ไม่ได้พูดถึงเรื่องของยานยนต์เสียนาน แต่พอได้เห็นกระแสของ “รถยนต์ไฟฟ้า” ที่กำลังมาแรงในบ้านเรา หลังเจ้า Ora Good Cat เปิดตัว ไม่ว่าจะด้วยความน่ารัก สเป็คที่ชวนให้จับจองเป็นเจ้าของ หรืออะไรก็ตามแต่ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบเก่าที่ซดน้ำมัน (ICE) จะถูกแทนที่มากน้อยแค่ไหนกันนะ…
ด้วยความใคร่รู้ดังกล่าว ทำให้เราไปเจอบทความหนึ่งที่พูดถึงการเข้ามา “ปฏิวัติ” ของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งอาจจะมีส่วนเข้ามากำหนดสเป็คสำหรับ OEM (Original Equipment Manufacturer) และบรรดาซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างมาก เว็บไซต์โรงกลึงพีวัฒน์ตื่นตัวกับอุตสาหรกรรมด้านนี้ และเกิดความสนใจเป็นอย่างมาก เลยอยากนำมาเล่าสู่กันฟังผ่านเนื้อหาด้านล่างนี้
เทสล่า & BYD ทัพหน้าพายานยนต์สู่ยุคใหม่?
เริ่มต้นจากการบุกเบิกรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของ เทสล่า และ BYD รวมถึงแบรนด์อื่น ๆ ส่งผลให้คำว่า “ล้าสมัย” มาเยือนเทคโนโลยียานยนต์แบบเก่า (ICE) ไวยิ่งขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่ารถยนต์ส่วนบุคคลกว่า 50% ทั้งหมดจะกลายเป็นแบบไฟฟ้าภายในปี 2040 จึงไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์มากเท่าไหร่ที่ เทสล่า และ BYD ยังคงเป็นสองบริษัทที่ดูจะล้ำหน้าเรื่องเทคโนโลยีเกี่ยวกับยานยนต์ประเภทนี้มากกว่าเจ้าอื่น
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้ หลายบริษัทก็ไม่ได้เพิกเฉยแต่อย่างใด เพราะเอาเข้าจริง ยุคนี้เป็นทศวรรษที่อุปกรณ์ต่าง ๆ เทคโนโลยี CNC สำหรับยานยนต์ เครื่อข่ายลอจิสติกส์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแขนงนี้ นั้นพัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็ว พิสูจน์ได้จากความสามารถในการผลิตที่หลากหลาย ตลอดจนเรื่องของเงินทุนก้อนโตที่เกินกว่าจะเมินได้ แต่การจะเข้าร่วมวงแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยแบบสองแบรนด์ดังกล่าวนั้นจำเป็นต้องใช้เวลา ทั้งเรื่องของการปรับแต่งเครื่องมือเพื่อเบี่ยงเส้นทางจากสาย ICE สู่ EV โดยภาคส่วนการผลิตยานยนต์ด้วยเครื่องมือ CNC นั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แบบเต็ม ๆ
ความแตกต่างของการผลิตชิ้นส่วนระหว่างโรงงานแบบ ICE กับ EV
เครื่องยนต์แบบ ICE นั้นภายในมีความซับซ้อนอย่างมาก ซึ่งเกิดจากความจำเป็นในการเปลี่ยนพลังงานเคมีให้เป็นข้อได้เปรียบทางกล พลังงานจากแรงเชิงเส้นเพื่อหมุนล้อผ่านเกียร์สร้างความซับซ้อนที่ดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุด ไหนจะเรื่องชิ้นส่วนทั่วไปที่มักทำมาจากโลหะ นั่นแปลว่าต้องมีเรื่องของการกลึงเข้ามาเกี่ยวข้องในการผลิตอีก
ส่วนเครื่องยนต์แบบ EV จะมีความซับซ้อนที่น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ในแง่ของชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวของรถยนต์ไฟฟ้า แบ่งส่วนประกอบหลักเป็น 3 ส่วน คือ มอเตอร์ไฟฟ้า ชุดแบตเตอรี่ และเกียร์
เรื่องของการทำงานนั้น พลังงานไฟฟ้าจะถูกดึงออกมาผ่านกระบวนการทางเคมีมาให้สู่มอเตอร์ แล้วมอเตอร์จะส่งกำลังไปยังล้อโดยใช้แค่เกียร์ขนาดเล็ก ซึ่งปกติเป็นเกียร์แบบความเร็วเดียว (เช่น รถของเทสล่า) นั่นหมายความว่าการผลิตชิ้นส่วนที่ต้องใช้ CNC มีกระบวนการน้อยกว่าโรงงานแบบ ICE แน่นอน
ข้อกำหนดของ EV Machining
นี่เป็นสิ่งที่บรรดา OEM และซัพพลายเออร์ของแต่ละบริษัทจะต้องพัฒนาควบคู่กันในการเปลี่ยนแปลงสู่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้า โดยด้านล่างนี้เป็นข้อกำหนดบางส่วนที่เป็นข้อมูลสำหรับ EV Machining เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติตามสองค่ายผู้นำในอุตสาหกรรมนี้
การผลิตแบตเตอรี่ การผลิตแบตเตอรี่จะเป็นคอขวดของการผลิต EV ในอนาคต โดยนี่เป็นการคาดการณ์ของ เทสล่า และกำลังวางแผนที่จะบรรเทาผลกระทบดังกล่าว โดยการสร้างศูนย์กลางผลิตแบตเตอรี่ที่เรียกว่า “Gigafactories” นี่เป็นสิ่งที่บริษัทรถยนต์จำเป็นต้องลุยเรื่องการผลิตแบตเตอรี่เอง เนื่องด้วยตลาดนั้นมีการแข่งขันสูงมากอยู่แล้วจากการนำ EV ไปทั่วโลกอย่างจำกัด
นอกจาก เทสล่า ทางด้านของ BYD เองได้ดำเนินการผลิตชุดแบตเตอรี่ ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นกระบวนการที่ต้องการความแม่นยำในการผลิตมากที่สุด และยังจำเป็นต้องมีเครื่อง CNC ระดับสูงอีกด้วย
การผลิตระบบส่งกำลัง นี่น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สามารถเกิดขึ้นได้ไวสุดเลยก็ว่าได้ เพราะระบบส่งกำลังสำหรับ EV มีความซับซ้อนน้อยกว่าระบบกำลังของ ICE ทั่วไปมาก ดังนั้น OEM และซัพพลายเออร์สามารถจัดการได้เป็นลำดับแรก ๆ โดยเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรกับกระบวนการที่มีอยู่แค่เล็กน้อยเท่านั้น
แผงตัวถัง เป็นอีกสิ่งนึงที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักหากต้องการกระโจนสู่ตลาดยานยนต์ EV แผงตัวถังเหล่านี้สร้างขึ้นโดยการปั๊มหรือดึงแผ่นโลหะให้เป็นรูปทรงตามต้องการ โดยใช้แม่พิมพ์เพื่อสร้างรูปแบบที่ซับซ้อนของรถยนต์ กระบวนการนี้ถูกกลึงโดยใช้เครื่องจักรแบบ 5 แกน ซึ่งในการผลิต ICE นั้นใช้งานกันอยู่แล้ว
คุณภาพที่สูงขึ้น นอกจากความ “รักษ์โลก” แล้ว สิ่งที่ตลาดนี้นำเสนอมาตลอด คือ “ความเรียบง่าย” ซึ่งหมายถึงภาพรวมของทุกอย่าง ความสัมพัทธ์ของ EV และเซฟคอสต์เรื่องการบำรุงรักษา โฟกัสต่าง ๆ จะพาไปสู่การผลิตชิ้นส่วนที่มีคุณภาพสูงขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชิ้นส่วนที่กลึงมีอายุการใช้งานยาวนานตราบเท่าส่วนประกอบอื่นของรถยนต์ไฟฟ้า นี่เป็นอีกสิ่งที่จำเป็นต้องผลิตด้วยเครื่องจักรชั้นสูง ต้องสามารถตอบสนองความแม่นยำและมีความสามารถในการทำซ้ำตามที่ผู้ผลิตแพลนไว้
น้ำหนักเบา เรื่องน้ำหนักเป็นจุดหลักที่ตลาด EV ให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ดังนั้นชิ้นส่วนต่าง ๆ จำเป็นต้องผลิตจากวัสดุน้ำหนักเบา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเป็นของ เทสล่า ที่เกือบจะใช้สเปคเดียวกันกับการบินและอวกาศกันเลย แต่มีการปรับใช้ ออแบบโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับยานยนต์
ขั้นตอนนีมีความซับซ้อนและต้องใช้เวลาในการผลิตมากกว่าชิ้นส่วนยานยนต์แบบดั้งเดิม เป็นผลมาจากรูปทรงอินทรีย์ที่ซับซ้อนจากอัลกอรธึมที่โปรแกรมเอาไว้
เสียงรบกวนต่ำ การออกแบบโดยคำนึงถึง “ความเงียบ” เป็นอีกจุดขายของ EV อยู่แล้ว และอาจมีเสียงรบกวนมากเกินความจำเป็นหากชิ้นส่วนมีการตัดเฉือนที่ไม่ตรงสเป็ค ส่วนการแก้ปัญหานั้นไม่ยากเลย แต่ต้องใช้ทุนหนักหน่อย เพราะจำเป็นต้องใช้เครื่องเจียรที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งก็มั่นใจได้เลยว่าจะบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้อย่างแน่นอน
ความต้องการของผู้บริโภคสำหรับรถยนต์ไฟฟ้ายังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง “การปรับตัว” เปลี่ยนไปใช้สายการผลิตที่ได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสมและมีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้นสำหรับ EV มีความสำคัญมาก จากแนวโน้มปัจจุบันในข้อมูลที่ได้รับมานี้ จำนวนชิ้นส่วนโลหะมีความต้องการลดลงอย่างมาก ส่วนความต้องการในชิ้นส่วนคุณภาพสูงสำหรับ EV กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง… OEM และซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์มีสิทธิ์สูญเสียกำลังการผลิตที่อาจส่งผลร้ายแรงต่อธุรกิจเกินกว่าที่จะจินตนาการเลยก็ได้
ขอขอบคุณบทความต้นทางจาก https://kingsburyuk.com/how-will-the-electric-vehicle-revolution-change-machining-requirements-for-oems-and-suppliers-in-the-automotive-industry