริมาณไม่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า หรือถ้าหากท้องฟ้ามืดครึ้ม ก็ทำให้มีแสงอาทิตย์ที่ไม่เพียงพอ เป็นต้น
  • ความผันผวนของการผลิต : บางแหล่งพลังงานทางเลือกมีความผันผวนต่อกระบวนการผลิตสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการจัดหาพลังงาน
  • ความต้องการของพื้นที่ : บางแหล่งพลังงานทางเลือกอาจต้องใช้พื้นที่มาก เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ หรือก่อสร้างเขื่อน เป็นต้น
  • ความยุ่งเหยิงในการบริหารจัดการ : บางรูปแบบของพลังงานทางเลือกอาจมีความซับซ้อนในการบริหารจัดการ เช่น การบริหารจัดการระบบจัดเก็บ หรือการจำหน่ายพลังงานที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์
  • ต้นทุนเริ่มต้นสูง : การลงทุนในพลังงานทางเลือกอาจมีต้นทุนเริ่มต้นที่สูงกว่าการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานที่มีการใช้งานมาแล้ว เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานลม หรือแสงอาทิตย์
พลังงานทางเลือก
Image by HelloDavidPradoPerucha on Freepik

Keys Takeaway

แม้ว่าการเลือกใช้พลังงานทางเลือกจะมีประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมในหลายด้าน แต่ก็มีข้อจำกัดอีกหลายประการที่ต้องคำนึงถึงอยู่ด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ถ้าหากทุกหน่วยงาน ร่วมมือกันก็จะช่วยทำให้โลกของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือพลังงานทางเลือกจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยรักษ์โลกได้อย่างยั่งยืน และช่วยทำให้ในอนาคตมีพลังงานสะอาดในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

Cover Image : Image by freepik

“พลังงานหมุนเวียน” เทรนด์พลังงานหลักของโลกอุตสาหกรรมในอีกไม่ช้า

พลังงานหมุนเวียน

มลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่งผลเสียต่อโลกของเราหนักหน่วงกว่าที่คาดเอาไว้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ในร้ายก็ยังมีดีอยู่เสมอ.. เมื่อสาเหตุดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญให้ประชากรทั่วโลกหันมาตระหนักในเรื่องของมลพิษ รวมถึงข้อจำกัดที่มีของพลังงานดั้งเดิม อย่างพลังงานฟอซซิล (Fossil Fuel) ทำให้อุตสาหกรรมและธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานโดยตรง ต่างมีจุดหมายใหม่ในเส้นทางของการใช้พลังงานในอนาคตที่ตรงกัน ซึ่ง “พลังงานหมุนเวียน” คือเรื่องที่เราจะนำมาพูดคุยกันในวันนี้!

พลังงานหมุนเวียน คืออะไร ?

พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) คือ พลังงานต่าง ๆ จากแหล่งที่เราสามารถนำมาใช้ได้แบบไม่มีวันหมด และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก โดยเฉพาะหากเทียบกับพลังงานแบบดั้งเดิมที่ใช้กันมานมนาน ข้อหลังนี้ถือเป็นข้อดีแสนสำคัญยิ่งกว่าความอมตะนิรันดร์กาลของพลังงานนี้ด้วยซ้ำ

พลังงานหมุนเวียน

พลังงานหมุนเวียน สำคัญอย่างไร ?

เอาเป็นว่าแค่การที่ใช้ได้แบบไม่มีวันหมดแค่อย่างเดียว ก็น่าจะบ่งบอกถึงความสำคัญในตัวเองของสิ่งนี้ได้เป็นอย่างดี และอย่างที่ได้บอกไปว่าทุกประเภทของพลังงานหมุนเวียนนั้นหากพูดถึงการทำลายสิ่งแวดล้อม แทบจะส่งผลน้อยนิดมากเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หลายคนเชื่อว่าจะเข้ามาแทนที่พลังงานสิ้นเปลืองในอนาคตอันใกล้นี้

หากมีการปรับใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม เห็นผลจากคุณภาพชีวิตขอประชากรโลกและสิ่งแวดล้อม พลังงานหมุนเวียนจะกลายเป็นเทรนด์พลังงานหลักในไม่ช้า ชนิดที่ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมธุรกิจขนาดใด องค์กรต่าง ๆ หรือรัฐบาลไหนก็ไม่อาจปฏิเสธสิ่งนี้ได้เลย

อุตสาหกรรม “พลังงานหมุนเวียน” มีขนาดใหญ่มากแค่ไหน ?

อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกนั้นโตขึ้นอย่างมาย ในอัตราที่รวดเร็วในปีที่ผ่านมา คิดเป็นอัตราเฉลี่ยแล้วเร็วที่สุดนับแต่ปี 1999 กันเลยทีเดียว นำทัพด้วย “พลังงานลม” และ “พลังงานแสงอาทิตย์” โดยสองสิ่งนี้กระตุ้นอัตรากำลังการผลิตใหม่เพิ่มขึ้นมากถึง 45% ตัวเลขนี้เป็นการเก็บสถิติรวมจากทวีปยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน

พลังงานหมุนเวียน

5 ประเภทหลักของ พลังงานหมุนเวียน

โดยทั่วไปพลังงานหมุนเวียนแต่ละอย่างนั้นมีหน้าที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถใช้งานร่วมกันได้หลากหลาย ทั้งยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนโดยตรง สำหรับพลังงานทางเลือกที่ไม่สามารถหมุนเวียนได้ โดยแบ่งได้เป็น 5 ประเภทหลัก ดังนี้

1. พลังงานแสงอาทิตย์

เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีหากเราพูดถึง “โซลาร์เซลล์” ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นพลังงานธรรมชาติแรก ๆ ที่ทุกคนน่าจะนึกถึงจากแสงแดดอันเจิดจ้าที่พร้อมทักทายเราในทุกวัน และก็แน่นอนว่าพลังงานได้รับความนิยมมากที่สุดทั่วโลก

โรงกลึงพี-วัฒน์เองก็กำลังศึกษาเพื่อนำเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้ร่วมกับเทคโนโลยี IoT เพื่อใช้ในกระบวนการที่สนับสนุนส่วนของการผลิต เป้าหมายคือเพื่อประหยัดพลังงาน สนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อมเท่าที่ทำได้ ช่วยลดต้นทุน และที่สำคัญต้องยังคงรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไว้ให้อยู่ในระดับเดิม

แต่เชื่อหรือไม่ว่าหากนับเรื่องของอัตราการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก พลังงานแสงอาทิตย์เป็นเพียงอันดับ 3 เท่านั้น

2. พลังงานลม

เรียกได้ว่าเก่าแก่และได้รับความนิยมไม่แพ้กับประเภทแรกกันเลย เป็นเวลาหลายศตวรรษที่พวกเราใช้พลังงานลมในรูปแบบของการแล่นเรือใบและกังหันลม โดยปัจจุบันแล้วส่วนใหญ่หันมาใช้ลมเพื่อผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมนั่นเอง

เมื่อปี 2019 มีการเก็บสถิติกำลังการผลิตพลังงานลม มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 24% ซึ่งก็ทำได้สูงกว่าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทำได้อยู่ 20% ของกำลังการผลิตพลังงานทั่วโลก

3. พลังงานความร้อนใต้พิภพ

โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นตัวอย่างของการใช้ในอุตสาหกรรมความร้อนใต้พิภพเป็นพลังงานหมุนเวียนอีกประเภทนึงที่ผลิตได้มาก 

พื้นดินใต้เท้าของเรามีพลังงานจำนวนไม่จำกัด เป็นผลมาจากพื้นผิวที่ดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์ลึกลงไปในพื้นโลก ซึ่งความนิยมหลัก ๆ มาจากการเลือกใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

4. พลังงานน้ำ

“กังหันน้ำ” เป็นเทคโนโลยีที่มาก่อนกาลมาก ๆ เราได้ใช้ประโยชน์จากพลังงานนี้ในรูปแบบที่ยังคงมีพื้นฐานมาจากความคิดตั้งต้น โดยใช้พลังงานน้ำในการเคลื่อนที่เพื่อก่อให้เกิดพลังงาน ก่อนจะปรับใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

สามประเทศที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำมากที่สุดในโลก เป็นสถิติที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2018 ได้แก่ จีน (352,261 เมกะวัตต์), บราซิล (104,195 เมกะวัตต์) และสหรัฐอเมริกา (103,109 เมกะวัตต์)

5. พลังงานชีวภาพ

พลังงานชีวภาพ หรือ พลังงานชีวมวล คือการใช้อินทรียวัตถุเพื่อการใช้พลังงานที่หลากหลาย อาทิ ไม้, พืชผล, ขยะในสวน รวมถึง ของเสียจากสัตว์และมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่นการใช้ไม้หากต้องการผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น

แต่สำหรับพลังงานนี้ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ไม่น้อย เนื่องจากยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหลายด้านที่อาจต้องนำมาประกอบการพิจารณาในอนาคต แต่หากพูดถึงประโยชน์ที่ได้รับในตอนนี้และเทียบกับพลังงานสิ้นเปลือง พลังงานชีวภาพ อยู่ในระดับที่จิ๊บจ๊อยกว่ามากทีเดียว

พลังงานหมุนเวียน

แนวโน้มพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย และการปรับใช้ในอุตสาหกรรม

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้จับมือกับ มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน จัดงานสัมนา AEDP (Alternative Energy Development Plan) ภาคประชาชน เพื่อนำเสนอปัญหาและอุปสรรค รวมถึงข้อเสนอแนะในการพัฒนาพลังงานที่จะเพิ่มศักยภาพให้แก่อุตสาหรรมที่เกี่ยวข้อง แต่ยังดำเนินไปพร้อมกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทำให้เชื่อเหลือเกินว่าพวกเรากำลังเดินทางเข้าใกล้กับยุคแห่งการใช้พลังงานหมุนเวียนขับเคลื่อนเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสม แม้จะดูเหมือนว่าเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่การที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ หากเกิดเป็นเทรนด์ของโลกเมื่อไหร่จะสร้างประโยชน์มากมายให้แก่ “อุตสาหกรรมการผลิต” และ “สิ่งแวดล้อม” อย่างมากแน่นอน

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลความรุ้ดี ๆ สำหรับเรื่องของ “พลังงานหมุนเวียน” 

https://www.clean-energy-ideas.com/energy/renewable-energy/the-5-main-types-of-renewable-energy/
https://www.nrdc.org/stories/renewable-energy-clean-facts