เชื่อว่าต่อให้ไม่ใช่คนที่มีรถยนต์หรือใช้รถยนต์เป็นประจำ ก็น่าจะเคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องการ “เจียรจานเบรก” กันมาบ้าง ซึ่งเหตุการณ์ที่ผู้ใช้งานรถจะได้ประสบกับสถานการณ์นี้โดยตรง ส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับการ “เปลี่ยนผ้าเบรก” พูดง่าย ๆ คือหากต้องมีการเปลี่ยนผ้าเบรกเมื่อไหร่ อาจจะต้องมีการเจียรร่วมด้วยบ้าง
และสำหรับคนทั่วไปที่อาจจะไม่ได้ใส่ใจเรื่องงานช่างมากมายนัก ก็อาจจะไม่เข้าใจถึงจุดประสงค์ของการเจียรจานเบรกกัน อาจเลยเถิดถึงขั้นมองว่านี่อาจเป็นหนึ่งในช่องทางที่อู่รถยนต์ชาร์จเงินเพิ่มจากขั้นตอนนี้เสียอย่างนั้นเลย แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่ทำนี้มีเหตุผล แถมยังเป็นสิ่งที่ค่อนข้าง “สำคัญ” ส่วนสำคัญแค่ไหน มีวิธีการทำอย่างไร ติดตามได้ผ่านเนื้อหาด้านล่างนี้เลย
รู้จักจานเบรกรถยนต์ (Rotor)
ขอเกริ่นเรื่อง “จานเบรกรถยนต์” ก่อนสักเล็กน้อย ให้คิดแบบเร็ว ๆ คาดว่าหลายคนน่าจะทราบดีว่านี่เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ของเบรกแน่ ๆ ซึ่งแท้จริงแล้วต้องบอกว่านี่เป็นหนึ่งชิ้นหลักที่เป็นส่วนสำคัญของ “ระบบดิสก์เบรก” ประกอบด้วย
- ลูกสูบ (Piston)
- คาลิปเปอร์ (Caliper)
- ผ้าเบรก (Brake Pads)
- สลักเบรก (Slide Pin)
- จานเบรก (Rotor)
ทุกชิ้นนั้นต่างทำหน้าที่สอดรับกันตามกลไกลของระบบดิสก์เบรก โดยการทำงานของระบบนี้ คาลิปเปอร์ จะถูกแขวนอยู่เหนือตัว จานเบรก ในระหว่างการเบรก น้ำมันจะถ่ายเทแรงดันจากแป้นเบรกไปยังคาลิปเปอร์ จากนั้นจะหนีบผ้าเบรกเข้ากับจาน ส่วนหน้าที่ของจานคือรับแรงเสียดทานของผ้าเบรก ก่อนจะทำให้ยานยนต์นั้นค่อย ๆ ชะลอจนกระทั่งหยุดลง
เจียรจานเบรก คืออะไร ?
การเจียรจานเบรก คือ การปรับสภาพพื้นผิวของจานเบรกให้กลับมาเรียบเสมอกันหมดทั้งใบ เป็นการขจัดเศษเล็ก ๆ ของตัวจานออกโดยใช้เครื่องกลึง ซึ่งวิธีการนี้นอกจากจะช่วยกำจัดเศษชิ้นส่วนที่เกิดจากการกัดกร่อนแล้ว ยังทำให้คราบสกปรกที่เกิดจากชิ้นส่วนผ้าเบรกนั้นหายไปอีกด้วย
ส่วนปัญหาที่ทำให้เราต้องใช้วิธีการนี้ เป็นเพราะความไม่สม่ำเสมอของผิวบนจานเบรกนั้นอาจทำให้เกิดการสั่นสะเทือนยามใช้เบรก ด้วยเหตุนี้เอง การเจียรปรับสภาพพื้นผิวของจานให้มีความเรียบเนียนจึงมีความสำคัญ ก็เพื่อที่จะให้ผ้าเบรกสร้างแรงเสียดทานได้สูงสุด เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ทำให้รถยนต์ของคุณใช้เบรกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
วิธีการ เจียรจานเบรก มีกี่แบบ ?
กระบวนการ “เจียรจานเบรก” ปัจจุบันมีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน ดังนี้
- เจียรแบบประชิดล้อ เป็นการเจียรแบบไม่ต้องถอดจานเบรกออกมา วิธีทำนั้นมีลักษณะตามชื่อเรียกเลย คือ นำเครื่องเจียรเข้ามาวางประชิดกับตัวจานเบรกรถยนต์โดยไม่ต้องถอดจานออกจากซุ้มล้อ มีความสะดวกรวดเร็ว และสามารถปรับความสมดุลของจานได้ที่ตัวของรถเลย
- เจียรแบบใช้เครื่องกลึง เป็นการถอดจานออกมาที่เครื่องกลึง เครื่องเจียร แท่นเจียร แล้วแต่ความถนัดตามเทคนิครวมถึงการเรียกของช่างแต่ละอู่ การทำด้วยวิธีนี้จะต้องถอดจานออกจากล้อมาเพื่อทำบนเครื่อง แม้จะไม่สะดวกเท่าแบบแรก แต่ข้อดีนั้นสามารถปรับมุมองศาของใบมีดเจียรได้อิสระกว่าการเจียรแบบประชิดล้อ
ข้อดีของการเจียรจานเบรก
ไม่ว่าจะเป็นการเจียรด้วยวิธีใดก็ตาม เทคนิคนี้นั้นมีราคาย่อมเยากว่าการเปลี่ยนจานเบรกใหม่พอสมควรแถมยังทำง่ายกว่า อายุการใช้งานของจานเบรกโดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่หลักหลายหมื่นโล หากไม่ได้เจออุบัติเหตุนอกเหนือจากการใช้งานปกติทั่วไป การเจียรจานเบรกราคากลางโดยประมาณอยู่ที่หลักร้อย แต่การเปลี่ยนจานเบรกเลยนั้นอยู่ที่หลักพันขึ้นไป
How to และ เทคนิคการเจียรจานเบรกโดยใช้เครื่องกลึง
วิธีการเทคนิคนั้นมีหลากหลายมาก นอกจากความสะดวกและเทคนิคของช่างแต่ละคน รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่มีในแต่ละอู่ แม้ว่าเครื่องเจียรแบบประชิดล้อจะเริ่มรับได้ความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน แต่การเจียรโดยใช้เครื่องกลึงนั้นก็ยังเป็นเทคนิคหลักที่หลายที่เลือกใช้ เนื่องจากมีความเที่ยงตรงสูง ทำได้รวดเร็ว และปริมาณที่มากกว่าในระยะเวลาที่เท่ากัน สามารถรองรับอู่รถยนต์ที่มีลูกค้าจำนวนมากได้ดี
จะรู้ได้อย่างไรว่าจานเบรกเริ่มมีปัญหา และเมื่อใดที่ควรเจียร ?
วิธีการสังเกตนั้นคุณอาจจะเริ่มรู้สึกได้ถึงการสั่นสะเทือนที่พวงมาลัยหรือแป้นเบรกยามใช้งาน รวมถึงเสียงโลหะแปลก ๆ ที่เกิดขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งสัญญานเตือนด้วยเช่นกัน ส่วนการสั่นสะเทือนของจานนั้นมักจะมาจากสาเหตุหลัก ๆ ดังนี้
- เศษผ้าเบรกเกาะบนจาน ทำให้ผิวจานเริ่มไม่เรียบ
- มีการกัดกร่อนสะสมบนจานเบรกจนเกิดรอยบนพื้นผิวเยอะ
- มีการส่ายไปมาของจานมากเกินไป ทำให้รถมีอาการโยก
- จานเบรกเริ่มมีบางส่วนไม่สม่ำเสมอ
- จานเบรกมีสนิมเกาะ (ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป)
สำหรับระยะเวลาของการสึกหรอของจานเบรกขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ประเภทของผ้าเบรกที่เลือกใช้ สไตล์การขับขี่ น้ำหนักรถ ตลอดจนภูมิประเทศและสภาพแวดล้อม ทั้งหมดนี้มีส่วนที่จะทำให้จานเบรกนั้นค่อย ๆ เสื่อมประสิทธิภาพได้ทั้งหมด
โดยทั่วไปแล้วจานเบรกเดิมที่ติดมากับรถยนต์ส่วนใหญ่จะได้รับการออกแบบให้มีความหนาเพียงพอต่อการเปลี่ยนผ้าเบรกอย่างน้อย “สองครั้ง” แต่ปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะรุ่นใหม่ ๆ มักจะถูกดีไซน์ให้จานนั้นมีขนาดบางลงเพื่อลดน้ำหนักของตัวรถ ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับรถปีใหม่ เนื่องจากไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องจานเบรกสึกก่อนที่ผ้าเบรกจะหมด
อย่างไรก็ตาม ต่อให้เป็นจานเบรกแบบรถยนต์ปีเก่า หรือรถยนต์ปีใหม่ที่เริ่มใช้จานเบรกขนาดบางลง จะเป็นแบบไหนก็สามารถใช้เทคนิคการเจียรเบรกด้วยเครื่องกลึง และการเจียรประชิดเพื่อยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ชิ้นนี้ออกไปได้เหมือนกัน เพราะการเปลี่ยนจานต่อครั้งมีค่าใช้จ่ายพอ ๆ กับการเจียรจานเบรกรวมกับการเปลี่ยนผ้าเบรกใหม่เลยทีเดียว!
Cover Image by : Image by senivpetro on Freepik