แนวทางป้องกันน้ำท่วม ฉบับโรงงานอุตสาหกรรม

ป้องกันน้ำท่วม

ตอนนี้กำลังจะเข้าสู่ “10 วัน อันตราย” เลยก็ว่าได้ จากที่เช็คข่าวเกี่ยวกับมวลน้ำล่าสุด มีรายงานโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ทำเรื่องแจ้งประสานงานเพื่อเตรียมจัดการเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนที่เพิ่มสูงขึ้น ระหว่างวันที่ 20-30 ตุลาคม โดยมี 11 จังหวัด เข้าข่ายสุ่มเสี่ยง ได้แก่ อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง นครสวรรค์ ชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร พระนครศรีอยุทธยา นนทบุรี ปทุมธาน รวมถึง กรุงเทพมหานคร

จากที่ได้กล่าวไปข้างต้น มีหลายจังหวัดเป็นจุดที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมหลายต่อหลายแห่ง เชื่อว่าช่วงก่อนที่มีมวลระดับน้ำเข้ามาความตื่นตัวน่าจะทำให้หลายฝ่ายเริ่มดำเนินมาตรการป้องกันน้ำท่วม ตลอดจนแนวทางรับมือกับปัญหาที่จะตามมาที่อาจส่งผลต่อโรงงาน ซึ่งเนื้อหาที่เราจะนำเสนอก็เป็น แนวทางปฏิบัติในการป้องกันอุทกภัยในโรงงานอุตสาหกรรม จัดทำขึ้นโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2556

บทความที่เคยได้พูดคุยกันไปในคราวก่อน เกี่ยวกับ แนวทางกอบกู้เครื่องจักร CNC ในเหตุอุทกภัย ซึ่งเป็น case study ของเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่รัฐเท็กซัส ส่วนของเนื้อหาด้านล่างนี้เป็นการรวบรวมแนวทางการป้องกันน้ำท่วม บรรเทาและกอบกู้ ทั้งจากของไทยเองเมื่อปี 2554 รวมถึงเคสต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นประปรายตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษ

ป้องกันน้ำท่วม

ป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยได้ด้วยการทำ “เช็คลิสต์”

ก่อนอื่นเลย หากเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่คงจะมีการจัดการเป็นแบบแผนอยู่แล้ว แต่สำหรับโรงกลึงหรือโรงงานขนาดเล็กรวมถึงผู้ประกอบการทั่วไปที่มีเครื่องจักรอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยง จำเป็นต้องทำก่อนดำเนินการขั้นตอนทุกอย่าง ควรจะทำ “เช็คลิสต์ป้องกันน้ำท่วม” เพื่อที่หลายฝ่ายจะได้ร่วมมือกันแก้ปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน ดังนี้

เตรียมพร้อมเมื่อเกิดอุทกภัยแบบฉับพลัน

  • มีการประชุมร่วมกันว่าหากเกิดเหตุจะอพยพไปที่ใด และเตรียมเครือข่ายเพื่อติดต่อกับทีมงานเพื่อร่วมงาน
  • ตรวจสอบความพร้อมศูนย์อพยพว่ารับรองคนได้มากน้อยแค่ไหน เพียงพอต่อทีมงานทุกคนหรือไม่
  • รีเช็คและเก็บรักษาข้อมูลการติดต่อบุคคล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้อยู่ในจุดที่มองเห็น หยิบใช้งานได้รวดเร็วที่สุด
  • ไม่ควรรอให้น้ำท่วมอุปกรณ์ต่าง ๆ สารเคมี โดยเฉพาะเครื่องจักร หากสามารถเคลื่อนย้ายได้ ให้นำไปอยู่ในจุดที่ระดับน้ำเข้าถึงยากที่สุด

ตรวจสอบเรื่องของประกัน และการปิดการใช้งานระบบต่าง ๆ ภายในโรงงาน

  • แบ่งทีมตรวจสอบอาคารและบริเวณโดยรอบ ประเมินหรือไล่เช็คดูความเสียหายเบื้องต้นว่าเข้าหลักเกณฑ์ประกันภัยของโรงงานมากน้อยแค่ไหน
  • ควรเช็คให้มั่นใจ ดีที่สุดคือติดต่อไปยังประกันภัยที่ถือครองอยู่โดยตรงว่ามีครอบคลุมเกี่ยวกับอุทกภัย
  • ไม่ควรประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่มีต่ำกว่าความเป็นจริง
  • ศึกษาเตรียมความพร้อมในการปิดระบบต่าง ๆ ภายในโรงงาน อาจสอบถามไปยังบริษัทคู่ค้าเพื่อให้ได้วิธีที่ถูกต้องและปลอดภัยต่ออุปกรณ์ที่สุด
  • เตรียมเก็บสิ่งของที่จำเป็นให้ปลอดภัย ให้จัดเป็นหมวดหมู่แยกสำหรับ “อุทกภัย” โดยเฉพาะ อาทิ เอกสารสำคัญ เครื่องปั่นไฟ วิทยุสื่อสารที่ใช้กระแสตรงได้ อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้อต้น น้ำและอาหารแห้ง
ป้องกันน้ำท่วม

การป้องกันอุทกภัยเบื้องต้นที่ควรรู้

ในเนื้อหาของกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เสนอแนะแนวทางการป้องกันนำ้ท่วมเบื้องต้นที่ผู้เกี่ยวข้องควรตระหนัก จำแนกเป็น 4 แบบด้วยกัน ดังต่อไปนี้

  1. การเคลื่อนย้าย: ย้ายอาคาร (แบบน็อคดาวน์) อุปกรณ์ เครื่องจักร และการยกพื้นที่อาคารให้สูงกว่าระดับน้ำท่วม หากทำได้
  2. การสร้างผนังกั้นน้ำ: สร้างกำแพงกั้นน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้ามาสู่อาคาร หรือหากมีก็ข้อให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
  3. การป้องกันน้ำท่วมแบบแห้ง: เป็นการทำบริเวณผนังแบบปิดกั้นน้ำเต็มรูปแบบ ควรใช้วัตถุดิบที่สามารถกันน้ำซึมลอดเข้ามา และปิดทางที่น้ำจะเข้าสู่ตัวอาคารทั้งหมด
  4. การป้องกันน้ำท่วมแบบเปียก: สำหรับวิธีนี้ควรมีการตรวจสอบ เคลื่อนย้ายอุปกรณ์ที่ปล่อยให้น้ำท่วมได้ ก่อนที่จะเปิดตัวอาคารให้น้ำไหลเข้ามา เช็คเส้นทางที่น้ำจะไหลผ่าน ดูและตัวอาคารและเครื่องมือภายในให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

เรื่องของการแจ้งเตือนก็สำคัญ

เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด เชื่อว่าหากเป็นองค์กรใหญ่น่าจะเน้นย้ำเรื่องการเช็คเกี่ยวกับการแจ้งเตือนเป็นอันดับต้น ๆ และควรรีเช็คอยู่เสมอเพราะอุทกภัยนั้นเป็นสิ่งที่คาดเดาสถานการณ์ได้ยาก เนื่องด้วยตัวแปรที่หลากหลาย ปัจจุบันประเทศไทยนั้นมีการแจ้งเตือนอุทกภัยผ่านทางเว็บไซต์ http://ews1.dwr.go.th/ews/index.php โดยจะแบ่งระดับความรุนแรงตามสี ดังนี้

  • สีเขียว (เฝ้าระวัง): มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความน้ำท่วม ควรเตรียมความพร้อมตามที่ได้ให้คำแนะนำไปในเช็คลิสต์แนวทางด้านบน และตรวจสอบสภาพอากาศบนเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันที่มีความน่าเชื่อถืออยู่เป็นระยะ
  • สีเหลือง (เตือนภัย): กำลังจะเกิดน้ำท่วม จำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมชนิดเร่งด่วน เช็คบริเวณโดยรอบ จัดการตามเช็คลิสต์ที่แนะนำให้เรียบร้อย
  • สีแดง (อันตราย): เกิดน้ำท่วมสูง มีความเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ณ จุดนี้ควรอยู่สถานที่ปลอดภัย และเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการอพยมอยู่เสมอ เช็คเครื่องมือสื่อสารให้พร้อมต่อการช่วยเหลืออยู่ตลอด
ป้องกันน้ำท่วม

อัพเดตมาตรการป้องกันอยู่เสมอ เตรียมตัวให้พร้อม ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน

เรื่องของภัยพิบัติ สาธารณภัยต่าง ๆ ส่วนมากมักเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม แนวทางปฏิบัติในการป้องกันที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญอยู่เสมอ ฉะนั้น หากเป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจในการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ควรมีการอัพเดตมาตรการอยู่ตลอด ปัจจุบันเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องยังคงทำได้ในส่วนของการแจ้งเตือนเท่านั้น 

โรงงานบางแห่งอาจมีการซ้อมรับมือการเคลื่อนย้าย ตลอดจนการปฏิบัติตามแนวทางที่กรมโรงงานได้จัดทำขึ้น ไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ควรทำเต็มที่อยู่เสมอ เพราะเมื่อเกิดเหตุแล้วเราสามารถจัดการได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว ความเสียหายที่เกิดนั้นจะเป็นตัวบ่งบอกว่าเราพร้อมขนาดไหน อย่าปล่อยให้เป็นเพื่อเนื้อหาที่อยู่บนเว็บไซต์ ไฟล์ต่าง ๆ หรือหน้ากระดาษ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจช่วยคุณได้มากกว่าที่คิด..

ขอขอบคุณข้อมูลเอกสารอ้างอิงต่าง ๆ และ แนวทางปฏิบัติในการป้องกันอุทกภัยในโรงงานอุตสาหรกรรม, กรมโรงงานอุตสาหกรรม

https://www.abi.org.uk/globalassets/files/publications/public/flooding/abi-guide-to-resistant-and-resilient-repair-after-a-flood-2019.pdf

http://www.knowyourfloodrisk.co.uk/sites/default/files/FloodGuide_ForCouncils.pdf

แนวทางกอบกู้เครื่องจักร CNC ในเหตุอุทกภัย

อุทกภัย

หลังจากประเทศไทยเจอฤทธิ์ของพายุ “เตี้ยนหมู่” ทำให้เกิดเหตุอุทกภัยขึ้นในหลายจังหวะ แถมคราวนี้ยังหนักข้อจนถึงขั้นที่ว่า “ภาพหลอน” ของมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ฉายขึ้นในหัวหลายต่อหลายคน ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาที่เราจะพูดถึงในวันนี้ โรงกลึงพีวัฒน์ขอร่วมแสดงความเสียใจและเป็นกำลังใจให้ผู้ประสบภัยกับเหตุการณ์ดังกล่าวมา ณ ที่นี่ด้วย

ถึงตอนนี้มีหลายจังหวัดที่โดนเหตุน้ำท่วมเล่นงานแบบหนักหน่วง ส่วนในรายของพื้นที่ที่มีนิคมอุตสาหกรรมอยู่จำนวนไม่น้อย อย่างอยุทธยา ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมได้มีการเตรียมแผนสำรองฉุกเฉินเอาไว้ สำหรับ 3 จุดเสี่ยงใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก ประกอบด้วย “บางหว้า-นครหลวง-บางปะอิน” โดยผู้เกี่ยวข้องมั่นใจว่ากำแพงกั้นน้ำความสูง 5-7 เมตร ที่สร้างเอาไว้จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและคาดว่าจะเกิดในเร็ว ๆ นี้ได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า “ฮอนด้า” ที่เคยโดนเหตุลักษณะนี้เล่นงานสุดอ่วม ได้จัดตั้งมอนิเตอร์ด้วยทีมเฉพาะกิจวัดระดับน้ำกันวันต่อวันเลยทีเดียว

รู้หรือไม่.. หากจัดการทันท่วงที ลดความเสียหายของอุปกรณ์ CNC จากเหตุ “น้ำท่วม” ได้?

หากอุปกรณ์ CNC รวมถึงเครื่องจักรต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยหรือการถูกน้ำท่วม และได้รับการจัดการอย่างถูกต้องอย่างทันท่วงที ก็จะสามารถกู้คืน ลดความเสียหายได้ไม่มากก็น้อย บางอย่างก็เป็นขั้นตอนปฏิบัติพื้นฐานที่ถูกละเลย ซึ่งเนื้อหาต่อไปนี้เป็นวิธีการบางส่วนเกี่ยวกับการรักษาที่เหมาะสมของผู้เชี่ยวชาญที่เคยได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ปัจจุบันตลอดจนอนาคต หากศึกษาไว้รับรองได้เลยว่าเป็นประโยชน์แน่นอน

คำแนะนำการกู้คืนอุปกรณ์ CNC หลังน้ำท่วมลดลง

ก่อนอื่นเลย กรณีที่ถูกน้ำท่วมไปแล้วเรียบร้อย ไม่ควรเปิดอุปกรณ์เผื่อให้น้ำระบายทันที การปล่อยให้น้ำท่วมขังนั้นเป็นการดีกว่า จากนั้นจะมีลำดับขั้นตอนต่อไปนี้

  • ถอดแบตเตอรี่และสายเคเบิล
  • ล้างเครื่อง
  • ทำให้เครื่องแห้ง
  • ตรวจสอบความต้านทานของฉนวน
  • ตรวจสอบการทำงาน (จำเป็นต้องดำเนินการโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ)

ถอดแบตเตอรี่และสายเคเบิล

ทำการถอดสายแบตเตอรี่ออกจากเครื่องและ PCB (แผงวงจร) ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แบตเตอรี่ที่ถูกน้ำท่วมอาจทำให้วงจร PCB เสียหายจากสนิม อาจส่งผลร้ายแรงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ภายหลัง แม้ว่าการถอดแบตเตอรี่จะทำให้ข้อมูล CNC สูญหาย แต่อย่างแรกที่ต้องคำนึงคือการปกป้องฮาร์ดแวร์ที่จะทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้างมากกว่า

คำแนะนำเพิ่มเติมเล็กน้อยก่อนปฏิบัตข้อนี้ ควรจะติดแท็กหรือทำเครื่องหมายเอาไว้สักหน่อย เพื่อที่ว่าตอนประกอบคืนจะได้รวดเร็วและถูกต้องเหมือนเดิม

ล้างเครื่อง

ข้อนี้จำเป็นต้องทำอย่างรวดเร็วที่สุด ความเสียหายจะเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ สามารถทำตามคำแนะนำขั้นตอนด้านล่าง ดังนี้

  1. เครื่อง – น้ำที่ท่วมนั้นมักจะมีสิ่งสกปรกปนเปื้อน รวมถึงคราบน้ำมันต่าง ๆ แนะนำให้ใช้ผงซักฟอกที่หาได้ทั่วไป เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างอเนกประสงค์ ผสมกับน้ำสะอาดแล้วใช้แปรงไนลอนขัด (ไม่ควรใช้แปรงลวด) ทำความสะอาดส่วนนี้ให้ได้มากที่สุด ส่วนตามซอกเล็ก ๆ ของเครื่องใช้แปรงสีฟันได้ และควรใส่ใจกับพวกข้อต่อซ็อกเก็ตต่าง ๆ
  2. รีเลย์ – หากรีเลย์มีน้ำอยู่ภายใน ให้เปิดเคสออกมาแล้วทำความสะอาด ถ้าเปิดเคสไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนสถานเดียว
  3. หม้อแปลงไฟฟ้า – ภายในขดลวดหม้อแปลงเป็นนั้นไม่สามารถทำความสะอาดได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตัวหม้อแปลงด้านนอกและขั้วไฟฟ้าควรเน้นในส่วนนั้นให้มากที่สุด
  4. สายเคเบิล – ตัวเชื่อมต่อของเฮาส์ซิ่งมักจะมีน้ำท่วมขัง ควรถอดขั้วต่อออกเพื่อระบายให้หมด จากนั้นทำความสะอาดและเช็ดให้แห้ง
  5. Servo Motor และ Spindle Motor – ในส่วนนี้ควรให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญเป็นคนจัดการในส่วนของการถอดประกอบและทำความสะอาด สิ่งที่คุณทำได้คือหากเห็นน้ำเข้าไปในฝาครอบของมอเตอร์ สามารถเปิดฝาเพื่อปล่อยน้ำออก ทำความสะอาดรอบ ๆ เช็ดให้แห้งก่อนปิดไว้ตามเดิม
  6. Motor Drive – ใช้วิธีเปิดน้ำไหลผ่านเพื่อทำความสะอาดในจุดนี้ ไม่ควรจุ่มตัวเครื่องเอาไว้ในน้ำระหว่างทำความสะอาดเด็ดขาด

ทำให้เครื่องแห้ง

เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ๆ หากใครที่คลุกคลีอยู่กับอุปกรณ์ใด ๆ ก็ตามที่มีแผงวงจร การจะเปิดใช้งานนั้นจำเป็นต้อง “แห้งสนิท” เท่านั้น 

ซึ่งการปล่อยให้เครื่องแห้งเองด้วยอุณหภูมิห้องจะใช้เวลานานมาก รวมถึงเรื่องความชื้นต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้ความร้อนสูงในการระเหยภายในหม้อแปลงไฟฟ้า “เครื่องอบแห้ง” จะเป็นคีย์แมนสำหรับขั้นตอนนี้หากคุณใช้ความร้อนที่สูงเพียงพอ กล่าวคือจำเป็นต้องรู้และควบคุมอุณหภูมิได้อยู่เสมอ หากมีเครื่องอบแห้งแบบ “สุญญากาศ” จะมีประโยชน์มากเลยทีเดียว ส่วนชิ้นส่วนไหนควรใช้อุณหภูมิเท่าไหร่เป็นสิ่งที่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งก่อนดำเนินการ

กรณีที่ไม่มีเครื่องอบแห้ง สามารถใช้เครื่องเป่าต่าง ๆ ทดแทนได้เช่นกัน อาจกินเวลาเป็นจำนวนวันหรือหลายวัน แต่สามารถทำให้แห้งสนิทได้เช่นกัน

ตรวจสอบความต้านทานของฉนวน

อุปกรณ์สามารถพังได้ทันทีหากละเลยขั้นตอนนี้ ก่อนที่จะติดตั้งเครื่อง ก่อนจะมีการจ่ายไฟ ข้อควรปฏิบัตินี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยคุณสามารถเช็คค่าต่าง ๆ ก่อนวัดความต้านทานของแต่ละส่วนที่ต้องมีการจ่ายไฟจากผู้จำหน่ายหรือช่างผู้ชำนาญการเครื่องเหล่านี้

ตรวจสอบการทำงาน

ขั้นตอนนี้จำเป็นต้องมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ และช่างผู้เกี่ยวข้องการเครื่องจักรเหล่านี้โดยตรงในการทำงานร่วมกัน เนื่องจากอาจมีการซ่อมซอมปรับแต่งด้วย

หากความต้านทานของฉนวนที่วัดในข้อก่อนหน้านี้เพียงพอก็สามารถติดตั้งเครื่อง ยืนยันการเชื่อต่อสายเคเบิลและเดินสายทั้งหมดได้ จากนั้นจ่ายไฟเพื่อยืนยันการทำงาน ในขั้นตอนนี้จำเป็นต้องมีความระมัดระวังอย่างสูง เพราหากมีความชื้นอยู่อาจเกิดการลัดวงจร สิ่งที่ต้องสังเกตให้ดีคือควันทั้งหลาย รวมถึงกลิ่นไม่พึงประสงค์ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นให้ตัดไฟทันที

จากการแนะนำในแต่ละขั้นตอนนั้นจะเห็นว่าเราพูดถึงการมี “วิศวกรผู้ชำนาญการ” อยู่เสมอ ซึ่งจริง ๆ แล้วหากจะเริ่มดำเนินการกู้คืนอุปกรณ์ CNC จากปัญหาอุทกภัยแล้วละก็ แนะนำอย่างยิ่งเลยว่าควรจะมีบุคลากรเหล่านี้ประจำไซต์งานก่อนลงมือในทุกกระบวนการ เพื่อที่ว่าเครื่องจักรของคุณจะสามารถกลับคืนมาอย่างรวดเร็วและปลอดภัยได้มากที่สุดนั่นเอง

กรณีศึกษา “เหตุน้ำท่วม” เตรียมการรับมืออย่างเหมาะสม ลดความเสียหายของอุปกรณ์ CNC ได้จริง?

สำหรับพื้นที่ไหนที่โดนอุทกภัยหนนี้เล่นงานแบบไม่ทันตั้งตัว มวลน้ำมหาศาลจากพายุเตี้ยนหมู่ช่วง 24-26 กันยายนที่ผ่านมาเข้าเยี่ยมเยือนโรงงานอุตสาหกรรมของคุณเป็นที่เรียบร้อย คุณสามารถใช้เนื้อหาวันนี้เพื่อเตรียมตัวสำหรับการ “กอบกู้” บรรดา “ อุปกรณ์ CNC” เบื้องต้น หลังจากเหตุการณ์นี้เบาบางลด น้ำลดระดับอยู่ในจุดที่คุณสามารถดำเนินการได้ เป็นกรณีศึกษาโดยตรงจากรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ครั้งเมื่อโดนพายุเฮอริเคน “เฮอร์วีย์” และ “เออร์มา” กระหน่ำเข้าใส่เป็นบ่อเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ จนเกิดเป็นแนวทางการกู้คืนอุปกรณ์เครื่องจักร CNC ที่เราได้นำแนวทางมาแบ่งปันผ่านเนื้อหาในวันนี้

ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ : https://absolutemachine.com/replace-or-recover-your-cnc-equipment-after-flooding/