แนวทางป้องกันน้ำท่วม ฉบับโรงงานอุตสาหกรรม

ป้องกันน้ำท่วม

ตอนนี้กำลังจะเข้าสู่ “10 วัน อันตราย” เลยก็ว่าได้ จากที่เช็คข่าวเกี่ยวกับมวลน้ำล่าสุด มีรายงานโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ทำเรื่องแจ้งประสานงานเพื่อเตรียมจัดการเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนที่เพิ่มสูงขึ้น ระหว่างวันที่ 20-30 ตุลาคม โดยมี 11 จังหวัด เข้าข่ายสุ่มเสี่ยง ได้แก่ อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง นครสวรรค์ ชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร พระนครศรีอยุทธยา นนทบุรี ปทุมธาน รวมถึง กรุงเทพมหานคร

จากที่ได้กล่าวไปข้างต้น มีหลายจังหวัดเป็นจุดที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมหลายต่อหลายแห่ง เชื่อว่าช่วงก่อนที่มีมวลระดับน้ำเข้ามาความตื่นตัวน่าจะทำให้หลายฝ่ายเริ่มดำเนินมาตรการป้องกันน้ำท่วม ตลอดจนแนวทางรับมือกับปัญหาที่จะตามมาที่อาจส่งผลต่อโรงงาน ซึ่งเนื้อหาที่เราจะนำเสนอก็เป็น แนวทางปฏิบัติในการป้องกันอุทกภัยในโรงงานอุตสาหกรรม จัดทำขึ้นโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2556

บทความที่เคยได้พูดคุยกันไปในคราวก่อน เกี่ยวกับ แนวทางกอบกู้เครื่องจักร CNC ในเหตุอุทกภัย ซึ่งเป็น case study ของเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่รัฐเท็กซัส ส่วนของเนื้อหาด้านล่างนี้เป็นการรวบรวมแนวทางการป้องกันน้ำท่วม บรรเทาและกอบกู้ ทั้งจากของไทยเองเมื่อปี 2554 รวมถึงเคสต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นประปรายตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษ

ป้องกันน้ำท่วม

ป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยได้ด้วยการทำ “เช็คลิสต์”

ก่อนอื่นเลย หากเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่คงจะมีการจัดการเป็นแบบแผนอยู่แล้ว แต่สำหรับโรงกลึงหรือโรงงานขนาดเล็กรวมถึงผู้ประกอบการทั่วไปที่มีเครื่องจักรอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยง จำเป็นต้องทำก่อนดำเนินการขั้นตอนทุกอย่าง ควรจะทำ “เช็คลิสต์ป้องกันน้ำท่วม” เพื่อที่หลายฝ่ายจะได้ร่วมมือกันแก้ปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน ดังนี้

เตรียมพร้อมเมื่อเกิดอุทกภัยแบบฉับพลัน

  • มีการประชุมร่วมกันว่าหากเกิดเหตุจะอพยพไปที่ใด และเตรียมเครือข่ายเพื่อติดต่อกับทีมงานเพื่อร่วมงาน
  • ตรวจสอบความพร้อมศูนย์อพยพว่ารับรองคนได้มากน้อยแค่ไหน เพียงพอต่อทีมงานทุกคนหรือไม่
  • รีเช็คและเก็บรักษาข้อมูลการติดต่อบุคคล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้อยู่ในจุดที่มองเห็น หยิบใช้งานได้รวดเร็วที่สุด
  • ไม่ควรรอให้น้ำท่วมอุปกรณ์ต่าง ๆ สารเคมี โดยเฉพาะเครื่องจักร หากสามารถเคลื่อนย้ายได้ ให้นำไปอยู่ในจุดที่ระดับน้ำเข้าถึงยากที่สุด

ตรวจสอบเรื่องของประกัน และการปิดการใช้งานระบบต่าง ๆ ภายในโรงงาน

  • แบ่งทีมตรวจสอบอาคารและบริเวณโดยรอบ ประเมินหรือไล่เช็คดูความเสียหายเบื้องต้นว่าเข้าหลักเกณฑ์ประกันภัยของโรงงานมากน้อยแค่ไหน
  • ควรเช็คให้มั่นใจ ดีที่สุดคือติดต่อไปยังประกันภัยที่ถือครองอยู่โดยตรงว่ามีครอบคลุมเกี่ยวกับอุทกภัย
  • ไม่ควรประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่มีต่ำกว่าความเป็นจริง
  • ศึกษาเตรียมความพร้อมในการปิดระบบต่าง ๆ ภายในโรงงาน อาจสอบถามไปยังบริษัทคู่ค้าเพื่อให้ได้วิธีที่ถูกต้องและปลอดภัยต่ออุปกรณ์ที่สุด
  • เตรียมเก็บสิ่งของที่จำเป็นให้ปลอดภัย ให้จัดเป็นหมวดหมู่แยกสำหรับ “อุทกภัย” โดยเฉพาะ อาทิ เอกสารสำคัญ เครื่องปั่นไฟ วิทยุสื่อสารที่ใช้กระแสตรงได้ อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้อต้น น้ำและอาหารแห้ง
ป้องกันน้ำท่วม

การป้องกันอุทกภัยเบื้องต้นที่ควรรู้

ในเนื้อหาของกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เสนอแนะแนวทางการป้องกันนำ้ท่วมเบื้องต้นที่ผู้เกี่ยวข้องควรตระหนัก จำแนกเป็น 4 แบบด้วยกัน ดังต่อไปนี้

  1. การเคลื่อนย้าย: ย้ายอาคาร (แบบน็อคดาวน์) อุปกรณ์ เครื่องจักร และการยกพื้นที่อาคารให้สูงกว่าระดับน้ำท่วม หากทำได้
  2. การสร้างผนังกั้นน้ำ: สร้างกำแพงกั้นน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้ามาสู่อาคาร หรือหากมีก็ข้อให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
  3. การป้องกันน้ำท่วมแบบแห้ง: เป็นการทำบริเวณผนังแบบปิดกั้นน้ำเต็มรูปแบบ ควรใช้วัตถุดิบที่สามารถกันน้ำซึมลอดเข้ามา และปิดทางที่น้ำจะเข้าสู่ตัวอาคารทั้งหมด
  4. การป้องกันน้ำท่วมแบบเปียก: สำหรับวิธีนี้ควรมีการตรวจสอบ เคลื่อนย้ายอุปกรณ์ที่ปล่อยให้น้ำท่วมได้ ก่อนที่จะเปิดตัวอาคารให้น้ำไหลเข้ามา เช็คเส้นทางที่น้ำจะไหลผ่าน ดูและตัวอาคารและเครื่องมือภายในให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

เรื่องของการแจ้งเตือนก็สำคัญ

เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด เชื่อว่าหากเป็นองค์กรใหญ่น่าจะเน้นย้ำเรื่องการเช็คเกี่ยวกับการแจ้งเตือนเป็นอันดับต้น ๆ และควรรีเช็คอยู่เสมอเพราะอุทกภัยนั้นเป็นสิ่งที่คาดเดาสถานการณ์ได้ยาก เนื่องด้วยตัวแปรที่หลากหลาย ปัจจุบันประเทศไทยนั้นมีการแจ้งเตือนอุทกภัยผ่านทางเว็บไซต์ http://ews1.dwr.go.th/ews/index.php โดยจะแบ่งระดับความรุนแรงตามสี ดังนี้

  • สีเขียว (เฝ้าระวัง): มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความน้ำท่วม ควรเตรียมความพร้อมตามที่ได้ให้คำแนะนำไปในเช็คลิสต์แนวทางด้านบน และตรวจสอบสภาพอากาศบนเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันที่มีความน่าเชื่อถืออยู่เป็นระยะ
  • สีเหลือง (เตือนภัย): กำลังจะเกิดน้ำท่วม จำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมชนิดเร่งด่วน เช็คบริเวณโดยรอบ จัดการตามเช็คลิสต์ที่แนะนำให้เรียบร้อย
  • สีแดง (อันตราย): เกิดน้ำท่วมสูง มีความเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ณ จุดนี้ควรอยู่สถานที่ปลอดภัย และเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการอพยมอยู่เสมอ เช็คเครื่องมือสื่อสารให้พร้อมต่อการช่วยเหลืออยู่ตลอด
ป้องกันน้ำท่วม

อัพเดตมาตรการป้องกันอยู่เสมอ เตรียมตัวให้พร้อม ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน

เรื่องของภัยพิบัติ สาธารณภัยต่าง ๆ ส่วนมากมักเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม แนวทางปฏิบัติในการป้องกันที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญอยู่เสมอ ฉะนั้น หากเป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจในการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ควรมีการอัพเดตมาตรการอยู่ตลอด ปัจจุบันเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องยังคงทำได้ในส่วนของการแจ้งเตือนเท่านั้น 

โรงงานบางแห่งอาจมีการซ้อมรับมือการเคลื่อนย้าย ตลอดจนการปฏิบัติตามแนวทางที่กรมโรงงานได้จัดทำขึ้น ไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ควรทำเต็มที่อยู่เสมอ เพราะเมื่อเกิดเหตุแล้วเราสามารถจัดการได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว ความเสียหายที่เกิดนั้นจะเป็นตัวบ่งบอกว่าเราพร้อมขนาดไหน อย่าปล่อยให้เป็นเพื่อเนื้อหาที่อยู่บนเว็บไซต์ ไฟล์ต่าง ๆ หรือหน้ากระดาษ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจช่วยคุณได้มากกว่าที่คิด..

ขอขอบคุณข้อมูลเอกสารอ้างอิงต่าง ๆ และ แนวทางปฏิบัติในการป้องกันอุทกภัยในโรงงานอุตสาหรกรรม, กรมโรงงานอุตสาหกรรม

https://www.abi.org.uk/globalassets/files/publications/public/flooding/abi-guide-to-resistant-and-resilient-repair-after-a-flood-2019.pdf

http://www.knowyourfloodrisk.co.uk/sites/default/files/FloodGuide_ForCouncils.pdf

แนวทางป้องกันโควิด-19 โรงงานอุตสาหกรรม มั่นใจได้มากน้อยแค่ไหน?

แนวทางป้องกันโควิด-19 โรงงานอุตสาหกรรม

ในยุคที่สถานการณ์ของโคโรน่าไวรัสส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการทำธุรกิจทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย หากว่ากันตามตรงต้องบอกว่า “หนักหน่วง” เหลือเกิน ไม่เว้นแม้แต่โรงกลึงหรือโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป ซึ่งต้องมีการปรับตัวภายใต้เงื่อนไขของการควบคุมต่าง ๆ และใช้กระบวนการทำงานภายใต้กรอบของ แนวทางป้องกันโควิด-19 โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ผลผลิตยังคงดำเนินการต่อไปได้ด้วยความปลอดภัยและเพิ่มความมั่นใจให้แก่ลูกค้า

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของแถลงการณ์ต่าง ๆ ที่ออกมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การที่มีหลักปฏิบัติออกมาเป็นมาตรการ “พื้นฐาน” เป็นดั่งแนวทางสำคัญที่เราสามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจของเราให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่ก็ต้องยึดถือความปลอดภัย สุขภาพของทีมงานเป็นอันดับแรก  โดยโรงกลึงพี-วัฒน์ นั้นพร้อมสร้างความมั่นใจแก่ลูกค้า ด้วยแนวทางปฏิบัติดังกล่าวบนมาตรฐานระดับสูงเหมือนเคย

หนักแค่ไหน.. อุตสาหกรรมไทยในสถานการณ์ โควิด-19

ตามที่เราได้รับข่าวสารผ่านหลายช่องทางในแต่ละวัน จากสถานการณ์ที่เคยดีขึ้นเป็นลำดับ กลับมาหนักหนาอีกครั้งเมื่อเจอพิษการระบาดของโควิด “ระลอกใหม่” ไม่ใช่ระลอกสอง ตามคำนิยามของ ศบค. เหมือนเมื่อช่วงส่งท้ายปี จนมาถึงช่วงสงกรานต์ปีใหม่ไทยที่กลับมาประทุอีกครั้ง โดยเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก ๆ ส่วนใหญ่แล้วแทบจะยังฟื้นตัวขึ้นมาก่อนหน้านั้นไม่ได้ด้วยซ้ำไป

และแน่นอน ธุรกิจที่โดนอัปเปอร์คัตปลายคางอีกครั้งหนีไม่พ้น “อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ” กรีฑาทัพโดย อุตสาหกรรมโรงแรม อุตสาหกรรมร้านอาหาร และอุตสาหกรรมการบิน แม้จะยังไม่ถึงกับน็อคแต่เรียกได้ว่าต้องเดินสะโหลสะเหลบนเวทีไปอีกพักใหญ่ นอกจากล่าสุดคนจะติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทำสถิติ “New High” ทุก ๆ วัน จำนวนผู้เสียชีวิตมากขึ้นตามลำดับจนเป็นที่น่าวิตกกังวล

แนวทางป้องกันโควิด-19 โรงงานอุตสาหกรรม
Image by Drazen Zigic on Freepik

คาดว่ากว่าที่วัคซีนจะเข้ามามีบทบาทจนกลายเป็นหมัดเด็ดช่วยพลิกสถานการณ์ก็น่าจะอีกพักใหญ่ ฉะนั้น สถานการณ์ตอนนี้ธุรกิจใดมีแผนสอดคล้องกับมาตรการไหนที่ออกมา ปรับใช้กับโครงสร้างธุรกิจตัวเองได้มากน้อยขนาดไหน ก็ต้องออกหมัดคอยแย็บไว้บ้างยังดีกว่าไม่ได้ออกอาวุธอะไรเลย

สำหรับอุตสาหกรรมโรงงานก็ต้องปรับตัวไม่ใช่น้อยเช่นกัน อาจจะไม่ถึงกับหลังพิงฝาเหมือนกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ แต่ถ้าจะบอกว่าไม่ได้รับผลกระทบเลย.. อันนี้ไม่ใช่แน่ ๆ อย่างมาตรการโควิด-19 ที่ออกมา มีหลายสิ่งหลายอย่างที่จำเป็นต้องทำเพิ่ม รายได้เป็นอย่างไรไม่รู้ แต่รายจ่ายเพิ่มเข้ามาเรียบร้อย เมื่อดูแล้วเป็นทางออกหลักที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ทั้งยังเป็นการรับผิดชอบต่ออุตสาหกรรมโรงงานและสังคมโดยรวม เชื่อว่าโรงงานทุกแห่งพร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว

แนวทางป้องกันโควิด-19 โรงงานอุตสาหกรรม โดยทั่วไป

มาตรการนี้นั้นเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานที่มีร่างออกมาตั้งแต่การระบาดของไวรัสตั้งแต่ระลอกแรก มีการปรับปรุงเรื่อยมาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถึงปัจจุบัน ฉะนั้น นี่ถือเป็นมาตรการสำคัญของโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปและไม่เว้นแม้แต่โรงกลึงซึ่งปฏิบัติกันมาโดยตลอด

แนวทางป้องกันโควิด-19 โรงงานอุตสาหกรรม
Image by aleksandarlittlewolf on Freepik

ความเข้นข้นของระดับการใช้มาตรการนี้นั้นเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงองค์รวมของโครงสร้างธุรกิจและกระบวนการของแต่ละโรงงานเอง แต่โดยหลักทั่วไปแล้วข้อสำคัญ ที่จำเป็นต้องทำเลย คือการแบ่งทีมงานออกเป็น 2 ส่วน สลับกันทำแบบ เวิร์คฟอร์มโฮม (Work from Home) คล้ายกับมี 2 บริษัท เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างปกติที่สุด

ในส่วนของกระบวนการผลิตนั้น ชุดอุปกรณ์ป้องกันพื้นฐานจำต้องมีการแจกจ่ายและตรวจอย่างเคร่งครัด นอกจากเป็นการป้องกันภายในโรงงานแล้ว การส่งสินค้าออกถือเป็นความเสี่ยงสูงสุดที่อาจทำให้เป็นคลัสเตอร์ระลอกใหม่ได้เลย แต่ก็ยังเป็นที่เรื่องที่น่ายินดีว่าที่ผ่านมานั้นยังไม่มีข่าวว่าอุตสาหกรรมในโรงงานนั้นมีการบกพร่องแต่อย่างใด

ด้วยมาตรฐานและปรัชญาของโรงกลึงพี-วัฒน์ กับแนวทางสากลพร้อมดำเนินควบคู่ไปด้วยกัน

ในส่วนของ โรงกลึงพี-วัฒน์ เรื่องมาตรฐานการบริการผ่านปรัชญาที่เรายึดมั่นมาตลอดนั้นพร้อมดำเนินการสอดคล้องไปกับข้อปฏิบัติเกี่ยวกับ แนวทางป้องกันโควิด-19 โรงงานอุตสาหกรรม ในทุกกระบวนการได้ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นภายในโรงงานผลิตก็ดี หรือทีมงานที่ต้องติดต่อโดยตรงกับลูกค้าก็ดี

โดยทางด้านของการผลิตเอง อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น เมื่อมีมาตรการปฎิบัติสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร บวกกับความมุ่งมั่นของเราที่เตรียมตัวอยู่เสมอเพื่อรักษามาตรฐาน พร้อมยกระดับความเชื่อมั่นของลูกค้าต่อสินค้าและบริการของเรา 

ดังนั้น นอกเหนือจากความพึงพอใจในตัวของชิ้นงานแล้ว เรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งที่เราเน้นย้ำทีมงานมาโดยตลอด นี่คือสิ่งเพิ่มเติมผสมผสานรวมกับปรัชญาหลักของเรา เป็นขั้นตอนที่พวกเราใส่ใจเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ข้อจำกัดที่อาจมาพร้อมกับสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม?

แนวทางป้องกันโควิด-19 โรงงานอุตสาหกรรมหรือแนวทางป้องกันโรคระบาดสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการโรงกลึง ไม่ได้เป็นเพียงแค่ข้อปฏิบัติสำหรับการทำงานภายใต้ขีดจำกัดของวิกฤติการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสเท่านั้น แต่หากเรามองเจาะลึกลงไปจากผลกระทบร่วมกับการปรับตัวเพื่อ New Normal ด้วย สิ่งเหล่านี้เองทำให้โรงงานต่าง ๆ หันกลับมาพัฒนาระบบของตนเองมากขึ้น เทคโนโลยีและดิจิตอลจะเข้ามามีบทบาทมากกว่าที่เคยแน่นอน 

ฉะนั้น นี่ไม่ใช่การจบแบบการมอง “โลกสวย” เพียงแต่ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ข้อจำกัดมากมายขนาดนี้ การปรับตัวไม่ใช่การถอยหลัง 

หรือหากจะนิยามว่าเป็นการก้าวถอยหลังจริง ๆ นี่ก็คงเป็นการถอยกลับมาพัฒนาในสิ่งที่สามารถต่อยอดเพื่อให้เรากระโดดได้ไกลขึ้น เชื่อว่าหากสามารถรันธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรมภายใต้มาตรการโควิดที่ออกมาได้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด บางทีผลลัพธ์ที่ได้หลังจากนี้อาจทำให้เกิดระบบใหม่ที่ดีกว่าเดิมก็เป็นได้..

Image by aleksandarlittlewolf on Freepik